โรคลมพิษป้องกันได้

ที่มา : กรมการแพทย์


โรคลมพิษป้องกันได้ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ชี้ลมพิษต้องพยายามหาสาเหตุของโรคให้พบ หลีกเลี่ยง ป้องกัน รักษาถ้ามีอาการรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจติดขัดต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด


นายแพทย์สมศักดิ์   อรรฆศิลป์    อธิบดีกรมการแพทย์   กล่าวว่า   โรคลมพิษ เป็นโรคผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีอาการคัน เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขน ขา แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นจะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่นๆ ได้ โรคลมพิษแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ลมพิษเฉียบพลัน จะเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์ เป็นลมพิษที่พบได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอาหาร ยา  การติดเชื้อ 2. ลมพิษเรื้อรัง จะเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องกัน เกิน 6 สัปดาห์ เกิดจากอาหาร ยา การติดเชื้อไวรัส  แบคทีเรีย  เชื้อราหรือมีพยาธิ โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ อิทธิพลทางกายภาพ เช่น ความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด  แสงแดด การออกกำลังกาย การแพ้สารที่สัมผัส เช่น การแพ้ยาง  ขนสัตว์  พืช หรืออาหารบางชนิด ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ต่อต่อย มะเร็ง แต่มีข้อสังเกต คือแต่ละผื่นอยู่นานมักเกิน 24 ชั่วโมง


แพทย์หญิงมิ่งขวัญ   วิชัยดิษฐ   ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง  กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  อาการเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง  ไม่มีขุยขอบเขตชัดเจน มีขนาดต่างๆ ได้ตั้งแต่ 0.5 – 10 เซนติเมตร เกิดขึ้นเร็ว และกระจายตามตัว แขน ขา รอบตา ปากมีอาการแดง บวม ร้อน คัน บางครั้งอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วย ผื่นมีหลาย รูปแบบ เช่น กลม รี วงแหวน วงแหวนหลายวงมาต่อกัน หรือเป็นรูปแผนที่ รายที่เป็นรุนแรงจะบวมมาก โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า และลำคอ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม บางราย  มีอาการปวดท้อง แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมี อาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่พบได้น้อยมาก การรักษาโรคลมพิษ พยายามหาสาเหตุ และรักษาหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ ถ้าสามารถทำได้   ผู้ป่วยจะหายจากโรคลมพิษ ให้ยาต้านฮีสตามีน ยาต้านฮีสตามีนมีหลายชนิด หลายกลุ่มมีทั้งออกฤทธิ์ยาว ทั้งที่ง่วงและไม่ง่วง การเลือกใช้ยาต้านฮีสตามีนตัวใด รวมทั้งการรับประทานยาต้านฮีสตามีนระยะยาวควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ยาอื่นๆ ในกรณีผู้ป่วยมีอาการมาก ผื่นไม่ค่อยตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีน อาจพิจารณาใช้ยาอื่นที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างและหลั่งสารสื่อกลางในผิวหนังที่เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดผื่นลมพิษ ผู้ป่วยลมพิษ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ แพทย์จะหาสาเหตุจากการซักประวัติผู้ป่วย การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตามความจำเป็น ซึ่งหากพบสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคลมพิษ และหลีกเลี่ยงหรือรักษาสาเหตุนั้นได้ จะทำให้โรคลมพิษสงบลงหรือหายได้ คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีผื่นลมพิษที่ผิวหนัง งดสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ต้องนำยาต้านฮีสตามีนติดตัวไว้เสมอ เมื่อเกิดอาการจะได้ใช้ได้ทันที ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด ไม่แกะเกาผิวหนัง เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังอักเสบจากการเกา รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากยาทำให้ง่วง ซึม จนรบกวนการทำงาน ควรบอกแพทย์เพื่อเปลี่ยนยา ถ้าเป็นลมพิษที่มีอาการรุนแรง มีอาการแน่น หายใจไม่สะดวก หรือเป็นเรื้อรัง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน


 

Shares:
QR Code :
QR Code