โรคจากคอมพิวเตอร์…อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

เสี่ยงกับโรคร้าย ร่างกายทรุดโทรม

 

โรคจากคอมพิวเตอร์…อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

            คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนชีวิตของคนเราดีขึ้นทั้งเรื่องของการเรียน การทำงาน หรือการติดต่อสื่อสารก็จริงแต่ว่าการที่เราเข้าไปคลุกคลีกับเจ้าคอมพิวเตอร์มากขึ้นเท่าไร สุขภาพร่างกายของเราก็ยิ่งทรุดโทรมเร็วมากขึ้นเท่านั้น หรือที่ทางการแพทย์ เรียกว่า โรคจากคอมพิวเตอร์

           

            ทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ที่ใช้เวลากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆนั้น มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน…..โรคความผิดปกติจากอุบัติภัยสะสม เป็นโรคที่เกิดแล้วไม่ได้รุนแรง แต่อาการของโรคนั้นจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป อาการก็จะค่อยๆ เริ่มจากการปวดคอ ปวดไหล่ ปวดข้อมือและหลัง เนื่องจากนั่งอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ซึ่งจะมีอาการแทรกซ้อนขึ้นมาคือ อาการชาที่มือซึ่งจะมีอยู่ 3 ระดับ ระดับแรกจะเป็นแล้วหายเมื่อพักสักครู่ก็จะหาย ระดับที่สองคือ เป็นยาวไปถึงตอนกลางคืน ระดับที่สามก็จะเป็นตลอดเวลาพักแล้วก็จะไม่หาย

 

            สำหรับการรักษานั้น ก่อนอื่นเลยต้องปรับพฤติกรรมการทำงานของตัวคุณเอง คืออาจพักบ้าง หรือเดินเล่นไปมาสัก 5-10 นาทีเมื่ออยู่ที่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน แต่ถ้าเมื่อไรที่อาการเริ่มหนักขึ้นก็ควรที่จะรีบไปพบแพทย์แล้วเล่าถึงอาการและประวัติการทำงานให้ละเอียด เพราะแพทย์จะได้รักษาอาการได้อย่างถูกต้อง

 

            สำหรับโรคต่อมา ชื่ออาจฟังดูแปลกหูไปสักหน่อย นั้นก็คือโรคที่เกิดจากการทำงานซ้ำซาก ซึ่งนักกายภาพบำบัดอธิบายว่า พบมากในผู้ที่ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน มักจะมีอาการชาข้อมือ หรือที่เรียกว่า กลุ่มอาการอุโมงค์ข้อมือ เกิดเนื่องจากการใช้งานซ้ำๆ ที่บริเวณข้อมือ ทำให้เอ็นรอบๆ ข้อมือหนาตัวขึ้นแล้วไปกดเส้นประสาทที่วิ่งผ่าน ทำให้เกิดอาการชาและเจ็บได้ ซึ่งการรักษานอกจากทางกายภาพ โดยใช้ความร้อนทำให้บริเวณที่จับหนาตัวขึ้นนิ่มลงและยืดมันออก ทำให้อุโมงค์ที่เส้นประสาทลอดผ่านขยายตัวได้ แต่ถ้าผู้ที่เป็นมากๆ จะมีอาการชาจนกระทั่งกล้ามเนื้ออ่อนแรงลงไป การผ่าตัดคือ วิธีรักษาที่ดีที่สุด

 

 โรคจากคอมพิวเตอร์…อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

 

            โรคอดทนรอไม่ได้ อาการของโรคนี้จะเกิดกับคนที่เล่นอินเตอร์เน็ตหลายๆ ครั้ง ที่หน้าเว็บไซต์เปิดโหลดช้า หรือการดาวน์โหลดต้องใช้เวลานาน ทำให้ผู้ใช้หงุดหงิด กระวนกระวาย ใจร้อน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆ อาจทำให้เป็นโรคประสาทได้เหมือนกัน….รุนแรงน่าดูสำหรับโรคนี้

 

            การรักษาที่ดีคือ ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้มาก หรือหากิจกรรมอื่นๆ ทำไประหว่างการนั่งรอโหลดหน้าเว็บไซต์หรือดาวน์โหลดงานต่างๆ เช่น การเล่นเกม หรืออ่านหนังสือควบไปด้วย เพราะถ้าควบคุมอารมณ์ไม่ได้งานก็จะไม่เดิน เพื่อนร่วมงานก็อาจจะหนีหน้าเอาได้

 

            ถัดมาเป็นโรคภูมิแพ้สารทริเพนิล ฟอสเฟต หรือสารเคมีที่ออกมาจากจอคอมพิวเตอร์ เมื่อจอคอมพิวเตอร์ร้อนขึ้น สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น คันจมูก คัดจมูก และปวดหัว ถ้าที่ทำงานของคุณค่อนข้างจะแคบ โอกาสที่จะเกิดโรคภูมิแพ้ยิ่งมีมากขึ้น สำหรับการรักษาโรคนี้คงยากสักหน่อย สำหรับผู้ที่อยู่ในบ้านหรือออฟฟิศที่มีพื้นที่จำกัด แต่อาจจะเปิดพัดลมเป่าจอคอมพิวเตอร์ไปด้วยในระหว่างที่ใช้ จัดห้องให้อากาศถ่ายเทสะดวกที่สุดก็น่าจะพอหลีกเลี่ยงได้บ้าง หรือหาต้นกระบองเพชรต้นเล็กๆ มาวางไว้ใกล้ๆ เพราะต้นกระบองเพชรจะช่วยดูดรังสีได้

