โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ที่มา: กรมการแพทย์
แฟ้มภาพ
สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เตือนโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อย่าละเลยเพราะอันตรายถึงชีวิต หากมีอาการควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ภายใน 4 – 6 ชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มมีอาการ โอกาสรอดชีวิตมีสูง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นโรคที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและมักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และผู้ที่สูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสูงกว่าคนปกติ สำหรับอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ได้แก่ เจ็บหน้าอกรุนแรง คล้ายมีอะไรมาบีบรัด โดยเจ็บที่ใต้กระดูกด้านซ้ายอาจร้าวไปถึงขากรรไกรและแขนซ้าย เจ็บนาน 15 – 30 นาที เหงื่อแตก คลื่นไส้ หายใจลำบาก หน้ามืด และอาจหมดสติ จึงต้องรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ภายใน 4 – 6 ชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพราะหากมาพบแพทย์เร็วเท่าใด โอกาสรอดชีวิตจะมีมากขึ้นเท่านั้น กรณีที่แย่ที่สุด คือ อาการหัวใจหยุดเต้น ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตก่อนไปถึงโรงพยาบาล ดังนั้นผู้ป่วยควรจะบอกแก่ญาติหรือผู้ใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าวให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มักพบในผู้สูงอายุชายอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และหญิง อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวมากกว่าผู้หญิง 3 – 5 เท่า ในการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดเข้าทางเส้นเลือดหรือขยายหลอดเลือดทางสายสวน โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพของตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารประเภทผักให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน หรืออาหารที่มีคอเลสเทอรอลสูง เช่น น้ำมันสัตว์ ไข่แดง งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้