โรคลมชักอันตรายอาจทุพพลภาพ

โรคลมชักอันตรายอาจทุพพลภาพ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมการแพทย์ เผย อันตรายโรคลมชัก เป็นเหตุให้เกิดภาวะทุพพลภาพ หากปล่อยอาจไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้


นายแพทย์ สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบมาก และเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะทุพพลภาพ ทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ และอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งตนเองและผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยเกิดอาการชักระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งโรคลมชัก เกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์สมองอย่างเฉียบพลัน โดยมีการปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อมกัน จากจุดใดจุดหนึ่ง หรือทั้งหมด อาการชัก อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้น เช่น ไข้ อดนอน ดื่มหรือหยุดแอลกอฮอล์ ความเครียดทางร่างกายหรือจิตใจที่รุนแรง เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีอาการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคลมชักได้ อาทิ การติดเชื้อในสมอง อุบัติเหตุต่อสมองระยะเฉียบพลัน หรือมีไข้สูงในเด็ก ซึ่งปัจจัยบ่งชี้ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพิ่มขึ้น เช่น ผู้สูงอายุ ชักแบบภาวะชักต่อเนื่อง เกร็งกระตุกทั้งตัว


ซึ่งหลักการรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก คือ ต้องรักษาผู้ป่วยให้หยุดชักก่อนกลายเป็นภาวะชักต่อเนื่อง โดยปฏิบัติ ดังนี้ 1.หยุดอาการชักให้เร็วที่สุด 2.ป้องกันการชักซ้ำ 3.บำบัดหรือกำจัดสาเหตุที่แก้ไขได้ 4.ป้องกันและบำบัดภาวะแทรกซ้อน


ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยหากเกิดอาการชัก ควรเปิดทางหายใจให้โล่ง นอนหงาย และตะแคงหน้า คลายเสื้อผ้าให้หลวมให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก ป้องกันอันตรายจากส่วนของร่างกายกระแทกกับของแข็ง ห้ามใช้ไม้กดลิ้นหรือวัตถุใดๆ สอดเข้าไปในปาก หากมีไข้สูง ให้เช็ดตัวลดไข้ ห้ามให้ยากิน เพราะอาจสำลักได้ และโทรศัพท์แจ้ง 1669 หรือรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งนี้ โรคนี้ป้องกันและรักษาได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ ไอ.เอ็น.เอ็น.

Shares:
QR Code :
QR Code