โรงเรียนบ้านลำโป่งเพชรตามรอย ‘พ่อหลวง’

โรงเรียนบ้านลำโป่งเพชรตามรอย‘พ่อหลวง’ บูรณาการ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ สร้าง ‘สื่อพัฒนาสุขภาวะ’


โรงเรียนบ้านลำโป่งเพชรตามรอย ‘พ่อหลวง’ thaihealthโรงเรียนบ้านลำโป่งเพชรตามรอย ‘พ่อหลวง’ thaihealth


โรงเรียนบ้านลำโป่งเพชร อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ มีสภาพพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งทุรกันดาร ครอบครัวของนักเรียนส่วนมากมีฐานะยากจน หลายคนต้องขาดเรียนบ่อยๆ เพราะโรงเรียนอยู่ไกล การเดินทางลำบาก และยังมีปัญหาด้านสุขภาวะทั้งด้านสภาพแวดล้อม และอาหารการกิน ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ


จนเมื่อ “นายตรีภพ สมัครลาน” ผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบันได้เข้ามาบุกเบิกถางป่าพลิกผืนดินแห้งและรกร้างเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่โดยยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” มาบูรณาการต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ สร้างโรงเรียนให้เปรียบเสมือนบ้าน ส่งเสริมให้นักเรียนมีความฉลาดทางอารมณ์ รักสิ่งแวดล้อม มีทักษะอาชีพติดตัว และมีสุขภาวะที่ดี เพื่อเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต


นายเสน่ห์ คีรี ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผนเขตการศึกษาที่ 4 กล่าวว่า “ผอ.และคณะครูที่นี่ตั้งใจที่จะสร้างโรงเรียนให้เปรียบเสมือนบ้าน มีการส่งเสริมให้นักเรียนฝึกอาชีพเลี้ยงหมู เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ปลูกพืชผักสวนครัว และวางรากฐานการดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนปัญหาเรื่องของความยากลำบากในการเดินทางมาโรงเรียนของเด็กๆ ที่ทำให้นักเรียนขาดเรียนบ่อย ผอ. และคณะครูจึงแก้ปัญหาด้วยการขอรถเก่าๆ ที่เขตการศึกษาจำหน่ายออกไปแล้วมาใช้ ตอนนี้ทั้งครูและผู้อำนวยการผลัดกับขับวันละหลาย 10 กิโลเมตรเพื่อรับส่งนักเรียน”


นางสาวอรชร โตสลุง ครูผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่าเมื่อตอนที่ ผอ.ตรีภพ จะทำให้โรงเรียนเป็นเศรษฐกิจพอเพียง มีแต่คนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงเรียนมีแต่ผู้หญิง ท่านจึงเริ่มต้นจากถือมีดพร้าเข้าไปถางป่าด้วยตัวเอง และพาครูไปช่วยกันปรับพื้นที่ เมื่อชุมชนเห็นความตั้งใจจริง ก็เข้ามาช่วยเหลือทำพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์โดยยึดแนวพระราชดำริ จนกระทั่งโรงเรียนจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากในหลวงพระราชทานความช่วยเหลือให้เป็นโรงเรียนในโรงเรียนบ้านลำโป่งเพชรตามรอย ‘พ่อหลวง’ thaihealthโครงการกองทุนการศึกษา


และเพื่อให้นักเรียน และชุมชนทุกคน ได้มีสุขภาพกายและใจที่ดี ลดปัญหาการขาดเรียนเนื่องจากปัญหาสุขภาพของเด็ก คณะครูยังต่อยอดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการดำเนินงาน “โครงการเรียนรู้สู่โลกกว้างใช้สิ่งรอบข้างเป็นครู มุ่งสู่ความฉลาดทางสุขภาวะ” ขึ้นภายใต้โครงการ “ต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กแลเยาวชน” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) เพื่อให้นักเรียนและชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาสุขภาวะอย่างถูกต้อง


