โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เพิ่มขึ้นในเด็กไทย

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เพิ่มขึ้นในเด็กไทย thaihealth


แฟ้มภาพ


แพทย์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เตือนเด็กไทยประสบปัญหาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง พบได้บ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันแตกต่างจากอดีต ทารกกินนมแม่ลดลง ปัญหาเด็กทารกแพ้นมวัวเพิ่มขึ้น นิยมบริโภคอาหารประเภทจั๊งค์ฟู๊ด (Junk Food) ซึ่งเป็นอาหารที่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางโภชนาการ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตว่าผิวของลูกนั้นแห้ง มีผื่นแดงๆ หรืออักเสบ โดยเฉพาะบริเวณแก้ม หน้าผาก หากพบอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุ และยับยั้งการลุกลามได้อย่างทันท่วงที โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic czema) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งพบได้บ่อยในเด็ก


สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่นอน อาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมของพ่อหรือแม่ ถ้าทั้งพ่อและแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ทั้งสองคน ลูกจะมีโอกาสเกิดผื่นผิวหนังภูมิแพ้สูงกว่าเด็กคนอื่น ด้านปัจจัยสิ่งแวดล้อมก็มีผลเช่นกัน โดยเฉพาะเป็นเหตุกระตุ้นให้ผื่นเห่อมากขึ้น เช่น ความร้อน ความเย็น อากาศที่แห้ง สารระคายเคือง ผงซักฟอก หรืออาหารบางชนิด เช่น นมวัว หรือโรคติดเชื้อโดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถกระตุ้นให้ผื่นเห่อมากขึ้นได้ และสาเหตุสุดท้ายอาจมาจากภูมิคุ้มกัน หรือภูมิต้านทานของเด็ก


ลักษณะอาการของโรค คือ ผิวหนังจะแห้งจนเป็นขุย จะพบผื่นบริเวณ แก้ม แขน ขา หรือ ข้อมือ ข้อเท้า เด็กๆ จะรู้สึกคันเป็นอย่างมาก การเกาจะช่วยให้หายคันได้ระยะหนึ่ง แต่จะทำให้ผิวหนังถลอก สารระคายเคืองและสารก่อภูมิแพ้จึงซึมสู่ผิวหนังได้มากขึ้น แล้วเด็กก็จะคันมากขึ้นกว่าเดิม และเริ่มต้นวงจรของการ คัน – เกา – ผื่นแพ้


พ่อและแม่ต้องหมั่นดูแลด้วยการอาบน้ำ ทายาให้ความชุ่มชื่น ทายาลดการอักเสบ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และตัวกระตุ้น เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ยา หรืออาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย อย่างเช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ถั่ว อาหารทะเล แป้งสาลีและไข่ ให้ลูกกินยาลดอาการคัน และคอยระวังการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เลือกใช้เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงจากควันบุหรี่ กำจัดฝุ่นภายในบ้าน หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ที่มีขน อย่าให้เด็กน้อยอยู่ในที่ร้อนจัด หรือมีความชื้น


ยาที่ใช้ทาภายนอกนั้น คุณหมอจะให้เป็นยาทาสเตียรอยด์ ใช้ในรายที่มีผื่นอักเสบ เห่อ แดง คัน ซึ่งยาชนิดนี้มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับอ่อน ปานกลาง และแรง แต่ต้องไม่ใช้ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ผลข้างเคียงเฉพาะที่จะทำให้ผิวบาง ขนยาว ถ้าใช้เป็นบริเวณกว้างและติดต่อเป็นเวลานาน อาจดูดซึมและกดการเจริญเติบโต ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้ยาควรอยู่ภายใต้ความควบคุมของแพทย์


 


 


ที่มา :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย ศ.คลินิก พญ.ศรีศุภลักษณ์ สิงคาลวณิช อุปนายกด้านบริการทางการแพทย์และสังคม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

Shares:
QR Code :
QR Code