โรงเรียนปลายข้าว

 โอกาสที่ 2 เด็กลอยล่องสู่ห้องเรียน

 

โรงเรียนปลายข้าว

         

          จะดีสักเพียงใดถ้าเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือในระบบการศึกษาในชั้นประถมและมัธยม หรือที่เรามักเรียกพวกเขาว่า “เด็กนอกระบบ” มีโอกาสได้กลับมาเรียนหนังสือได้อีกครั้งโดยไม่ต้องอับอายเพื่อนๆ ว่าเขายังไม่สามารถอ่าน-เขียนภาษาไทยได้คล่องเหมือนเด็กที่จบชั้นเดียวกัน

 

          “โรงเรียนปลายข้าว” เป็นทางเลือกของเด็กนอกระบบ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเรียก “เด็กลอยล่อง” ให้สามารถกลับเข้ามาเรียนหนังสือ อยู่ในระบบการศึกษาได้อีกครั้ง แต่การเรียนคราวนี้แตกต่างจากชีวิตวัยเรียนที่ผ่านมา เพราะพวกเขาสามารถเลือกเวลาที่เหมาะสมในการร่ำเรียนหนังสือได้

 

          โครงการ “โรงเรียนปลายข้าว” ที่มีต้นแบบแห่งแรกอยู่ที่ รร.เทศบาลวัดนางลาด จ.พัทลุง นี้ เกิดขึ้นจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงศึกษาธิการ และเทศบาลเมือง จ.พัทลุง ซึ่งมีวัตถุประสงค์หวังจะผลักดันให้ “โรงเรียนปลายข้าว” เป็นต้นแบบโรงเรียนนอกระบบที่มีการจัดระเบียบคำสอนตามหลักสัจธรรมความเป็นจริง อันหมายถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ ด้วยการหนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน สำรวจ “เด็กนอกระบบ” ในพื้นที่ว่ามีมากน้อยเท่าไร “สสค.เคยแถลงข่าวรายงานสถานการณ์เด็กนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนร่วม 1.7 ล้านคน จากเด็กในระบบการศึกษาทั้งหมดร่วม 14 ล้านคนไปเมื่อเร็วๆ นี้ เราก็คิดที่จะต่อยอดด้วยการเปิดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนในระดับท้องถิ่น (เทศบาล) ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้และระบบกลไกท้องถิ่น หน่วยการศึกษา ในการดึงเด็กนอกระบบที่ตกสำรวจกลับเข้ามาสู่การเรียนรู้อีกครั้ง โดยมีเทศบาลเป็นเจ้าภาพหลัก สสค.จึงได้สนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพเยาวชนในระดับท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่าในระดับท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดจะร่วมขับเคลื่อนสำรวจและพัฒนาเด็กนอกระบบ ต้องให้เด็กที่ไม่มีรายชื่อเป็นนักเรียน กลับมามีรายชื่อเป็นนักเรียนใหม่อีกครั้งให้ได้” นพ.ศุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. ผู้ผลักดันสำคัญของโครงการ กล่าว

 

          ทำไมต้องเป็นที่จังหวัดพัทลุง โกสินทร์ ไพศาลศิลป์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง ไขข้อข้องใจว่า เดิมทีจังหวัดพัทลุงได้มีการถ่ายโอนโรงเรียนจากส่วนกลางให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2549 โดยทั้งโรงเรียนและครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสามารถถ่ายโอนมาอยู่ในการปกครองท้องถิ่น อันได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ทำให้ครูจำนวนหนึ่งขอโอนย้ายเข้าไปอยู่ในสังกัด ศธ. ส่งผลให้เด็กนักเรียน 62 ชีวิตที่เรียนอยู่ในสังกัด กศน.ไม่มีที่เรียน ต่อมาจึงได้ทำการสำรวจหานักเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาผ่านทางผู้นำท้องถิ่นของแต่ละชุมชน และการบอกต่อแบบปากต่อปากเพื่อหาเด็กนอกระบบ

 