โดยขอความร่วมมือจากคณะครูและนักเรียน ร่วมกันผลิต “สื่อส่งเสริมสุขภาวะ” ติดตั้งไปทั่วโรงเรียน ทั้งผนังโรงเรียน กำแพง ถังน้ำ โอ่งเก็บน้ำ ต้นไม้ ฯลฯ มีการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยโดยส่งเสริมให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้จากสื่อต่างๆ อีกทั้งยังมีการจัดทำห้องสมุด สร้างรถอ่านหนังสือเคลื่อนที่ และจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาสุขภาวะด้วยการจัดเวลานักเรียนออกกำลังกาย จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน แรลลี่เพื่อสุขภาวะ โดยเน้นให้เด็กได้รู้จักใช้สิ่งรอบข้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด


อย่างในช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา นักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ก็ได้เรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับภัยพิบัติ โดยมีการมีการสอนเรื่องการทำแพ และทดลองพานักเรียนล่องแพในคลองหลังโรงเรียน มีการสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในแพ เป็นโลกกว้างและการเรียนรู้ที่ไม่ได้หยุดแค่ในห้องเรียน


“ในห้องเรียนเราก็จะเน้นให้เด็กรู้จักค้นคว้าหาความรู้ โดยเราได้รับพระราชทานคอมพิวเตอร์มา 22 เครื่องจากในหลวง และเรายังได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ใจดีมากมาย เด็กๆ จะชอบอ่านหนังสือและชอบทำสื่อความรู้เอง โดยนำความรู้จากครู จากผู้ปกครอง และสิ่งที่เขาได้พบเจอจากสิ่งรอบข้างมาเล่าเรื่องทำเป็นสื่อพัฒนสุขภาวะในรูปแบบต่างๆ” ครูอรชร กล่าวเสริม


โดย “สื่อพัฒนาสุขภาวะ” ที่ครูและนักเรียนร่วมกันทำนี้ มีตั้งแต่ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book เรื่อง ผลไม้มีประโยชน์, กินผักกันเถอะ หรือ หนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่อง หนูนิดเป็นโรคตาแดง,วัยใสเข้าใจรัก,หนูนิดไม่ยอมออกกำลังกาย, ครอบครัวตึ๋งหนืด, ตะลุยเอาชีวิตรอด, ล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า, เศรษฐศาสตร์อย่างง่าย, ระบบนิเวศ, เศรษฐกิจพอเพียง, รู้ไหม อาหารที่เรากินไปไหน , ยาเสพติด, กินดี มีสุข ฯลฯ สื่อเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะไปอยู่ในห้องสมุดเคลื่อนที่ๆ สามารถเข็นไปอ่านได้ทุกที่แล้ว เด็กๆ ยังสามารถนำกลับบ้านไปอ่านให้พี่ น้อง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายได้ฟัง รวมไปถึงพืชผักผลไม้ที่ปลูกในโรงเรียนก็ยังเป็นอาหารของครอบครัวเด็กได้ ทุกอย่างส่งผลดีต่อทุกคนทั้งชุมชน ครอบครัว และตัวของเด็กเอง


นายตรีภพ สมัครลาน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลำโป่งเพชร กล่าวว่า การที่จะสร้างเยาวชนให้เป็นคนดีได้นั้น จะต้องเกิดจากการปลูกฝังที่ดี เหมือนการปลูกต้นไม้โดยเพาะเมล็ด ที่จะได้ต้นไม้ใหญ่ที่มีรากแก้วที่แข็งแกร่ง แต่ทุกวันนี้เราชอบตอนกิ่ง ทาบกิ่งแทน จึงทำให้พื้นฐานทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป


“หากเยาวชนได้รับการปลูกฝังในสิ่งที่ดี มีคุณธรรม เมื่อเติบโตไปทักษะชีวิตของเขาจะคงทนถาวร คิดเป็น คิดเองได้ ซึ่งก็เหมือนการอบรมบ่มเพาะของสังคมในอดีต แต่เราละเลย เราลืมรากเหง้าไป ทางคณะครูจึงพยายามทำให้พื้นที่ในโรงเรียนนี้เป็นจุดเริ่มของการสร้างภูมิต้านให้เด็กๆ ได้เติบโตได้อย่างแข็งแรง สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข” ผอ.ตรีภพ ระบุ


 


 


ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code