โรคหัวใจคร่าชีวิตคนไทย 2 รายต่อชั่วโมง
สธ. เผย ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โรคหัวใจเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 4 รองลงมาจากมะเร็ง อุบัติเหตุ และโรคหลอดเลือดสมอง
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โรคหัวใจเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 4 รองลงมาจากมะเร็ง อุบัติเหตุ และโรคหลอดเลือดสมอง ข้อมูลล่าสุดในปี 2554 ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 20,130 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ2 ราย อัตราเสียชีวิต 31 ต่อแสนประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
ทั้งนี้ โรคหัวใจที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด คือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน ทำให้มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกเป็นเวลานาน อมยาก็ไม่หาย และอาจจะมีอาการแทรกซ้อนเช่น หอบเหนื่อย หน้ามืดเป็นลม มือเท้าเย็น โรคนี้หากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เช่น การใส่สายสวนหัวใจหรือกินยาละลายลิ่มเลือดเร็ว จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น แต่ปัญหาที่ผ่านมาพบว่าศูนย์เชี่ยวชาญรักษามีน้อยมาก ส่วนใหญ่กระจุกตัวใน กทม.คิวรอรักษายาวตั้งแต่ 1 เดือน 2 ปี ผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตไปก่อน
นพ.ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ปี 2555–2559 โดยจัดทำเป็นเขตบริการสุขภาพมีทั้งหมด 12 เครือข่ายแต่ละเครือข่ายจะมีศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด 1-2 แห่ง ดูแล 4-8 จังหวัด ประชากรเฉลี่ย 5-6 ล้านคน โดยจัดบริการรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้านที่สุด ใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในเขต และดูแลเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายตั้งแต่โรงพยาบาลเล็กสุดไปจนถึงศูนย์เชี่ยวชาญ ขณะนี้ทุกเขตดำเนินการเสร็จแล้ว จากนี้ไปประชาชนที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวจะสามารถเข้าถึงบริการสะดวกและใกล้บ้านขึ้น โดย สธ.ได้พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเบื้องต้นได้ และมีระบบส่งต่อถึงศูนย์เชี่ยวชาญสาขาโรคหัวใจภายในเครือข่ายได้ ตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะลดอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันให้มีไม่เกิน 20 ต่อแสนประชากร
“ขณะนี้ สธ.มีศูนย์เชี่ยวชาญรักษารวม 35 แห่ง จากที่มีทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนรวม 60 แห่ง ในการจัดบริการแต่ละศูนย์ฯได้พัฒนาระบบการดูแลรักษาขั้นต้นแก่ผู้ป่วยเมื่อป่วยฉุกเฉิน ในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเครือข่าย มีระบบการส่งข้อมูลของผู้ป่วยหนักไปศูนย์เชี่ยวชาญที่จะส่งตัวไปก่อนผู้ป่วยไปถึง เพื่อแพทย์วางแผนการรักษาก่อน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาที่ศูนย์โรคหัวใจได้ทันที ไม่ต้องไปเริ่มที่แผนกผู้ป่วยนอกและแผนกฉุกเฉินเหมือนที่ผ่านมา โดยมีรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ซึ่งจัดเป็นห้องไอซียูเคลื่อนที่นำส่งโรงพยาบาลซึ่งจะช่วยผู้ป่วยรอดชีวิตและปลอดภัยมากขึ้น ในรายที่ไม่ฉุกเฉินจะได้รับคิวรักษาโดยแพทย์เชี่ยวชาญเร็วขึ้น” รมว.กระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า