โรงเรียนเติมฝันของคนทำนา ‘ตำบลศิลาเพชร’

ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สังคมชาวนายังคงอยู่และทำหน้าที่การผลิตข้าว เป็นอาหาร เป็นสินค้าส่งออกของไทยแม้จะต้องเผชิญปัญหาทั้งด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ขายข้าวไม่ได้ราคา หรือแม้กระทั่งปัญหาภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย แต่ความเหนียวแน่นของชาวนากับแปลงนาที่หวงแหนยังอยู่เช่นเดิม  

“ข้าว” ถือว่ามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ เป็นทั้งอาหารหลักและพืชเศรษฐกิจ และยังเป็นแหล่งสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวนาจำนวนมาก นอกเหนือไปกว่านั้นข้าวยังเป็นแหล่งกำเนิดทางวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยมาอย่างยาวนาน ข้าวจึงเปรียบเสมือนเป็นพืชคู่บ้านคู่เมืองของคนไทย และชาวนาก็เปรียบดังกระดูกสันหลังของชาติ

“เพื่อเป็นการสืบทอดอาชีพอันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ “ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนชาวนา” ตำบลศิลาเพชร  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน  จึงได้เกิดขึ้นในปี 2553 เพื่อทำหน้าที่สืบสานอาชีพ พิธีกรรมและวัฒนธรรมการทำนา อย่างยั่งยืนด้วยการเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แก่นักเรียน ชุมชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป” 

โดยผู้ใหญ่สนิท  ปัญญาวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชาวนา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้โรงเรียนชาวนา   โดยยึดหลักแนวคิดในการเปิดให้มีการเรียนการสอนเชิงปฏิบัติการ  ในเรื่องการปลูกข้าวอินทรีย์  การผลิตผักปลอดสารพิษให้แก่กลุ่มนักเรียน  เยาวชน  และบุคคลทั่วไปที่สนใจ  โดยดำเนินการสอนตามขั้นตอนของการทำนาข้าวของชาวนาในท้องถิ่นตำบลศิลาเพชร  เรียนรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นตามวิถีของชุมชน

ผู้ใหญ่สนิท  ปัญญาวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชาวนา วัย 53 ปี  เล่าให้ฟังว่า  อาชีพการทำนามีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก เพราะการทำนาปลูกข้าวของชาวนาไทยเป็นทั้งวิถีชีวิต ทั้งวัฒนธรรม จิตวิญญาณและยังเป็นความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการปลูกข้าวอย่างมากด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีความห่วงใยในเรื่องข้าวและชาวนาไทยมาโดยตลอด   อีกทั้งตนต้องการให้ถ่ายทอดองค์ความรู้การทำนาของบรรพบุรุษ  เกิดการเรียนรู้เป็นขั้นเป็นตอนสู่เยาวชน  เอื้อให้เยาวชนก่อเกิดความผูกพันรักแผ่นดินเกิด  เกิดเจตคติที่ดีต่ออาชีพทำนา  และประยุกต์องค์ความรู้ให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันหันมาปลูกข้าวเพื่อชีวิต  และการพลิกฟื้นฟูดินเพื่ออนุรักษ์ดินและสิ่งแวดล้อม  ปลูกผักที่ปลอดภัยเพื่อสุขภาพ  ปลอดสารเคมี  ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

โรงเรียนชาวนาบ้านนาคำ เน้นให้เยาวชนรู้จักการดำเนินชีวิตแบบพอประมาณ อย่างมีความสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสืบทอดวัฒนธรรม อาชีพ ประเพณีและภูมิปัญญาของท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย   โดยได้รับความร่วมมือจากครูโรงเรียน ศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์นำนักเรียน ระดับชั้น ม.5 – ม.6 มาเรียนรู้การทำนาทุกวันอังคาร และวันพฤหัส ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ในพื้นที่ของโรงเรียนชาวนา