          จากนั้นจึงพบว่านักเรียนในกลุ่มนี้บางคนที่แม้จะศึกษาจบได้ในระดับชั้น ป.6 แต่ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในชั้น  ม.1 ได้ เนื่องจากเด็กเหล่านี้อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ประวัติการเรียนและครอบครัวมีปัญหา อีกทั้งผู้ปกครองไม่มีเวลาว่างมาปรึกษาหารือกับโรงเรียนได้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งโครงการโรงเรียนปลายข้าวในโรงเรียนเทศบาลทั้ง 5 โรง ภายใต้การดูแลของเทศบาลเมืองพัทลุงไปเมื่อราว 3-4 ปีที่ผ่านมา

 

          ส่วนการเรียนที่โรงเรียนปลายข้าวก็จะแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป ตรงที่เน้นการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ ประสบการณ์ชีวิตจริงตามแต่ละสาระ และเน้นความรู้หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งการเรียนสามารถปรับบทเรียนตามความต้องการ เพื่อให้เหมาะกับเวลาที่เด็กแต่ละคนสะดวก ภายใต้ความคิดที่เชื่อมั่นว่าการสร้างเด็กดี แม้อาจเรียนไม่เก่ง แต่พวกเขาจะต้องไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน

 

          “เด็กที่มาเรียนเป็นเด็กยากจน เรียนแบบครึ่งๆ กลางๆ พ่อแม่ไม่มีเวลา พอออกจากโรงเรียนแล้วต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ช่วยแบกรับภาระครอบครัว ซึ่งการเรียนที่โรงเรียนปลายข้าวนี้จะจัดหลักสูตรการเรียนให้เหมาะกับเด็กกลุ่มนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับพวกเขาที่สังคมอาจมองว่าไม่มีค่า ซึ่งคำว่าปลายข้าวในที่นี้จึงเหมือนกับการเปรียบเทียบคนกับข้าว ปลายหรือข้าวหักก็เหมือนข้าวไม่เต็มเมล็ด แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็คือข้าวที่มีคุณค่าเช่นกัน การที่เด็กเปรียบเสมือนปลายข้าวจึงเหมือนผู้ป่วยที่ต้องการการแก้ไขให้กลับมาสมบูรณ์และอยู่ร่วมกับสังคมได้”

 

          สุภาณี ยังสังข์ หรือ ครูเข็ม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเทศบาลวัดนางลาด (ต้นแบบโรงเรียนปลายข้าว) เปิดเผยว่า การเรียนการสอนโรงเรียนปลายข้าวไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน 4 เหลี่ยม แต่สามารถเรียนในสถานที่ที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นลานวัดหรือตามสถานที่ต่างๆ โดยในการเรียนจะสอนในรายวิชาตามข้ออนุสัญญากับ กศน. ได้แก่ ภาษาอังกฤษ การงานพื้นฐานอาชีพ รวมถึงในหลักสูตรยังได้เพิ่มเติมการสอนในวิชาอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ศิลปะ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์   “เราสอนเน้นการให้เด็กได้รู้จักคิด เช่น ในวิชาภาษา ในกรณีที่มีเหตุการณ์เด็กนักเรียนในจังหวัดฆ่าตัวตาย ก็จะให้นักเรียนเขียนเป็นเรียงความถ่ายทอดเรื่องราวตามมุมมองของพวกเขา ซึ่งในการตรวจรายงานเราก็จะวงคำที่สะกดผิดไว้ และให้นักเรียนนำคำที่สะกดผิดมาสะกดใหม่ให้ถูกต้อง โดยการรวมขึ้นมาแต่งเป็นรูปประโยคใหม่อีกครั้ง จะทำให้พวกนักเรียนได้เกิดแตกฉานทางความคิด รวมทั้งการเรียนก็จะนำไปบูรณาการกับวิชาอื่นๆ ด้วย เช่น คำที่เขาเขียนในเรียงความเอ่ยถึงพวงหรีด ก็จะสอนเขาว่าในภาษาอังกฤษพวงหรีดสะกดอย่างไร หรือวิชาพระพุทธศาสนาก็จะเล่าถึงบาปของการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ การเรียนในโรงเรียนปลายข้าวนอกจากจะมีการสอนในวิชาพื้นฐานแล้ว ยังได้สอนประสบการณ์จริงในเรื่องของทักษะชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือแชร์ความคิดในสาระเหตุการณ์ที่มีขึ้นในแต่ละวันหรือเทศกาลงานต่างๆ หรือการไปดูหลักการประกอบอาชีพอย่างการทำนาและการทำกะละแม”

