โรคฉี่หนู

ที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


เตือนช่วงหน้าฝนระวังป่วยโรคไข้ฉี่หนู thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) โรคฉี่หนู หรือไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สามารถติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ เป็นต้น แต่พบมากใน “หนู” ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคและเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อที่สำคัญ


ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน สัตว์ที่ตั้งท้องมักจะมีอาการแท้ง สัตว์เหล่านี้อาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่จะมีการติดเชื้อที่ท่อไต และถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อได้นานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรืออาจตลอดชีวิตสัตว์ เชื้อที่ถูกขับออกมาจะมีชีวิตอยู่ได้นานหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อมต่อเชื้อโรคนี้ ส่วนใหญ่มักพบการระบาดในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว และมีน้ำขัง


การติดต่อมาสู่คนอาจติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับปัสสาวะหรืออวัยวะที่ปนเปื้อนเชื้อของสัตว์นำโรคโดยตรง หรือติดต่อทางอ้อมโดยคนไปสัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อจะเข้าทางผิวหนังหรือเยื่อบุที่มีรอยแผล ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ชาวนา ชาวไร่ คนงานโรงฆ่าสัตว์ กรรมกรขุดลอกคูคลอง สัตวแพทย์ เป็นต้น


เนื่องจากการกำจัดเชื้อโรคให้หมดไปจากสิ่งแวดล้อม หรือการกำจัดสัตว์ที่เป็นพาหะให้หมดไปเป็นไปได้ยาก ดังนั้นแนวทางการควบคุมป้องกันโรคโดยการลดโอกาสไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อโดยตรง และการปรับสภาพแวดล้อม รวมถึงการลดจำนวนสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ

Shares:
QR Code :
QR Code