โรงเรียนบ้านคุณแม่ สร้างสุขภาวะให้เด็ก
โรงเรียนบ้านคุณแม่ โรงเรียนเอกชนระดับประถมศึกษา ปัจจุบันก้าวไปไกลเป็นที่ตั้งของศูนย์การศึกษาไร้พรมแดนล้านนาอาเซียน ถูกออกแบบให้เป็นโรงเรียนอบอุ่น อบอวลด้วยความรัก ความเข้าใจธรรมชาติและพลังสร้างสรรค์ของเด็ก
ด้วยพื้นที่กว่า 5 ไร่ เลขที่ 184 หมู่ 9 ถนนเลียบคลองชลประทาน ต.หนองคาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ถูกออกแบบให้เป็นโรงเรียนอบอุ่น อบอวลด้วยความรัก ความเข้าใจธรรมชาติและพลังสร้างสรรค์ของเด็ก บรรยากาศร่มรื่น สะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบ รายล้อมด้วยต้นไม้หลากหลายพันธุ์ และแปลงพืชผักให้เด็กลงมือปลูกและดูแลกันเอง
โรงเรียนบ้านคุณแม่ เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งเดียว ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ ระดับประถมศึกษา ปี 2554-2555 โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สนับสนุนให้ทุนโรงเรียนทำโครงการภายใน 1 ปี จากทั้งหมด 475 โครงการทั่วประเทศ
โรงเรียนบ้านคุณแม่ เลือกทำโครงการสนุกกับการเรียนรู้ ภายใต้ชื่อว่า การใช้ของเล่นพื้นบ้านในมิติวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนระดับประถมศึกษา ผลงานดีเด่นจากการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กผ่านการทำของเล่นพื้นบ้าน ผสานหลักคิดวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้รับคัดเลือก เป็น 1 ใน 46 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการต่อยอดนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คราวนี้โรงเรียนทำโครงการชื่อว่า "บทเพลงเพื่อสุขภาวะทางปัญญา"
คณะติดตามผลการดำเนินงานเดินทางไปถึง เด็กนักเรียนในชุดลำลอง คละเคล้าตั้งแต่ประถม 1 ถึง 6 ทั้งชายและหญิงกว่า 50 คน นั่งเป็นแถวรวมตัวกันอยู่บนห้องกิจกรรมชั้นสองของอาคารเรียน รอคอยโอกาสที่จะโชว์ศักยภาพของพวกเขาให้ปรากฏแก่สายตาผู้มาเยือนอย่างตั้งอกตั้งใจ
ค่อยๆ ลุกขึ้น ยืนเรียงแถว เด็กคนนำกล่าว "ทั้งหมดเตรียมตัว ทำความเคารพ"
"สวัสดีค่ะ สวัสดีครับ" เสียงดังกังวานทั่วห้อง บ่งบอกถึงความสนุกที่จะเริ่มขึ้นอีกครั้งในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า
คุณครูใหญ่กล่าวแนะนำตัวเองและโรงเรียน "ดิฉัน นางกันต์ฤทัย นาห้วยทราย ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือเรียกคุณครูแม่แมว เหมือนเด็กๆ ก็ได้นะคะ"
"แต่ก่อนเป็นโรงเรียนอนุบาลบ้านคุณแม่ อยู่ในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ ก่อนย้ายมาที่นี่ ปี 2549 เปิดการเรียนการสอนถึงระดับประถมศึกษามากว่า 8 ปี"
"โรงเรียนเน้นสอนความเป็นคนดี ก่อนสอนความเก่ง การเรียนรู้แบบไม่เรียนอย่างแสนสาหัส ไม่ต้องติวมากมาย ไม่ต้องกวดวิชา ไม่มุ่งแต่ความเป็นเลิศ ก็ไปได้"
"โรงเรียนมีโครงการแนะแนวต่างๆ การใช้มิติทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบการคิด เรียนสนุก ผ่านสื่อของเล่น บทเพลง การทำโครงงาน Project based learning กระบวนการทั้งหมดมาจากเด็ก โครงการล่าสุด เด็กรวมตัวกันพัฒนาโครงการของเขากันเองโดยจำลองจากชีวิตจริง" เธอเล่าถึงแนวคิดในการจัดทำโรงเรียนคร่าวๆ
