โรคมะเร็งในสตรีสูงวัยภัยเงียบที่ป้องกันได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
ยิ่งอายุมากขึ้น สุขภาพร่างกายย่อมเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา โรคภัยต่างๆ เริ่มถามหามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน หัวใจ ที่เป็นสิ่งที่คู่กับวัยที่สูงขึ้นตลอด
ไม่เว้นแม้แต่ "โรคมะเร็ง" ภัยร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยในอันดับต้นๆ ที่แม้จะเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยและไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งอายุมาก ความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งก็มากขึ้นด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์เฉพาะทางสาขามะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้างานศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ผู้มีประสบการณ์การรักษามะเร็งมาหลายสิบปีเปิดเผยไว้ว่า โดยหลักแล้วยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะกับวัย 50 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ที่เราคาดกันว่าเป็นเพราะเซลล์พันธุกรรมเปลี่ยนไปทำให้เจอเชื้อมะเร็งมากขึ้น
แต่แม้จะมีมะเร็งกว่า 100 สายพันธุ์ แต่ก็ยังมีชนิดที่คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ นพ.ณัฐวุฒิกล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันมะเร็งและองค์กรระดับนานาชาติ พบว่าผู้หญิงไทยเป็นโรคมะเร็งและเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย โดยอันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งเต้านม พบผู้ป่วยรายใหม่ 13,653 รายต่อปี และรักษาได้ 5,092 ราย อันดับ 2 ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก พบผู้ป่วยใหม่ 8,184 ราย และรักษาได้ 4,513 ราย ขณะที่อันดับ 3 ได้แก่มะเร็งรังไข่ พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,689 ราย และรักษาได้ 1,431 ราย และอันดับ 4 มะเร็งมดลูก ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรายใหม่ 1,852 ราย และรักษาได้ 512 ราย ถือได้ว่าเป็นอัตราการรักษาหายที่ดีที่สุด เสียชีวิตเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ซึ่งเหตุผลที่มะเร็งเต้านมและมดลูกรักษาได้ดีก็เพราะส่วนใหญ่มักเจอในระยะแรก ทำให้รักษาทัน ส่วนปากมดลูกและรังไข่นั้น คนไข้มักเจอในระยะที่ 3-4 ทำให้การรักษาทำได้ช้าจึงมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่านั่นเอง
ซึ่งมะเร็งแต่ละชนิดก็จะมีอาการและการตรวจรักษาที่แตกต่างกันไป
เริ่มต้นจากมะเร็งเต้านม นพ.ณัฐวุฒิเผยว่า ถือเป็นมะเร็งที่เจอบ่อยในคนไทย แต่การตรวจคัดกรองทำได้ดีขึ้น สาเหตุจริงๆ ยังไม่แน่ชัด บางส่วนเกิดขึ้นจากพันธุกรรม ผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไปเริ่มมีความเสี่ยง จากสถิติแล้วมักเป็นมากขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจุบันนี้เราสามารถตรวจคัดกรองได้แม่นยำจากเครื่องเมมโมแกรมที่บอกผลได้ 99% อาการของโรคมะเร็งเต้านมนี้แบ่งออกเป็น 4 ระยะ เมื่อตรวจพบความผิดปกติแล้วต้องเข้าสู่การกำหนดระยะของมะเร็งเต้านมและรักษาตามขั้นตอน โดยในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้ ก้าวไกลไปมากขึ้น เราสามารถผ่าตัดเอาเชื้อมะเร็งออกโดยเก็บเต้านมไว้ได้ โดยการฉีดสีไปเอาต่อมน้ำเหลืองบางต่อมออกมา ไม่ต้องตัดเต้านมทั้งสองข้าง เมื่อนำผลไปตรวจแล้วพบว่าระยะไหน ก็สู่กระบวนการฉายแสงและเคมีบำบัดเพิ่มเติมต่อไป
ขณะที่มะเร็งปากมดลูกที่พบผู้ป่วย รายใหม่มากเป็นอันดับ 2 ของโลกนั้น นพ.ณัฐวุฒิ ให้ข้อมูลว่า มะเร็งปากมดลูกนี้เป็นมะเร็งชนิดเดียวที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยสตรีสูงวัย แต่มีโอกาสเกิดขึ้นกับสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วทุกคน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี จากประสบการณ์พบในเด็กอายุ 17 ปี ไปจนถึง 92 ปี ก็เพิ่งได้รับการผ่าตัดไป อาการที่แสดงคือมีเลือดออกผิดปกติ ไม่ว่าหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือน แต่ในระยะแรกนั้นจะไม่แสดงอาการอะไรชัดเจน ทำให้ส่วนใหญ่กว่าคนไข้จะพบก็อยู่ในระยะ 2-3 ยากต่อการรักษาให้หายขาด เสียชีวิตเกือบทุกคน
