โมเดล 3C สร้างวิถีใหม่ริมคลองบางมด

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


โมเดล 3C สร้างวิถีใหม่ริมคลองบางมด thaihealth


แฟ้มภาพ


สมัยก่อน ใครๆ ก็มักเปรียบเทียบ'บางกอก' ประหนึ่ง 'เวนิสแห่งโลกตะวันออก' เพราะมีคูคลองเชื่อมต่อกันมากมาย จนเมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไปตามเส้นทางถนนที่ตัดผ่าน ดูคลองและการสัญจรทางเรือกลายเป็นเรื่องล้าสมัยและเลือนรางจากชีวิตผู้คนไปตามลำดับ


ทั้งๆ ที่ 'แม่น้ำลำคลอง' เป็นทรัพยากรที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่โบราณ แต่ในปัจจุบันคลองหลายสายกลับถูกลดความสำคัญลง เหลือหน้าที่เพียงท่อระบายน้ำ แต่จะดีแค่ไหน หากสามารถพลิกคืนความคึกคักให้กับริมคลอง โดยการกำหนดเป็นแผนพัฒนาเส้นทางคมนาคม เปลี่ยนพื้นที่ริมคลองให้เป็นทางจักรยานที่สะดวกปลอดภัย สามารถใช้ในการสัญจรในชีวิตประจำวันได้


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กลุ่ม Can Do Team สำนักงานเขตทุ่งครุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และครัววิชชาลัยในสวนบางมด เปิดตัวโครงการ "การพัฒนาพื้นที่ริมคลองเป็นทางจักรยาน เพื่อสรรค์สร้างการเดินทางและเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน หรือ 3C Project" เพื่อสนับสนุนให้เกิดเส้นทางจักรยานเลียบคลอง ที่จะเป็นทางเลือกของการเดินทาง อีกทั้งยังส่งเสริมให้คนไทย เดิน วิ่ง ปั่น เพื่อสุขภาวะที่ดี


โมเดล 3C สร้างวิถีใหม่ริมคลองบางมด thaihealthโมเดล 3C สร้างวิถีใหม่ริมคลองบางมด thaihealth


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เส้นทางจักรยานเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาพที่สสส.ให้ความสำคัญ และสนับสนุน เช่นที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการเมืองปั่นได้เมืองปั่นดี โดยนำยุทธศาสตร์ 3 ส ได้แก่ "1 สวน 1เส้น 1 สนาม" ที่มีอยู่แล้วในทุกจังหวัด อาทิ สนามกีฬา สนามบิน หรือ สนามของหน่วยราชการ พัฒนาให้เป็นเส้นทางปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน และจักรยานเพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืนโดยมี 15 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมเป็นพื้นที่นำร่อง


"พื้นที่คลองบางมด มีจุดเด่นคือวิถีชีวิตริมน้ำ การพัฒนาเส้นทางจักรยานนี้ไม่เพียงแต่ทางกายภาพที่กลับมางดงามแต่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชนสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน  และผู้สัญจรในอีกหลายมิติ หากโครงการนี้สามารถต่อยอดไปยังคูคลองทั่วกรุงเทพฯ ที่มีเส้นทางกว่า 2,604 กิโลเมตร จะทำให้สมญานามในอดีตที่เรียกว่ากรุงเทพฯ ว่า 'เวนิสตะวันออก' ก็จะกลับมาอีกครั้ง" ดร.สุปรีดา กล่าว


ด้าน ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า 3C Project มาจาก คำว่า Canal (คลอง) Cycling (จักรยาน) และ Community (ชุมชน) เกิดจากการรวมตัวของคนรักคลอง รักชุมชน รักเมืองและรักจักรยาน ที่อยากเห็นการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน มีคุณภาพชีวิต และสุขภาพดี เหมือนกับที่ทาง สสส. ได้พยายามรณรงค์สร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีผ่านโครงการต่างๆมากมาย


ดร.กัญจนีย์ อธิบายต่อว่า หากมองทรัพยากรเส้นทางคลองต่างๆ ของกรุงเทพฯ จะพบว่าเราสามารถสร้างโครงข่ายเส้นทางจักรยานที่เชื่อมโยงถึงกันได้หมด เช่น คลองบางมด เขตทุ่งครุ ที่เชื่อมต่อมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เดิมมีเส้นทางจักรยานเลียบคลองอยู่แล้ว 3-4 กม. โดยทีมงาน 3C Project ได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจทำให้พบว่า หากเพิ่มเส้นทางต่อไปประมาณ 7 กม. จะสามารถขี่จักรยานเลียบคลองนี้ ไปยังรถไฟฟ้าสถานีวุฒากาศได้โดยไม่ต้องผ่านถนนใหญ่ โดยที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่การลงพื้นที่ระดมสมองร่วมกับสำนักงานเขตทุ่งครุ และผู้นำชุมชน เพื่อต่อเติมเส้นทางออกแบบราวกั้นพร้อมจุดพักริมทาง


นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากศิลปินอาสา ที่มาช่วยสร้างสรรค์งานศิลปะริมคลองบางมด ได้แก่ 'แพร' ณิชนันทน์ ชูวิทย์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนรุ่งอรุณ กับผลงานภาพวิถีชีวิตริมคลองบนกำแพงหลังวัดพุทธบูชา พร้อมด้วยงาน Pixel Art ริมกำแพงหมู่บ้านพฤษาวิลล์ ผลงานโดย สรรเสริญ เหรียญทอง และ ยังมีงานเซรามิคบนกำแพงยาวกว่า 100 เมตรสร้างสรรค์โดย ครูแจ๋ แห่ง Atpotterhouse & Friends


ทั้งนี้ การสร้างเส้นทางจักรยานเลียบคลองดังกล่าว ทั้งการสัญจรในการไปทำงานไปโรงเรียน เกิดกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันจากการ เดิน วิ่งปั่น สร้างสุข ภาวะ และไม่ก่อมลภาวะ รวมถึงสามารถส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และเปลี่ยนเรียนรู้ วิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ ให้คนต่างถิ่นและชาวต่างชาติได้เข้ามาสัมผัส เกิดร้านค้าริมคลอง เป็นอีกแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง


"โครงการนี้ อยู่ในระยะเวลาการดำเนินการ โดยเชื่อว่าหากทำสำเร็จจะสามารถแก้ปัญหาการจราจร ที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ได้ในระดับที่ดี และคงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถขยายต่อยอดไปสู่คลองอื่นๆทั่วกรุงเทพฯ" ดร.กัญจนีย์ กล่าวทิ้งท้าย"


จะดีแค่ไหนหากสามารถคืนความคึกคักให้ริมคลองเป็นทางจักรยานที่สพดวกปลอดภัยใช้ในการสัญจรได้

Shares:
QR Code :
QR Code