เพื่อให้ทุกคนได้มีเวลาเห็นและสัมผัสของจริงจากตัวตนของเด็กทุกคน ถ่ายทอดประสบการณ์เรียนรู้จากกิจกรรมและการลงมือทำของพวกเขาทีละกลุ่มๆ เริ่มจาก เด็กหญิงต้นข้าวและเพื่อนร่วมทีมเล่าถึงการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยบทเพลง กระบวนการรังสรรค์เพลงทั้ง 3 ชุด 3 กลุ่ม ได้แก่ บทเพลงเพื่อส่งเสริมสุขภาวะด้านกาย ด้านสังคม ด้านจิตและปัญญา พร้อมการคิดท่าทางประกอบ
ต่อด้วยเด็กหญิงมิเกล เล่าขั้นตอนการทำงานร่วมกัน เริ่มจากสำรวจตรวจสอบ หาความหมายของคำว่าสุขภาวะ ภาวะที่เป็นสุขทางกาย ทางจิตปัญญา ทางสังคม โดยได้ความรู้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
คนต่อมาเล่า แนวคิดเบื้องหลังที่มาของเพลงกลุ่มแรก บทเพลงเพื่อส่งเสริมสุขภาวะด้านกาย "จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาวะทางกาย พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่นิยมออกกำลังกาย ทำให้เกิดโรคอ้วน จึงนำปัญหาที่พบมาแต่งเป็นบทเพลง หาทำนอง จังหวะ หาคนอัดเสียง"
จากนั้นทุกคนร่วมกันขับร้อง พร้อมแสดงท่าเต้นประกอบชุดแรก 5 เพลง เพลงออกกำลังกาย เพลงโทษของอาหาร เพลงทหารผัก เพลงตื่นเช้า เสียงร้องประสานดังเป็นจังหวะ ตื่นเช้า ตื่นเช้าวันใหม่ ชีวิตสดใสถ้าใครตื่นเช้า
สิ่งดีดียังมีรอเรา ตื่นแต่เช้ากันหน่อยดีไหม เก็บที่นอน แล้วล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำหน่อยแหละกัน ให้มันสดใส ทานอาหาร ที่เตรียมไว้ เตรียมกายและใจ ไว้ให้พร้อมเสมอ ก็สิ่งดีดี เริ่มต้นกันที่ตอนเช้า มีเรื่องราว ให้เราต้องพบเจอ หลับอยู่ทำไม ไม่ลุกละเธอ ลุกขึ้นมาเจอ สิ่งดีในตอนเช้า ปิดท้ายชุดแรกด้วยเพลงเด็กๆ ไม่นอนดึก จบลง เสียงปรบมือดังทั่วห้อง คณะผู้มาเยือนต่างส่งยิ้มให้แก่กันด้วยความสุขที่เด็กมอบให้
ต่อไปเป็นคิวของกลุ่มบทเพลงเพื่อส่งเสริมสุขภาวะด้านสังคม "แนวทางการแต่งเพลงจากปัญหาที่เราอยู่รวมกัน ควรคิดดี คิดแง่บวก ไม่มองคนแง่ลบ ช่วยเหลือกัน ทำให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ทั้งหมด 5 เพลง เพลงชีวิตเป็นของเรา เพลงหยิบยื่น เพลงคิดดี เพลงเด็กดี เพลงธรรม (ในหนึ่ง) ชาติ
กลุ่มบทเพลงเพื่อส่งเสริมสุขภาวะด้านจิตปัญญา รับช่วงต่อ "แนวทางการแต่งเพลงของกลุ่ม คนเรามีเรื่องให้คิดหลายเรื่อง ทำให้ฟุ้งซ่าน แนวคิดจึงให้ทุกคนได้รู้กาย รู้ใจ มีสติในการใช้ชีวิตประจำวันให้รู้ตัว ไม่หลงใหลไปกับกิเลสต่างๆ เพลงคุณค่าในใจที่งดงาม เพลงอภัย เพลงรู้ เพลงโลกน่าอยู่ เพลงชีวิตนี้สั้นนัก"
การร้องเพลงประกอบท่าเต้นครบทั้ง 3 ชุด รอยยิ้มบนใบหน้า ท่าทางเด็กน้อยแจ่มใส สดชื่น ดีใจอีกครั้งที่ผู้ใหญ่พากันมาชมความสามารถ พลังสร้างสรรค์ในตัวพวกเขา
"กิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนพยายามทำภายใต้บรรยากาศ B๐dy Brain In Mind นำเอาผลงานของเด็กๆ ไปเผยแพร่ในชุมชน ในโรงเรียนเครือข่ายต่างๆ เช่น โรงเรียนวัดศรีล้อม" คุณครูแม่แมวกล่าว หลังการขับขานบทเพลงของเด็กๆ
เป็นคำตอบถึงความสำเร็จและยืนยันทิศทางการจัดการศึกษาของโรงเรียน การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทักษะการคิด วิเคราะห์ ทักษะเทคโนโลยี ทักษะการสื่อสาร ทักษะชีวิตการทำงานร่วมกัน กล้าแสดงออก และความมั่นใจในตัวเอง
ก่อนเปิดโอกาสให้คณะผู้ติดตามโครงการได้ชมการจัดการเรียนการสอน พูดคุยกับคุณครูถึงห้องเรียน และสะท้อนถึงบทเรียนการทำโรงเรียนการศึกษาทางเลือกของเธอที่ผ่านมาว่าอย่างไร คอยติดตามกันต่อไป
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์
ภาพประกอบจากโรงเรียนบ้านคุณแม่