"ความจริงแล้วมะเร็งปากมดลูกในต่างประเทศไม่ติด 1 ใน 10 ของสถิติด้วยซ้ำ เพราะเป็นชนิดเดียวที่พบสาเหตุชัดเจนและมีวัคซีนได้ผล 100% นอกจากนี้ยังมีระบบการตรวจ คัดกรองที่ดีและแม่นยำ อย่างการตรวจเป๊ป สเมียร์คู่กับหาเชื้อไวรัส และด้วยมีระยะจากการติดเชื้อไปสู่โรคมะเร็งปากมดลูกกินเวลานาน 5-10 ปี ทำให้หากเจอระยะที่เรียกว่าก่อนมะเร็งปากมดลูก ก็สามารถตัดห่วงไฟฟ้าจี้ไฟเย็นหายได้ โดยไม่ต้องผ่ามดลูก" นพ.ณัฐวุฒิเผยสำหรับมะเร็งรังไข่ นพ.ณัฐวุฒิกล่าวว่า ถือเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการคนไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้นหลังมีคนดังเป็นโรคนี้ สาเหตุที่แท้จริงยังไม่แน่ใจ 10-20% เกิดจากพันธุกรรม อาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อย่างบุหรี่ แป้งฝุ่น แต่ไม่ถือเป็นสาเหตุได้ และยังไม่มีวิธีการคัดกรอง อาการที่พบคือคลำได้ก้อน อืดท้องแน่นท้อง การไม่แสดงอาการนี้เองทำให้คนไข้ 75% เจอเชื้อระยะที่ 4 และรักษาไม่หาย คำแนะนำในการตรวจคัดกรองคือการตรวจภายในเป็นประจำ ซึ่งการอัลตราซาวด์ช่องคลอดก็จะได้ผลดีสำหรับผู้หญิงที่มีหน้าท้องหนา หาก้อนได้ยาก
"มะเร็งมดลูก" ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของผู้หญิงสูงวัยที่มักเจอในประเทศพัฒนาแล้ว แม้จะมีสาเหตุไม่แน่ชัดแต่จะเป็นมากขึ้นตามความอ้วนเนื่องจากร่างกายสร้างสารฮอร์โมนไปกระตุ้นให้โพรงมดลูกหนาตัวและเป็นมะเร็งในที่สุด อาการที่สำคัญคือเลือดออกในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งหญิงไทยจะมีอายุเฉลี่ยวัยหมดประจำเดือนที่ 49-50 ปี แบ่งออกเป็น 4 ระยะ และมีการรักษาเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ
สุดท้าย "มะเร็งลำไส้" สาเหตุไม่ชัดเจน อายุ 50 ปีขึ้นไปถือว่ามีความเสี่ยง อาการของโรคคือถ่ายเล็กลง อุจจาระเป็นมูกเลือด ที่กว่าจะแสดงอาการระยะของโรคก็กระจายไปสู่ระยะหลังๆ แล้ว ทำให้ยากต่อการรักษา จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ เอกซเรย์ดู หากมีญาติป่วยโรคนี้ก็ให้มาตรวจคัดกรองเร็วกว่าปกติ
นพ.ณัฐวุฒิเผยอีกว่า ธรรมชาติของการรักษามะเร็งคือ เมื่อพบโรค เข้าสู่การกำหนดระยะมะเร็ง 4 ระยะ และรักษา ในระยะแรกสามารถผ่าตัดได้ โดยปัจจุบันเราได้นำเอาเทคโนโลยีการส่องกล้องผ่าตัดมาใช้กับโรคมะเร็งได้แล้ว จากที่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องตัดเชื้อมะเร็งออก ข้อดีคือแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไวกว่าแบบเดิม คนไข้ใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลเพียง 7 วัน ซึ่งได้นำมาใช้กับการผ่าตัดมะเร็งเกือบ 100% แล้ว ส่วนในระยะต่อไปคือการฉายแสงกับเคมีบำบัด ที่อยู่ที่คอร์ส หากต้องทำเคมีบำบัด 6 ครั้ง ก็กินเวลาถึง 6 เดือน จากประสบการณ์เองแม้ว่าเจอระยะที่ 4 จะมีโอกาสหายได้แต่เจอน้อยมากเพียง 1-2 รายใน 10 ปี ที่คนไข้ต้องโชคดีมาก ตอบสนองกับยาได้ดี เพราะการรักษามะเร็งคือต้องให้เซลล์มะเร็งที่พบหายไปหมดจากร่างกาย หากเหลือเพียง 1 เซลล์ก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกอยู่ดี
"นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ยิ่งเจอเร็วยิ่งมีโอกาสหายขาด ยิ่งสูงอายุขึ้นย่อมต้องกังวลต่อปัจจัยอื่นๆ ที่เปลี่ยนไป อย่างโรคแทรกซ้อน ความดัน เบาหวาน และความทนต่อยาที่น้อยกว่าคนหนุ่มสาว การรักษาบางอย่างก็มีผลข้างเคียงได้มากกว่า แผลหายช้าและติดเชื้อได้ง่ายกว่าเป็นเรื่องธรรมดา จึงจำเป็นต้องตรวจคัดกรองเป็นประจำ มีความเสี่ยงอะไรมากให้ตรวจสิ่งนั้น สูบบุหรี่ให้ตรวจปอด เป็นต้น"
สุดท้าย นพ.ณัฐวุฒิยังได้เผยเคล็ดลับในการปลอดภัยไร้มะเร็งไว้ว่า สิ่งสำคัญคือกายสบาย ใจสบาย รักษาสุขภาพให้ห่างไกลโรคเช่นเดียวกับโรคอื่นๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นตรวจคัดกรองเป็นประจำนั่นเอง