โรคซึมเศร้า รักษาได้ด้วยแพทย์และความเข้าใจ

ที่มา :  เว็บไซต์แนวหน้า


โรคซึมเศร้า รักษาได้ด้วยแพทย์และความเข้าใจ thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคซึมเศร้า (Depression) ปัจจุบันพบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีปัจจัยจากภาวะแวดล้อมต่างๆ หรือปัญหาทางชีวภาพของร่างกายที่ส่งให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานไม่ปกติ ผลิตอารมณ์และมุมมองในแง่ลบ


ข่าวดี คือ โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาและการรักษาทางจิตใจ บุคคลรอบตัวควรเปิดใจและพยายามหาทางช่วยเหลือโดยไม่ซ้ำเติมผู้ป่วย เห็นอกเห็นใจ และไม่เอามุมมองของตนเองเข้าไปตัดสินคนไข้


ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงสาเหตุของโรคจากคลังสุขภาพ รพ.จุฬาฯ ว่า โรคซึมเศร้า เกิดจากปัจจัยต่างๆประกอบร่วมกัน เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม พบโรคซึมเศร้าสูงในญาติของผู้ป่วยซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือติดสารเสพติด, โรคทางกายต่างๆ ที่มีผลกับสมองโดยตรง เช่นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์และฮอร์โมนอื่นๆ โดยเฉพาะฮอรโมนของเพศหญิง และโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตเช่น ความพิการที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น โรคปวดเรื้อรังโรคมะเร็ง โรคภูมิต้านทานตนเอง และยาบางชนิดที่สามารถรบกวนสมอง หรือสารเสพติดต่าง ๆนอกจากนี้ยังมี ปัจจัยด้านจิตสังคมและลักษณะนิสัยพื้นฐาน เช่น ความคาดหวังสูง กดดันตนเอง มองตัวเองในแง่ลบมองโลกในแง่ร้าย มีปัญหาแล้วเก็บกดไม่ปรึกษาใครเอาชีวิตไปขึ้นกับบุคคลอื่น เป็นต้น


อาการของโรคจะมีอาการแสดงออกในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป โดยมีความรู้สึกหดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่อหน่าย จิตใจไม่สดชื่นแจ่มใสซึ่งอาการเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นติดต่อกันเกือบทุกวัน เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ในบางรายอาจมีความคิดอยากตาย หรือฆ่าตัวตายร่วมด้วย


สำหรับอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ มีความเศร้าซึมหรือกังวล หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่ายตลอดเวลาดูไม่มีความสุข ส่วนด้านความคิด มีความคิดในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย สิ้นหวังไร้แรงจูงใจ ด้านพฤติกรรม จะรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรงไปทำอะไร ทำงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ด้านร่างกาย มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกแล้วนอนต่อไม่ได้ น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้การใช้ชีวิตบกพร่องลง เสียประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงาน รวมถึงเกิดปัญหาปฏิสัมพันธ์จากการที่เปลี่ยนไปแทบเป็นคนละคนนี้


ส่วนวิธีการรักษาโรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ โดยมีวิธีการรักษาหลักๆ สองวิธี คือวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยา โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษา แต่ละชนิดแตกต่างกัน และสามารถทำร่วมกันได้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์และเภสัชกรรม ในปัจจุบันทำให้ยารักษาโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อตับไต หรือทำให้ติดยาอย่างที่เคยเชื่อกันอีกวิธี ผู้ป่วยสามารถเข้าพบจิตแพทย์ด้วยตัวเองเพื่อวิเคราะห์อาการของโรคและรับคำปรึกษาโดยคนใกล้ชิดของผู้ป่วยก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องเข้าใจและคอยให้กำลังใจผู้ป่วยโดยไม่ซ้ำเติมหรือมองว่าอาการที่ผู้ป่วยแสดงออกเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยคิดหรือสร้างขึ้นมาเอง และใช้คำพูด หรือพฤติกรรมต่างๆ บั่นทอนกำลังใจของผู้ป่วย เพราะที่จริงแล้วย่อมไม่มีใครไม่ปรารถนาชีวิตที่สงบสุข เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษา ฟื้นฟูสภาพจิตใจจะกลับมาเชื่อมั่นมีความหวังก็สามารถใช้ชีวิตดูแลตนเองได้


ทั้งนี้ สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่แผนกจิตเวช อาคาร ภปรชั้น 12 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร. 0-2256-4000, 0-2256-5180, 0-2256-5182

Shares:
QR Code :
QR Code