 

          ครูเข็มยังกล่าวต่อด้วยว่า ในขณะนี้โรงเรียนปลายข้าวมีนักเรียนคละรวมทุกระดับชั้น จำนวน 15 คน และจะมีครูที่เป็นครูอาสาในจังหวัด จำนวน 12  คน คอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาดูแลนักเรียนตามแต่สะดวก โดยถึงแม้จะเป็นงานอาสา แต่ก็มีครูสมัครใจมาสอนเป็นจำนวนมาก บางครั้งต่อชั้นเรียนอาจมีมากถึง 3 คน

         

การเรียนของนักเรียนในโรงเรียนปลายข้าวนี้ไม่ได้มีการประเมินผลเทียบระดับชั้นโดยตรง แต่นักเรียนจะต้องไปประเมินผลโดยสอบกับ กศน. ส่วนวิชาอื่นที่นอกเหนือจากการประเมินของ กศน. ทางครูอาจารย์ก็จะทำการประเมินด้วยตนเอง ที่ผ่านมามีนักเรียนสามารถได้วุฒิ ม.3 และได้เรียนต่อยังวิทยาลัยเทคนิคที่จังหวัดพัทลุงแล้ว 5 คน

 

          เอกพล เชียตุด หรือ ถัน นักเรียนชั้น ม.3 อายุ 16 ปี ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนปลายข้าว เล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตัวเขาเองก่อหน้านี้คือ การที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จึงทำให้การอ่านการเขียนหนังสือทำได้ไม่ดีนัก ส่งผลให้การเรียนย่ำแย่ ผลการเรียนที่ออกมาก็ได้ 0 มาก เมื่อเรียนจบชั้น ป.6 แล้วจึงไม่ได้เรียนต่ออีก รวมทั้งก่อนหน้านี้ก็ยังเป็นคนมีนิสัยก้าวร้าว ชอบมีปัญหาก่อเรื่องชกต่อยกับเพื่อนเป็นประจำ ทำให้ชีวิตช่วงนั้นค่อนข้างเคว้ง เนื่องจากเข้ากับสังคมไม่ค่อยได้ ซึ่งหลังจากได้มาเข้าโรงเรียนปลายข้าวแล้วชีวิตก็ค่อนข้างดีขึ้น สามารถกลับมาทำงานไปด้วยและก็เรียนไปด้วยได้ และจากเดิมที่เกรดเฉลี่ยได้แค่ราว 2.00 แต่ตอนนี้จะได้เพิ่มสูงขึ้นถึงมากกว่า 3.00 ต่อเทอม

 

          “ตอนนี้ในสังคมจากที่เคยมองพวกเราเป็นเด็กเกเร ไม่เรียนหนังสือ ตีความว่าเราเป็นเด็กไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อโรงเรียนปลายข้าวมอบโอกาสให้ได้เรียน สังคมก็ยอมรับเรามากขึ้น จากเดิมที่เคยเที่ยวเตร่ก็ช่วยพ่อแม่หารายได้ได้ และไม่ไปสร้างปัญหาเอารัดเอาเปรียบกับคนอื่นๆ ในสังคม”

 

          เจษฎา บัวจันทร์ หรือ ปราบ นักเรียนชั้น ม.3 อายุ 15 ปี นักเรียนอีกคนในโครงการ บอกว่า ตัวเขาเองก่อนหน้านี้อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลย เพราะว่าตอนเรียนอยู่ชั้นประถม ครูในโรงเรียนมีเพียงแค่ 5 คนเท่านั้น ทำให้ไม่เพียงพอต่อนักเรียน ทำให้ตัวเขาเองที่เกเรอยู่เป็นประจำมักถูกไล่ออกจากห้องเรียนบ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อจบ ป.6 แล้วพอไปสมัครเรียนที่ไหนก็ไม่มีใครรับ ไม่ให้เรียน เพราะอ้างว่าผลการเรียนไม่ถึงเกณฑ์ แต่งกายไม่สุภาพ ทรงผมผิดระเบียบ ทำให้รู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างมาก เพราะเห็นเพื่อนๆ เขาอ่านออก เขียนได้กัน

