โรงเรียน "โภชนาการต้นแบบ"

ที่มา : มติชน


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


โรงเรียน 'โภชนาการต้นแบบ' thaihealth


พ่อแม่ทุกคนย่อมมีความคาดหวังสูงที่จะให้ลูกเรียนหนังสือเก่ง แต่จะมีพ่อแม่สักกี่คนที่ตระหนักถึงภาวะโภชนาการของลูกที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ เด็กที่พร่องสารอาหารหรือมีภาวะทุพโภชนาการ นอกจากจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายที่ต่ำกว่าเกณฑ์แล้ว ยังมีผลให้การพัฒนาสมองและสติปัญญาของเด็กด้อยกว่าปกติ อันส่งผลถึงไอคิวต่ำ


อาหารมีบทบาทสำคัญต่อภาวะโภชนาการของเด็ก เพราะเป็นวัยที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอาหารในโรงเรียน ซึ่งไม่เฉพาะอาหารกลางวัน แต่รวมไปถึงอาหารว่าง น้ำดื่ม และนม ทั้งในและรอบรั้วโรงเรียน โดยเฉพาะอาหารมื้อกลางวัน


รัฐบาลเห็นความสำคัญจัดสรรงบประมาณวันละ 20 บาท ต่อเด็กวัยเรียน 1 คน และให้จัดอาหารมีคุณภาพด้านโภชนาการและความปลอดภัย


โรงเรียน 'โภชนาการต้นแบบ' thaihealth


เวลานี้ กรมอนามัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พัฒนาโรงเรียนต้นแบบด้านอาหารและโภชนาการไม่น้อยกว่า 1,000 แห่ง เช่น โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนโภชนาการสมวัย และโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส ซึ่งพบว่า เด็กทุกคนต้องได้รับอาหารมื้อกลางวันที่ถูกหลักโภชนาการและปลอดภัย ครบ 5 หมู่ เน้นให้มีผักทุกเมนู รสชาติต้องไม่หวาน มัน เค็ม ให้เด็กได้กินไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ฟอง และใช้ผลไม้เป็นอาหารว่าง แทนขนมหวานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน


สำหรับอาหารว่างระหว่างมื้อ ได้ฝึกให้เด็กกินผลไม้และขนมไทยหวานน้อย โดยเฉพาะขนมที่ทำจากถั่วเมล็ดแห้ง พร้อมกับรณรงค์ให้ทุกโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ขนมหวานจัด เพราะจากการวิจัยพบว่า โรงเรียนที่จำหน่ายน้ำอัดลมและน้ำหวานจะมีเด็กเป็นเบาหวาน 2-3 เท่าของโรงเรียนที่ไม่จำหน่าย ดังนั้น จึงส่งเสริมให้เด็กดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด สำหรับนมโรงเรียนเป็นนมรสจืด แต่มีเด็กจำนวนหนึ่งยังติดดื่มนมปรุงแต่งรสหวาน จึงต้องรณรงค์ให้พ่อแม่ฝึกให้ลูกกินนมรสจืดที่บ้านด้วย


โรงเรียน 'โภชนาการต้นแบบ' thaihealth


โรงเรียนโภชนาการต้นแบบ ยังได้พัฒนาพฤติกรรมโภชนาการที่พึงประสงค์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ บูรณาการการสอนโภชนาการเข้าไปใน 8 กลุ่มสาระเรียนรู้ จัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคู่กับการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกาย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


นอกจากนี้ ส่งเสริมการเกษตรในโรงเรียน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกให้เด็กเป็นยุวเกษตรกร รับรู้ที่มาและตระหนักเห็นคุณค่าของอาหาร เกิดกิจกรรมทางกาย และนำมาปรุงและประกอบอาหารกลางวัน ที่สำคัญจะทำให้เด็กกินผักมากขึ้น ล่าสุดได้ส่งเสริมให้ชุมชนรอบโรงเรียนทำการเกษตรปลอดภัย เพื่อนำผลผลิตป้อนสู่โรงเรียน ให้เด็กได้กินอาหารที่ปลอดภัย


สุดท้าย สร้างเสริมพฤติกรรมทางโภชนาการที่พึงประสงค์ในเด็ก ลำพังส่งเสริมที่โรงเรียนด้วยอาหารมื้อกลางวันเพียง 1 มื้อ หรือเพียงครูบอกสอนอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะใน 5 วัน เด็กต้องกินอาหารมื้อเช้าและเย็น และเสาร์-อาทิตย์ ปิดเทอมที่บ้าน ดังนั้นจึงต้องรณรงค์ให้พ่อแม่และสมาชิกในบ้านมีบทบาทในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กด้วย


โรงเรียน 'โภชนาการต้นแบบ' thaihealth


การเฝ้าระวังและติดตามภาวะโภชนาการเด็กก็เป็นกิจกรรมที่ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติ เพียงชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง แปรผลภาวะโภชนาการเด็ก เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการในโรงเรียน ทั้งพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวัน และอาหารว่างรวมทั้งมีกิจกรรมทางกายในเด็กแต่ละคน ที่สำคัญต้องนำภาวะโภชนาการของเด็กแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบ เพื่อช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมโภชนาการที่พึงประสงค์ นอกจากนี้ จะต้องรายงานผลภาวะโภชนาการเด็กให้คณะกรรมการสถานการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับรู้ เพื่อนำข้อมูลไปวางแผนแก้ไขปัญหาในระดับชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาตำบล


ขณะนี้โรงเรียนโภชนาการต้นแบบยังอยู่ในพื้นที่นำร่อง ถ้าจะต้องขยายรูปแบบนี้ให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนทั่วประเทศ จำเป็นต้องศึกษา หารูปแบบ เพื่อวางแผนขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายระดับชาติอย่างจริงจัง

Shares:
QR Code :
QR Code