“โอกาสจากสังคม” ต้นทุนคนพิการ
หลังพบส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนสูง
เมื่อเวลาไม่เคยหยุดหมุน ชีวิตของคนเราเองก็เช่นกัน ที่ต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้าไม่อาจหยุดเดินได้ แม้แต่คนที่มีร่างกายไม่ครบสมบูรณ์ทั้ง 32 ประการ ที่สังคมเรียกเขาเหล่านี้ว่า อย่าง “คนพิการ” เขาเองก็ต้องก้าวเดินสู้ต่อไปข้างหน้า “ดังเข็มนาฬิกาที่ต้องเก็บสะสมทุกวินาทีเพื่อให้ครบ 1 นาที เก็บสะสมทุกนาทีเพื่อให้ครบ 1 ชั่วโมง เก็บสะสมทุก 1 ชั่วโมงเพื่อให้ครบ 1 วัน และคงต้องเก็บสะสมแบบนี้ไปทุกๆ วันเพื่อให้ครบ 1 ชีวิต” หากเข็มวินาทีหยุดเดินนั่นก็เท่ากับว่า 1 ชีวิตก็จะขาดหายไป
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนประชากรทั้งสิ้นมากถึง 67 ล้านกว่าคน แบ่งเป็นชายประมาณ 33 ล้านคน และหญิง 34 ล้านคน ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 บ่งบอกว่า ประเทศไทยเรานั้นมี คนพิการ มากถึง 1.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.9 ต่างจากปี 2544 ที่มีอยู่ 1.1 ล้านคน และจะพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยจำแนกเป็นชาย 0.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.7 และเป็นหญิงสูงถึง 1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.02 ซึ่งมองดูแล้วถือเป็นจำนวนที่สูงอยู่มาก
ซึ่งคนพิการเหล่านั้น คงต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้าในทุกๆ วินาที แต่ย่อมจะยากเย็นกว่าคนปกติทั่วไปหลายเท่า…แต่เขาเหล่านี้ก็ต้องสู้ สู้ต่อไปตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่….
จากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ฉบับอ้างอิง ได้แบ่งประเภทคนพิการไว้ 6 ประเภท ได้แก่ 1.ความพิการทางการเห็น 2.ความพิการทางการได้ยิน 3.ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย 4.ความพิการทางจิตใจ 5.ความพิการทางสติปัญญา และ 6.ความพิการทางการเรียนรู้
แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้กำหนดลักษณะ“คนพิการ” ออกดังนี้
1.คนพิการที่มีความลำบากหรือปัญหาในการทำกิจกรรม ส่วนใหญ่มีความลำบากหรือปัญหาในการเดินขึ้นบันได การมองเห็น การเดินทางราบระยะ 50 เมตร การนั่งยอง ๆ และมีความเจ็บปวดตามร่างกาย ซึ่งปัจจุบันมีสูงถึง 1.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.9 ของประชากรพิการทั้งหมด
2.คนพิการที่มีความลำบากในการดูแลตนเอง ซึ่งมีจำนวน 3.9 แสนคน หรือร้อยละ 92.3 คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีความลำบากในการขับถ่าย รวมทั้ง การทำความสะอาดหลังการขับถ่าย รองลงมาคือ การแต่งตัวร้อยละ 82.5 การอาบน้ำร้อยละ 82.1 การล้างหน้าแปรงฟัน ร้อยละ 65.8 และมีความลำบากในการกินอาหารร้อยละ 59.0
และ 3.คนพิการที่มีความบกพร่องของร่างกาย จิตใจหรือสติปัญญานั้น จะมีความบกพร่อง 5 ลำดับแรก ได้แก่ ความบกพร่องทางสายตาโดยมองเห็นอย่างเลือนรางทั้ง 2 ข้าง เลือนรางข้างเดียว หูตึง 2 ข้าง อัมพฤกษ์ และแขนขาลีบ/เหยียดงอไม่ได้ ปรากฏว่าประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 1.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 70.5 จากคนพิการทั้งหมด และเห็นได้ว่า…คนพิการที่มีปัญหาทางสายตาและแขนขาลีบนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจากปี 45 มีเพียง 1.1 ล้านคนเท่านั้น ต่างจากลักษณะอื่นๆ ที่กำลังลดลงเล็กน้อย
แต่ที่น่าจับตามองคือ!!! คนพิการส่วนใหญ่เริ่มมีความพิการตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยมีอยู่ถึงร้อยละ 43.1 เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาการดูแลตนเองตามวัยที่สูงขึ้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวถือเป็นลักษณะความพิการอย่างหนึ่ง รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 25-59 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน ร้อยละ 31.3 และอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มคนที่พิการตั้งแต่กำเนิดหรือพิการก่อนอายุ 1 ปี ซึ่งมีร้อยละ 12.8
