โลกน่าอยู่ของเด็กไทยในทศวรรษหน้า
เพื่ออนาคตเยาวชนของชาติ
“คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม” คือคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2553 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบให้แก่เด็กไทยทุกคน เพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจแลระเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน สู่การเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในวันข้างหน้า
“เด็ก” จึงเป็นอนาคตของชาติที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ต่างก็ฝาก “ความคาดหวัง” ไว้ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้น การแข่งขันและเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรุดหน้าขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่เลี้ยงลูกด้วยเงินทองและเร่งรัดบังคับด้านการเรียน โดยลืมการสร้างปัญญานอกหลักสูตร หรือภูมิปัญญาวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งจะทำให้เกิดต้นทุนชีวิตต่างๆที่จะเป็นภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม เพื่อให้เด็กไทยดำรงชีพในทศวรรษต่อไปได้อย่างมีความสุข
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน(เด็กพลัส)สำนักงานเสริมสุขภาพ(สสส.)และทีมงาน จึงได้ทำการสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กไทยทั่วทุกภาคทั้งประเทศในปี 2552 และนำข้อมูลที่ได้จากการฟังเสียงเด็กๆ ประเมินตนเองและสิ่งแวดล้อมผ่านแบบสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กไทยทุกภาคทั่วประเทศพบว่าในยุคทศวรรษหน้ากำลังจะมาถึงที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสื่อสารวัตถุนิยมประกอบกับพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยเงินทองและการเร่งรัดบังคับด้านการเรียนนั้นเด็กไทยยุคใหม่จำเป็นต้องมีต้นทุนชีวิต 10 ประการสำคัญที่จะทำให้ดำรงชีพได้ในยุคโลกาภิวัตน์
โดยต้นทุนชีวิต 10 ประการสำคัญ ได้แก่ (1)ทักษะการเป็นผู้ให้ รู้จักแบ่งปัน (2)การร่วมกิจกรรมศาสนาเพื่อนำมาเป็นวิถีชีวิตมากกว่าการประกอบพิธีกรรม (3)การร่วมกิจกรรมกีฬา ดนตรี ชมรม ชุมนุม ศิลปะ ร้องเพลง (4)รักการอ่านหนังสือ (5)ปิยวาจาในชุมชน (6ความอบอุ่นปลอดภัยในโรงเรียน (7)การให้ความเท่าเทียมในสังคม (8)การรักษาความซื่อสัตย์ (9)การได้รับการดูแลอย่างสร้างสรรค์แบบวินัยเชิงบวก (10)ทักษะชีวิตที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในสังคมของเด็กๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ทักษะการควบคุมอารมณ์ ทักษะการปฏิเสะ ทักษะในการวางแผนก่อนลงมือทำเสมอ ทักษะในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีการเปิดโอกาสให้กล้าเสนอข้อคิดเห็น
ข้อมูลดังกล่าวทำให้สรุปสิ่งที่เด็กต้องการ เพื่อให้บ้านน่าอยู่ โรงเรียนน่าอยู่ และชุมชนน่าอยู่ไปด้วย โดย “บ้านน่าอยู่สำหรับเด็กไทย” คือการได้รับความช่วยเหลือและ การสนับสนุนที่ดี และติดตามการกระทำด้วยความรัก ความเมตตา และใกล้ชิด มีปิยวาจา มีแบบอย่างที่ดีให้ปฏิบัติตามได้มีการเลี้ยงดูแบบสร้างสรรค์หัวใจประชาธิปไตย การเป็นผู้ฟังให้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น มีการฝึกฝนทักษะชีวิตสมาชิกในครอบครัว เช่น การปฏิเสธ การวางแผน การตกลงกัน การแสดงออก
สำหรับ “โรงเรียนน่าอยู่สำหรับเด็กไทย” คือการมีกิจกรรม ชมรมชุมนุมต่างๆ ให้เลือกอย่างสมัครใจ ครูควรมีจิตวิญญาณความเป็นครูที่พร้อมให้ความช่วยเหลือด้วยความรัก เมตตา มีความอบอุ่น ปลอดภัย เมื่อเข้ามาในโรงเรียน มีกฎเกณฑ์กติกาที่เหมาะสม และมีส่วนร่วมจากสมาชิกทุกฝ่าย เปิดรั้วโรงเรียนโดยดึงเอาครอบครัว ศาสนา และชุมชน ให้มามีส่วนร่วมกับเด็กๆ ทั้งในและนอกโรงเรียน
ส่วน “ชุมชน/เมืองน่าอยู่สำหรับเด็กไทย” ควรมีกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กได้ร่วมหลากหลาย มีปิยวาจา การทักทาย อัธยาศัยที่ดี มีผู้คนที่เป็นแบบอย่างที่ดีด้านต่างๆ มีการเฝ้าระวัง เพื่อสร้างความอบอุ่นปลอดภัยแก่สมาชิกและทมีกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวทุกระดับ รวมทั้งกิจกรรมทางศาสนาทุกศาสนา
เมื่อทราบถึงต้นทุนชีวิตที่สำคัญสำหรับเด็กไทยแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่ผู้ใหญ่ทุกคนจะหันมาใส่ใจเด็กเพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างมีศักยภาพและมีความสุขมิใช่เพียงแค่วันนี้ หากแต่ในทศวรรษหน้า หรือไม่ว่าอีกกี่ปีข้างหน้า เด็กไทยก็จะมีภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลดีต่อประเทศชาติที่จะเกิดการพัฒนาทั้งทางวัตถุและจริยธรรมสืบไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
Update : 22-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์