โลจิสติกส์ไทยไต่บันไดสู่ AEC
การก้าวเข้าสู่การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียน ภายใต้เงื่อนไขเขตการค้าเสรี หรือ aec ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 เป็นแรงผลักดันให้ประเทศต่างๆ ต้องเริ่มหันมาปรับตัว และเตรียมความพร้อมเพื่อรับกลไกทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่
และเช่นเดียวกัน ประเทศไทย ซึ่งแม้จะเป็นประเทศที่มีระดับความเจริญทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในด้านอื่นๆ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านสภาพแวดล้อม และตลาดแรงงาน ก็ถือเป็นอีกมุมหนึ่งที่ทั้งผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมชาติอื่นๆ
กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ หรือการจัดการการขนส่ง ถือเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่มีการตื่นตัวเป็นอย่างมากกับนโยบายการเปิดการค้าเสรี หรือ aec ที่กำลังจะมาถึง เพราะธุรกิจโลจิสติกส์ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ในการค้าขาย และติดต่อระหว่างกัน เมื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก้าวเข้าสู่ยุคการค้าไร้พรมแดน ผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ จะต้องพร้อมทั้งในด้านการวางรากฐานบุคคลากร ระบบ และที่สำคัญ ด้านภาษา ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเมื่อต้องทำการค้ากับต่างชาติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ภาษาในการสื่อสารของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จึงร่วมมือกับสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย เปิดมิติใหม่ของการเสริมสร้างองค์กรสุขภาวะสำหรับบุคลากรโลจิสติกส์ทางบกหรือพนักงานขับรถบรรทุก ด้วยการจัดทำเครื่องมือแปลภาษา application “happy talk”
โดยแอพพลิเคชันตัวนี้ จะเป็นเครื่องมือแปลภาษาบนสมาร์ทโฟนซึ่งสามารถใช้งานได้กับระบบปฏิบัติการแบบแอนดรอยด์ แปลภาษาต่างๆ ได้ถึง 10 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และสิงคโปร์ โดยเน้นคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อช่วยลดอุปสรรคด้านการติดต่อสื่อสาร
นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า โปรแกรม “happy talk” จะมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรด้านโลจิสติกส์ พนักงานขับรถบรรทุก ให้มีทักษะด้านภาษาควบคู่กับทักษะในการขับรถบรรทุก ซึ่งหากพนักงานสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดี จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นลดข้อผิดพลาด และในระยะยาว จะช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และเศรษฐกิจของไทยได้อย่างมั่นคง
ขณะที่ นายธง คั้งศีตระกูล รองประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยกล่าวว่า วันนี้ การจัดการด้านการบริหารบุคคลากรในธุรกิจโลจิสติกส์ถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และราบรื่น นอกจากนั้น ฐานของธุรกิจโลจิสติกส์ที่แข็งแรง จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยในเวทีอาเซียนด้วย
“ปัจจุบันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีผู้ประกอบการกว่า 10,000 รายรวมแรงงานกว่า 5 ล้านคน หรือร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ เป็นพนักงานขับรถกว่า 2 ล้านคน ในส่วนของสมาชิกสมาพันธ์โลจิสติกส์มีประมาณ 10 สมาคม ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้” นายธง กล่าว
การจัดทำ application “happy talk” ถือเป็นการจุดประกายให้ผู้ประการนำไปเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดด้านการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความเข้าใจในการทำงาน และทาง สสส. เปิดเผยว่าหากแอพพลิเคชันนี้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ในอนาคตอาจมีการขยายแอพพลิเคชันแปลภาษาลงไปในภาคธุรกิจอื่นที่จะต้องมีการติดต่อกับลูกค้าชาวต่างชาติ อย่างเช่น ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นต้น
จนกว่าจะถึงปี 2558 ประเทศไทยยังคงมีอีกหลายมิติที่ต้องปรับปรุง และพัฒนา เพื่อความพร้อมก่อนการเปิดประตูบ้านต้อนรับ aec
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