 

            โรคที่กล่าวมาข้างต้นหลายคนคงไม่คุ้นหูกันนัก แต่ถ้าเห็นโทษที่ได้รับแล้ว ดูจะไม่คุ้มกันเลยถ้าต้องเป็น ต่อมาก็คือ อาการท้องร่วงเพราะคีย์บอร์ด สาเหตุที่คีย์บอร์ดทำให้เกิดอาการจู๊ดๆ คือ แป้นคีย์บอร์ดมักจะมีแบคทีเรียสะสมอยู่ แล้วหลายๆ คนมักจะรับประทานอาหารหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีคีย์บอร์ดตั้งอยู่ แบคทีเรียเหล่านั้นอาจจะปะปนในอาหารได้ การป้องกันอาการของโรคนี้ก็ง่ายๆ เพียงหมั่นทำความสะอาดคีย์บอร์ดด้วยผ้าเนื้อนุ่มชุบน้ำหมาดๆ มาเช็ด ทำความสะอาดยิ่งบ่อยเท่าไร ก็เสี่ยงต่ออาการท้องร่วงน้อยลงไปเท่านั้น แต่ก่อนจะเช็ดคีย์บอร์ด อย่าลืมถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์ก่อนล่ะ เพราะอาจจะเปลี่ยนจากอาการจู๊ดๆ เป็นโดนไฟดูดได้!!!

 

            อีกเรื่องปัญหาเกี่ยวกับสายตา การใช้คอมพิวเตอร์นานเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน จะทำให้ตาขาดน้ำหล่อเลี้ยง เกิดอาการระคายเคืองได้ และอาการที่ตามมาคือ ตาพร่าและมองไม่เห็นชั่วคราว นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการไมเกรนพ่วงมาด้วย เพราะเมื่อตาเกิดความเครียด กล้ามเนื้อตาจะบีบรัดเลนส์ตาจนเมื่อยล้า เมื่อเกิดอาการแล้วรักษาอย่างง่ายๆ คือควรพักสายตาทุกๆ 10 นาที ด้วยการเปลี่ยนไปมองวัตถุที่อยู่ไกลออกไปสัก 20 ฟุต มองสัก 2-3 นาที แล้วค่อยทำงานต่อ และปรับระดับจอคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าระดับสายตาในแนวระนาบประมาณ 20 องศา, ระยะในการมอง ควรอยู่ระหว่าง 50-70 ซ.ม., เก้าอี้ปรับระดับได้ หรือโต๊ะปรับระดับความสูงได้ ควรนั่งหลังตรง หลังพิงพนักพิง

โรคจากคอมพิวเตอร์…อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม 

            และใครที่อยากคลายความเมื่อยล้าให้กับดวงตาตนเอง ก็มีวิธีง่ายๆ มาแนะนำกัน คือ นั่งลงในท่าสบายๆ หายใจเข้าออกช้าๆ ถูฝ่ามือทั้งสองให้พออุ่น นำฝ่ามือประคบบนดวงตา โดยหลับตาลง อย่าให้ฝ่ามือแนบชิดกับดวงตามากเกินไป นั่งนิ่งๆ ในท่าดังกล่าว ประมาณ 1 นาที ค่อยๆ เอามือออกช้าๆ จะช่วยให้รู้สึกสบายตาขึ้น

 

            ขอแถมอีกหน่อยว่า การกินผักผลไม้ช่วยรักษาอาการจากโรคคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน ถ้าปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนล้า เกร็ง ตึง ก็ควรรับประทาน บร็อคโคลี่ หรือปลาที่กินทั้งกระดูก เนื่องจากมีแคลเซียมที่มีความจำเป็นในการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ทำให้อาการเกร็งผ่อนคลายลง หรืออาจจะเลือกทานผักโขม, ถั่วเปลือกแข็ง, เมล็ดทานตะวัน, จมูกข้าวสาลีก็สามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้เช่นกัน ถ้าตาอ่อนล้า ตาพร่ามัว ควรทานผักคะน้า, ผักปวยเล้ง, พริก, มันเทศ, ผักหวานบ้าน, ตำลึง เพราะมีลูเทอินและซีแซนทิน ช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการจอตาเสื่อม นอกจากนี้แครอทและฟักทองก็ช่วยได้ เพราะมีเบต้าแคโรทีนที่ช่วยป้องกันตาเสื่อม

 

            สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคคอมพิวเตอร์ได้ดีที่สุดคือ การทำงานหรือสนุกกับคอมพิวเตอร์ในระยะเวลาที่พอเหมาะ ดื่มน้ำสะอาดเยอะๆ และหาเวลาออกกำลังกายเป็นประจำ เพียงแค่นี้ไม่ว่าโรคอะไรก็เข้ามาสู่ตัวของเราได้ยากแล้ว…

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : ภราดร เดชสารTeam content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Update: 20-10-09

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code