 

          “พอผมได้มาเข้าโรงเรียนปลายข้าวก็รู้สึกดีใจครับที่ได้กลับมาเรียน และได้อ่านออก เขียนได้ ตอนนี้ผมสามารถสอนคุณป้าที่บ้านอ่านเขียนหนังสือได้แล้ว ส่วนเทคนิคการอ่านหนังสือให้ออกได้มาจากการที่คุณครูพาตระเวนไปอ่านป้ายโฆษณาต่างๆ ในตัวเมือง รวมถึงยังได้พาไปที่สวนโมกข์ เพื่อให้ได้ไปศึกษานิทานจากพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิทานเรื่องไอ้ชาติคน ที่บอกถึงคนที่ขาดธรรมะที่แม้แต่สุนัขยังไม่กิน จึงนำเรื่องนี้ไปอ่านจนนำไปสู่การได้รางวัลเหรียญทองเล่านิทานธรรมะพระไตรปิฎก 3 ปีซ้อน” น้องปราบเล่า

 

          คำสิงห์ เชียตุด หรือ เติ้ล นักเรียนชั้น ม.3 อายุ 15 ปี เล่าว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ตัวเขาเองก็ไม่ต่างจากเพื่อนๆ ในโรงเรียนปลายข้าวคนอื่นๆ ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลย จึงได้เอาเวลาที่มีทั้งหมดไปคลุกอยู่ที่ร้านเกมคอมพิวเตอร์ ต่อมาครูเข็มชักชวนให้กลับมาเรียน อธิบายเงื่อนไขให้ฟังว่าพวกเขายังสามารถเรียนหนังสือได้   “ตอนแรกที่ครูเข็มมาชวน ผมอยู่ในร้านเกม พอฟังครูเข็มชวนว่าให้ไปทำอะไร ตอนแรกผมก็โวยวายไม่ยอมออกจากร้านเกม แต่ครูก็ยังรอ ผมเลยใจอ่อนกลับมาเข้าเรียนที่โรงเรียนปลายข้าว ซึ่งหลังจากกลับมาเรียนแล้ว ตอนนี้ผมสามารถอ่านออก เขียนได้ และทำให้เลิกติดเกมคอมพิวเตอร์ไปในที่สุด วิชาโปรดที่ผมชอบเรียนที่สุดคือ วิชาภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ ทำให้ในอนาคตอยากเรียนให้สูงๆ แล้วจบมาเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์” น้องเติ้ลเล่าวีรกรรม

 

          บทบาทของโรงเรียนปลายข้าวยังไม่หยุดแค่นี้ ท่านนายกเทศมนตรีเมืองพัทลุงบอกว่า เป้าหมายต่อไปของโรงเรียนปลายข้าวไม่เพียงแต่ต้องการแก้ปัญหาเด็กไทยที่ไม่รู้หนังสือไทยให้หมดไปจากเมืองพัทลุงเท่านั้น แต่ยังคิดที่จะขยายการสอนไปสู่แรงงานต่างด้าวในจังหวัดอีกด้วย เพื่อที่จะนำไปสู่การป้องกันปัญหาโรคติดต่อ เจ็บไข้ได้ป่วย และปัญหาถูกจับ เพราะทำผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากไม่รู้หนังสือไทย

 

          อย่างไรก็ตาม คงดีไม่น้อยหากเห็นระดับท้องถิ่นอื่นๆ ลุกขึ้นมาผลักดันให้การสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กๆ เช่นนี้บ้าง เพื่อที่ในอนาคตจะได้ไม่มีใครในประเทศอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และเพื่อที่จะไม่มี “เด็กนอกระบบ” อีกต่อไป

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

 

update: 20-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code