โรงเรียนต้นแบบศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติ

ด้วยความหวังจะสร้างองค์ความรู้จากการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนกุดบากพัฒนาศึกษา จ.สกลนคร จึงจัดทำโครงการ “โรงเรียนต้นแบบศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติ” โดยการแปลงองค์ความรู้ที่ได้มาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนท้องถิ่น ที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจาก 4 ฐานการเรียนรู้ โดยดึงทุกภาคส่วนทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เกิดการต่อยอดและกลายเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

จากโรงเรียนที่พัฒนาจนตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติ วันนี้ โรงเรียนกุดบากพัฒนาศึกษา จ.สกลนคร ต้องการจะสานต่อ โดยใช้ความร่วมแรงร่วมใจกันทั้งจากโรงเรียน ชุมชน ครู และนักเรียน สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้โครงการดีๆ นี้ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป จนเกิดเป็นโครงการต้นแบบศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อแปลงความรู้ที่ได้นั้นมาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนท้องถิ่น ที่ให้นักเรียนตั้งแต่ชั้น มัธทยม 1-6 ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติทั้งหมด 4 ฐานการเรียนรู้

เมื่อเริ่มทำโครงการ สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก คือ การประชุมวางแผนร่วมกันระหว่างครู ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ปกครอง และนักเรียน รวมทั้งเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้คำแนะนำ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, ฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ศูนย์อินแปง, ปศุสัตว์, เกษตรอำเภอ, อุทยานแห่งชาติภูพาน, ไร่นาสวนผสมนาแม่พิมพ์ โถตันคำ, โรงพยาบาล และศูนย์อนามัย เพราะเห็นว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานประสานกัน ทั้งให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็จะทำให้เห็นคุณค่า เกิดความร่วมแรงร่วมใจในการทำงานอย่างแท้จริง หรือบางหน่วยงานนำไปต่อยอดได้

เมื่อประชุมกันแล้ว ก็เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อมุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและฝึกทักษะชีวิตในการประกอบอาชีพ ที่เน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียน โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐานการเรียนรู้ แต่ละฐานได้สร้างเป็นศาลาศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นสถานที่ถาวรและสะดวกในการเรียนรู้ ดังนี้

1. ฐานเรียนรู้เกษตรผสมผสาน มีทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ผลิตอาหารสัตว์ และการแปรรูปผลผลิต โดยให้นักเรียนชั้น ม.4 ปลูกมะพร้าวน้ำหอมคนละ 1 ต้น และดูแลรักษาจนจบการศึกษา ส่วนนักเรียนชั้น ม.1 ให้ปลูกมะไฟ พุทรา หมากเม่า ลำไย และชมพู่ นอกจากนั้นยังปลูกผักสวนครัว กล้วย ไผ่เลี้ยง หญ้าแฝก รวมทั้งพันธุ์ไม้พื้นเมือง ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 300 ต้น ส่วนการเลี้ยงสัตว์ มีทั้งปลา กบ หมูป่า ไก่ เป็ด โดยเฉพาะหมู ได้อนุรักษ์พันธุ์หมูป่าและหมูพันธุ์พื้นบ้าน ทั้งนี้ นอกจากจะนำเงินที่ได้จากผลผลิตมาใช้จ่ายหมุนเวียน ยังนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ

2. ฐานเรียนรู้ด้านพลังงาน จัดทำเตาเผาถ่านน้ำส้มควันไม้ แล้วนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ในการเกษตรต่อไป นอกจากนี้ยังคิดค้นวิธีการอนุรักษ์พลังงานด้วยการประดิษฐ์จักรยานปั่นน้ำด้วยแรงคน ทำชุดตัดกระแสไฟฟ้าในเครื่องทำความเย็นของโรงเรียน

3. ฐานเรียนรู้ขยะรีไซเคิล ให้เด็กๆ ช่วยกันเก็บขยะในโรงเรียนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อไปขายแล้วนำเงินที่ได้มาหมุนเวียนภายในโครงการ กิจกรรมนี้ทำให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่า และรู้จักใช้ของอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

4. ฐานเรียนรู้น้ำ และการส่งเสริมสุขภาพ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การจัดระบบน้ำทิ้งในโรงอาหารให้กลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ได้ และการรักษาห้องน้ำของโรงเรียนให้สะอาดอยู่เสมอ

ในการเรียนรู้แต่ละฐาน นอกจากเด็กจะได้ฝึกความรับผิดชอบและความอดทนแล้ว ยังบูรณาการวิชาอื่นๆ มาใช้ได้ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ในการสังเกต ทดลอง แก้ปัญหา วิชาคณิตศาสตร์ในการนับจำนวนผลิตผลและการจำหน่าย

 

 

ที่่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) 

Shares:
QR Code :
QR Code