ซึ่ง “เป้าหมายสูงสุดของการจัดตั้งโรงเรียนชาวนาบ้านนาคำ คือ ต้องการปลูกฝังทัศนคติของเยาวชนให้มีความรู้สึกรักชาวนา รักข้าว ภาคภูมิใจในอาชีพการทำนา และเห็นคุณค่าของข้าวแต่เมล็ด นอกเหนือสิ่งอื่นใดคือต้องการจะเพิ่มความรู้และประสบการณ์เรื่องของข้าวให้คนไทยทั้งชาติได้ทราบว่าการปลูกข้าววิธีการที่ถูกต้องทำอย่างไร มีความยากลำบากอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เยาวชนทั้งหลายที่จะกลายเป็นยุวชาวนาในอนาคต มีทัศนคติที่ดีต่อชาวนา ต่อข้าวของประเทศไทย และสืบทอดอาชีพการทำนาของบรรพบุรุษสืบไป”

ผู้ใหญ่สนิท เปิดเผยว่าหลักสูตรของโรงเรียนชาวนาที่นักเรียนได้เรียนรู้ จะมีตั้งแต่การคัดพันธุ์  การเตรียมดิน เพาะกล้า  การปักดำนา ประเพณีวัฒนธรรมประเพณีหลังทำนา   พิธีกรรมสู่ขวัญควายพิธีกรรมสืบชะตาข้าวการศึกษาพฤกษศาสตร์ข้าวในนาการเจริญของต้นข้าว  ระบบนิเวศในแปลงนา ตรวจสอบเกี่ยวกับโรคข้าว แมลงศัตรูข้าว สัตว์ศัตรูข้าว ศัตรูธรรมชาติ วัชพืชในนาข้าว และประโยชน์จากสัตว์ศัตรูข้าว   ตลอดจนในช่วงการเก็บเกี่ยวข้าว   การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว สำรวจตรวจสอบ จะมีการอธิบายขั้นตอนการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว การตรวจสอบข้าวปน  และ  การเก็บเมล็ดพันธุ์

“สิ่งที่ชาวนาต้องการคือ ความรู้ เพื่อเติมเต็มในสิ่งที่เขาขาด โดยเฉพาะองค์ความรู้ในเรื่องของการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เพื่อให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะการมีเมล็ดพันธุ์ที่ดี ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรเอง หากเกิดน้ำท่วมเขาอาจจะเลือกพันธุ์ข้าวที่ทนน้ำปลูก หรือ หากมีปัญหาภัยแล้งก็มีทางเลือกที่จะใช้พันธุ์ข้าวที่ทนแล้งได้”  ผู้ใหญ่สนิทกล่าว

ปัจจุบัน โรงเรียนชาวนาแห่งนี้  ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน อาทิ พื้นที่ทำนา พื้นที่ปลูกผักสวนครัว พื้นที่บ่อเลี้ยงปลา พื้นที่สร้างที่อยู่อาศัย นี่คือวิถีข้าว วิถีพอเพียงด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ ผสมผสานระหว่างวิชาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การเกษตร ฟิสิกส์ และคุณธรรมจริยธรรมเริ่มต้นด้วยการสู่ขวัญข้าวและสู่ขวัญควายที่ทำพิธีโดยปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว และเป็นการเตือนสติให้คนมีความกตัญญูกตเวทีรำลึกถึงบุญคุณของผู้ที่ได้ช่วยเหลือคน อย่างเช่น ควายที่ใช้ไถนา

กล่าวได้ว่าการดำเนินงานโรงเรียนชาวนาของตำบลศิลาเพชรได้มุ่งหวังให้ชาวนาได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเมล็ดพันธุ์ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และถือเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงในการทำนา   ดังนั้นนักเรียน  เยาวชนและประชาชนทั่วไป  ที่จบหลักสูตรจะทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรในชุมชน เพื่อให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีไว้ใช้เอง ลดการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าเพื่อประโยชน์กับชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวนาได้ต่อไปในอนาคต

แม้ตำบลศิลาเพชร  อำเภอปัว  จังหวัดน่านจะเข้าร่วมโครงการวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลน่าอยู่กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ไม่นาน  แต่ก็สามารถมองเห็นความพยายามในการก่อร่างสร้างตัวของความเป็นตำบลสุขภาวะที่ค่อยๆ  มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

ขอบคุณภาพจาก แฟนเพจโรงเรียนชาวนาตำบลศิลาเพชร

Shares:
QR Code :
QR Code