โรงพักสร้างสุข แนวคิดแฮปปี้ 8 ที่ตำรวจไทยทำได้
จากกิจกรรมตรวจร่างกายประจำปีของตำรวจในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ในวันวาน และพบว่าสุขภาพของเพื่อนตำรวจไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ทั้งไขมันในเลือดสูงรูปร่างอ้วนลงพุง ภาวะเครียดแทรกซ้อนจากการปฏิบัติงาน รายได้ไม่พอค่าใช้เพราะจ่ายหนี้สินหมดจนเหลือใช้แค่เดือนละ 1,000 กว่าบาท
โดยผู้น่าเชื่อถือให้ข้อมูลสำทับว่าเป็นเรื่องจริงที่ตำรวจไทยมีหนี้สินมากพอๆ กับข้าราชการประเภทอื่นๆ และอาจมากกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากใน 10 คน เป็นหนี้ทั้ง 10 คน แค่ชั้นประทวนก็มีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 5-8 แสนบาทต่อบ้าน แต่ถ้าเป็นระดับสัญญาบัตรคาดว่าจะมีหนี้สินราวล้านบาทเศษขึ้นไป
พ.ต.อ.อนุพงศ์ เรืองเดชอนันต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดารารัศมี พร้อมด้วย พ.ต.ท.หญิงมนัสสวาท ศรีงามช้อย ที่กลายมาเป็นผู้จัดการโครงการโรงพักสร้างสุขในภายหลัง คิดติดต่อสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขอองค์ความรู้พร้อมงบสนับสนุนมาสร้างเสริมสุขภาวะเชิงรุกของเพื่อนตำรวจให้ดีขึ้น และกลายมาเป็นโครงการ “โรงพักสร้างสุข” หรือปฏิบัติการสร้างความสุขสำหรับตำรวจและครอบครัวรวมถึงประชาชน ในปี 2552 จวบกระทั่งปี 2555 ได้ถอดบทเรียนที่ประสบผลสำเร็จจากโครงการ และจัดทำเป็นหนังสือและซีดีโรงพักสร้างสุข แฮปปี้ 8 เวิร์กเพลส (happy 8 workplace) เพื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการ และถ้าโรงพักไหนจะเอาไปเรียนรู้เป็นแบบอย่าง …ก็ไม่ว่ากัน
ก่อนจะไปถึงผลสำเร็จและการต่อยอดโครงการที่ตำรวจสัญญาบัตรทั้ง 2 ยืนยันว่ามีแน่ๆ ขอเผยวิธีเปลี่ยนโรงพักให้เป็นโรงพักสร้างสุขให้รู้โดยทั่วกัน ซึ่งว่าไปแล้วจะทำยากก็ไม่ยากอย่างที่คิดบทจะง่ายก็ไม่ง่ายอย่างที่ฝัน เรียกว่าต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจเสียมากกว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.ท.หญิงมนัสสวาท เล่าให้ฟังพร้อมอธิบายขั้นตอนให้เข้าใจอย่างคร่าวๆ ไว้ว่า
ถ้า..”โรงพักสร้างสุข” คือโจทย์ แนวทางปฏิบัติให้เป็นเช่นนั้นได้จริงเริ่มต้นจากขั้นที่ 1 ที่ต้องตัดสินใจก้าวเดินไปข้างหน้าและทำใจยอมรับไม่คิดต้าน โดยมีสถานีตำรวจในพื้นที่ภูธรภาค 5 สมัครใจคิดเปลี่ยนแปลงตนเองและตบเท้าเข้าร่วม 52 สถานีจากทั้งหมดกว่า 150 สถานี
เมื่อได้อาสาสมัครแล้วก็มาต่อกันที่ขั้นที่ 2 คือสร้างความเข้าใจ เป็นที่รู้กันว่าคนเราจะยอมรับเรื่องอะไรได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าเข้าใจเรื่องนั้นมากน้อยแค่ไหน!! ซึ่งการสร้างความเข้าใจเรื่องโรงพักสร้างสุขต้องให้ความรู้ว่าโรงพักสร้างสุขตามแนวคิดแฮปปี้ เวิร์กเพลส ที่มุ่งสร้างความสุขทั้ง 8 ด้าน ที่นำผนวกกับพื้นฐาน 5 มิติ ได้แก่ สังคม, ร่างกาย, จิตใจ, สิ่งแวดล้อม และการสร้างจิตอาสา คืออะไร? สำคัญอย่างไร? มีเป้าหมายอะไร? ต้องทำวิธีไหนถึงจะเป็นโรงพักสร้างสุข? สุดท้ายเป็นโรงพักสร้างสุขแล้วได้อะไร? ทั้งนี้ ผจก.โครงการโรงพักสร้างสุขบอกเคล็ดลับว่า การสร้างความเข้าใจที่ดีที่สุดคือการพูดคุยแบบ ตาดู หูฟัง หัวสมองคิด ปากพูด
ขั้นที่ 3 สร้างการมีส่วนร่วม เพราะต้องสุขกันทั้งโรงพัก สุขทั้งหมด รวมทั้งคนนอกโรงพักด้วยฉะนั้น ต้องให้ตำรวจทุกคนในโรงพักรวมถึงลูกเมียตำรวจ มีส่วนร่วมในโครงการด้วยกัน และร่วมกันในทุกๆ เรื่อง เช่น ร่วมกันคิดชื่อโครงการ ร่วมกันกำหนดสิ่งที่อยากจะเป็น ร่วมกันเลือกกิจกรรมร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดว่าสิ่งที่ทำนั้นมาถูกทางหรือไม่ กระทั่งร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เป็นต้น