เมื่อมองถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการนั้น พบว่าส่วนใหญ่เนื่องมาจากความชราภาพ ถึงร้อยละ 39.1 พิการจากโรคภัยไข้เจ็บ ร้อยละ 36.2 และพิการจากอุบัติเหตุ ร้อยละ 14.6
เมื่อพิจารณาถึงความพิการที่เกิดจากอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย อุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน ร้อยละ 6.9 อุบัติเหตุจากการจราจรทางบก ร้อยละ 5.8 และอุบัติเหตุจากการเล่นหรือการจราจรทางน้ำ รวมทั้งจากการระเบิด ร้อยละ 1.9 นอกจากนี้ยังพบว่า มีคนพิการจากการถูกยิงหรือถูกทำร้าย ร้อยละ 0.7
ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น… ยังมีคนพิการถึงร้อยละ 20.8 ที่ยังต้องการใช้เครื่องช่วยอำนวยความสะดวก แต่ยังไม่มี อีกทั้งในจำนวนคนพิการที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 24.3 ที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา และคนพิการในวัยแรงงานที่ไม่มีงานทำ อีกถึงร้อยละ 46.7
…มาจนถึงตอนนี้ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่า “คงไม่มีใครอยากเกิดหรือประสบเหตุจนทำให้กลายเป็น “คนพิการ” อย่างแน่นอน” แต่เมื่อชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐและเอกชนที่มีกำลังพอในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะให้กับคนพิการ ถือเป็นการลงทุนทางสังคมที่มีผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่จำต้องติดตามมา ทั้งยังเป็นการช่วยชาติพัฒนาสังคมทางหนึ่งอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือในการจัดทำสาธารณูปโภคเพื่อคนพิการเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำสาธารณะหรือทางเดินเท้าสำหรับคนพิการ และยังรวมไปถึง ลิฟต์ โทรศัพท์ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้สามารถดำรงชีวิต หรือประกอบอาชีพได้เป็นปกติสุขโดยไม่กลายเป็นภาระใดๆ ของสังคมต่อครอบครัว ทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้พิการหรือทุพพลภาพให้เป็นบุคลากรที่มีค่า จะช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นอกเหนือจากหน่วยงานต่างๆ ที่ออกมาทำโน้น นั่น นี่ เพื่อให้ผู้พิการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้สะดวกขึ้นแล้ว หน่วยงานที่ทำงานรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะของสังคมอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เอง ก็ไม่อาจละเลยหรือมองข้ามที่จะเข้าไปมีส่วนสนับสนุนให้เขาเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงได้เกิด “แผนสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย” ภายใต้การดูแลของ สสส. เข้าทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทน สร้างความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคมเกี่ยวกับคนพิการจาก “ความเป็นภาระ” ให้กลายเป็น “ทุนทางสังคม” รวมทั้ง สร้างการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ให้กับคนพิการมากขึ้น
หากผู้พิการ หรือญาติพี่น้อง หรือคนทั่วไป พบเห็นคนพิการแล้วมีจิตคิดช่วยเหลือ สามารถติดต่อเข้ามาหาแผนงานนี้ได้ที่ ชั้น 2 ตึกพัฒนาวิชาการ ศูนย์สิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทร. 0-2951-0830, 0-2951-0735 เพื่อขอคำแนะนำ ช่วยเหลือ หรือปฏิบัติกับเขาเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป…
แต่ที่สำคัญที่สุด “คนในสังคม” เอง…จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับ “คนพิการ” เพื่อเขาจะได้อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและสมศักดิ์ศรีต่อไป…
เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th
Update: 09-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่