‘โรงเรียนผู้สูงอายุ’ เปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่ง เป็นพลังทางสังคม

ที่มา : ไทยโพสต์ 


'โรงเรียนผู้สูงอายุ' เปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่ง เป็นพลังทางสังคม thaihealth


แฟ้มภาพ


ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และมีอัตราการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และในปี 2583 คาดว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว เมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในทุกปี นั่นหมายถึงความต้องการการดูแลในระยะยาวที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย


จึงต้องมีการพัฒนาหรือเสริมศักยภาพให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตปัญญา สังคม จิตวิญญาณ การมีความร่วมมือ และความมั่นคง โดยเปลี่ยน "ภาระ" ให้เป็น "พลัง" ด้วยวิธีการ "เรียนรู้ตลอดชีวิต" ภายใต้ความเชื่อที่ว่า มนุษย์มีการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา โดยการพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินการได้หลายวิธีการ หนึ่งในนั้นคือ "โรงเรียนผู้สูงอายุ"


'โรงเรียนผู้สูงอายุ' เปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่ง เป็นพลังทางสังคม thaihealth


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : โรงเรียนผู้สูงอายุและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ โดย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม และกล่าวปาฐกถา "นโยบายพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ" มีแกนนำผู้สูงอายุ ผู้รับผิดชอบโรงเรียนผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และพื้นที่ที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ 55 ชุมชน กว่า 200 คน ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับ "โรงเรียนผู้สูงอายุ" ที่อยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 1,100 แห่ง เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพแกนนำผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีพื้นที่ทำกิจกรรม เกิดการพึ่งพาตนเอง สามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพได้ ที่สำคัญคือช่วยลดภาวะการ กลายเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง รวมถึงลดภาระการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวด้วย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการ เพื่อรองรับสถานการณ์สังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความร่วมแรงร่วมใจจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ทั้งในส่วนของกรมกิจการผู้สูงอายุ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.),  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สสส. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิด "โรงเรียนผู้สูงอายุ" ในพื้นที่ต่างๆ  2,600 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 3 ปี และได้สั่งการให้มีการทบทวนแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของผู้สูงอายุ และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะเป็นการปรับแผนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้สูงอายุ โดยเร็วๆ นี้ตนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ  พม. ร่วมหารือและกำหนดเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุร่วมกัน


'โรงเรียนผู้สูงอายุ' เปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่ง เป็นพลังทางสังคม thaihealth


นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการเร่งจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2565-2585) เนื่องจากแผนฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) จะสิ้นสุดลงในปี 2564 โดยสิ่งที่ต้องบรรจุอยู่ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จะเน้น 3 เรื่องหลัก คือ 1.ความปลอดภัยมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน 2.การดูแลสุขภาพร่างกาย และ 3.เศรษฐกิจและ    ความมั่งคงด้านรายได้ของผู้สูงอายุ


ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในปี 2559 มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ.2557 พบว่ากว่าร้อยละ 87.4 ในช่วงอายุ 60-69 ปี ที่ดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ถือเป็นกำลังสำคัญของสังคม สามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพได้


'โรงเรียนผู้สูงอายุ' เปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่ง เป็นพลังทางสังคม thaihealth


สสส.จึงสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ลดการพึ่งพิง เสริมการทำงานของภาครัฐ ภายใต้หลักสูตรการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุในประเด็นที่จำเป็นต้องรู้ เช่น การดูแลสุขภาพร่างกาย สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้สูงอายุ ประเด็นที่ควรรู้ เช่น การใช้เทคโนโลยี และประเด็นที่อยากรู้ เช่น กิจกรรมนันทนาการต่างๆ ดนตรี เป็นต้น ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังของสังคม และเกิดการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตอย่างแท้จริง


"การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุที่เป็นตัวอย่างที่ดีกับพื้นที่ต่างๆ ที่มีการดำเนินงาน รวมถึงนำเสนอรูปแบบกิจกรรมที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนผู้สูงอายุได้ เช่น กิจกรรมทางกาย โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมดนตรี และนันทนาการต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับภาคนโยบาย และการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยการใช้ชุมชนเป็นฐานกว่า 300 แห่ง" ดร.สุปรีดา กล่าว


'โรงเรียนผู้สูงอายุ' เปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่ง เป็นพลังทางสังคม thaihealth


ขณะที่ ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนและชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ว่า โรงเรียนผู้สูงอายุมีเป้าประสงค์ให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย มีความสุข สนุกสนาน เน้นให้ความรู้ที่จะช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ให้ผู้สูงอายุเข้าใจและเท่าทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงความรู้ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในบั้นปลายให้มีความสุขสามารถพึ่งพาตนเองได้นานที่สุด


โดยสภาพปัญหาของโรงเรียนผู้สูงอายุที่เกิดขึ้น ในส่วนของด้านผู้ก่อตั้งโรงเรียน ก็คือ ความเข้าใจที่ไม่ถ่องแท้ต่อแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตของผู้เรียน การขาดการพิจารณาถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน ทั้งยังขาดความรู้และทักษะในการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ และขาดผู้ถ่ายทอดความรู้ ขาดทักษะการถ่ายทอดความรู้ ด้านการจัดการ ยังขาดงบประมาณ (การดำเนินงาน, รถรับ-ส่ง, อาหารกลางวัน) และไม่สามารถจัดได้ตามตารางสอน ส่วนการดูงานจากหน่วยงานภายนอก เป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่มีผลต่อเวลาและเนื้อหาการเรียนการสอน รวมถึงยังขาดแคลนสถานที่สำหรับเป็นห้องเรียน หรือจัดกิจกรรมสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุ ส่วนปัญหา ด้านผู้เรียน คือมีปัญหาความแตกต่างของผู้เรียน (ภาวะสุขภาพ, เศรษฐกิจ และระดับการศึกษา) และปัญหาความไม่เข้าใจและความคาดหวังของผู้เรียนต่อโรงเรียนผู้สูงอายุ


สำหรับทิศทางการพัฒนาของโรงเรียนผู้สูงอายุ ควรมีวิธีการดังนี้ 1.ปรับกระบวนการเรียนการสอน รูปแบบ วิธีการสอนและเทคนิคการสอน 2.การแสวง หาความร่วมมือเครือข่าย/สร้างแกนนำ 3.แบ่งชั้น เรียนตามปีที่เรียน/แบ่งเป็นรุ่น 4. สร้างจุดแข็ง จุดเด่นของโรงเรียน 5.พัฒนากิจกรรมให้หลากหลาย 6.จัดการเรียนรู้ต่อเนื่องโดยศิษย์เก่า อบรมเป็นระยะๆ  และขยายไปให้ความรู้ในชุมชน และ 7.ถ่ายโอนให้ ท้องถิ่น.

Shares:
QR Code :
QR Code