ขั้นที่ 4 สร้างทีมงาน เพราะงานอะไรที่ทำคนเดียว เหนื่อยคนเดียว งานมักไม่สำเร็จ ดังนั้น ทีมงานจึงเป็นส่วนสำคัญสุดที่จะทำให้โรงพักสร้างสุขสำเร็จได้ซึ่งอาจแบ่งตามความสมัครใจ หรือสร้างกลุ่มทำงานตามความถนัด และไม่ทำงานทับซ้อนกัน อย่าลืมว่าเรื่องจะง่าย จะยาก สำเร็จหรือล้มเหลว คนล้วนเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งถ้าระบบดี คนดี งานสำเร็จ 100 ส่วน ถ้าระบบแย่ คนดี อย่างน้อยประสบผลเสีย 80 ส่วน แต่ถ้าระบบดี คนแย่ ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นอาจได้แค่ 50 ส่วน แต่หากระบบแย่ คนแย่ ก็คงล้มเหลวทั้ง 100 ส่วนนั่นแหละ
ขั้นที่ 5 ออกคำสั่งมอบหมายหน้าที่การงานให้ชัดเจน
ขั้นที่ 6 เก็บข้อมูลก่อนเริ่มโครงการ เพื่อไว้ใช้เปรียบเทียบกับผลตอนทำโครงการเสร็จสิ้นว่าแตกต่างกันอย่างไร ดีขึ้นหรือแย่ลง
ขั้นที่ 7 ลงมือทำ ซึ่งต้องมีความรู้สึกที่ดีต่อการทำ มีความสุขที่ทำได้ หรือทำอย่างมีความสุข ทำโดยอย่าไปคิดว่ากำลังทำงาน เพราะการสร้างความสุขเพื่อตัวเรา เพื่อคนที่เรารัก ไม่ใช่งาน!
ขั้นที่ 8 ติดตามผล นับว่าเป็นเรื่องสำคัญและควรติดตามอย่างต่อเนื่องในแบบได้รายละเอียดและข้อมูลอย่างชัดเจนถูกต้อง
ขั้นที่ 9 แก้ไขปัญหาและปรับแผน หากพบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ให้นำปัญหาที่พบ มาปรึกษาหารือและหาทางแก้ไขทีมงานกับสมาชิกทุกคนในโรงพัก แล้วปรับแผนการทำงานเพื่อให้ปัญหาหมดไป ห้ามใช้วิธีวันแมนโชว์เด็ดขาด
ขั้นที่ 10 สรุปผล เวลาทำรายงานสรุปผลให้เน้นสั้น กระชับ ได้ใจความสำคัญ
ขั้นที่ 11 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่มีทั้งการให้และรับในคราวเดียวกัน เนื่องจากการทำโรงพักสร้างสุขตั้งแต่ต้นจนจบนั้น ย่อมเกิดความรู้ เช่น รู้เรื่องขั้นตอนวิธีการทำงาน รู้วิธีทำกิจกรรม รู้ปัญหา รู้วิธีแก้ รู้..รู้..รู้ฯลฯ และแต่ละโรงพักแม้จะทำตามตัวอย่างแบบเดียวกัน แต่ผลที่ได้ย่อมออกมาไม่เหมือนหรือเท่ากัน เพราะแต่ละที่แต่ละแห่ง ล้วนมีความแตกต่างเฉพาะตัว ฉะนั้นแล้ว ถ้าสามารถนำความรู้ของแต่ละคนแต่ละโรงพักมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่รู้และไม่รู้ ย่อมดีกว่าเป็นไหนๆ ยิ่งถ้าแลกเปลี่ยนนี้จะช่วยเพิ่มพูนและขจัดความไม่รู้ทิ้งไปได้ยิ่งดีนักแล
จบท้ายขั้นที่ 12 ขยายผลและสร้างเครือข่าย ที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะ ตำรวจยุคนี้ทำงานบนความร่วมมือกับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ด้วยการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและได้สร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปอเต๊กตึ๊ง ร่วมกตัญญู อาสาสมัครตำรวจบ้าน เหยี่ยวข่าวอาชญากรรม จราจรอาสา อาสาสมัครร่วมเป็นนักเรียนในโครงการครู d.a.r.e ฯลฯ
“งานขยายผลและการสร้างเครือข่ายไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องยากสำหรับตำรวจไทยที่ยึดถือสโลแกนตำรวจเป็นมิตร ใกล้ชิดประชาชน มาตั้งแต่ไหนแต่ไร และหลายเรื่องที่เราจับมือเครือข่ายให้ช่วยสอดส่องดูแลเป็นหูเป็นตา และการที่จะนำเรื่องโรงพักสร้างสุขเสริมเพิ่มเติมเข้าไปอีกเรื่องให้ภาคีเครือข่ายของเรากลายเป็นโรงพักสร้างสุขไปด้วยกัน ร่วมด้วยสร้างความสุขทั้งแปดประการให้เกิดขึ้นที่โรงพัก ที่บ้านของเครือข่ายและชุมชนของเครือข่าย ด้วยการนำขั้นตอนทั้ง 12 ไปปฏิบัติ โดยทำวนเวียนไปเรื่อยๆ เชื่อว่าเครือข่ายโรงพักสร้างสุขจะมากขึ้น ทีนี้จะเกิดแฮปปี้ 9 ก็คือ แฮปปี้ เอนดิ้ง กันอย่างถ้วนหน้า” พ.ต.ท.หญิงมนัสสวาท กล่าวสรุป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์