โมเดล ‘ลดอุบัติเหตุ’ เมืองลับแล

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


โมเดล 'ลดอุบัติเหตุ' เมืองลับแล thaihealth


"อุตรดิตถ์" เป็นจังหวัดเล็กที่มีสถิติการตายจากอุบัติเหตุทางถนนสูง โดยตลอดปีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกว่า 4,800 ครั้ง บาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาล 1,400 กว่าคน เสียชีวิตปีละกว่า 100 คน โดยปี 2561 ตายแล้ว 148 คน


ธนสมบัติ สงวนรัตนเกษ เลขานุการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า อุตรดิตถ์มีประชากรประมาณ 4.5 แสนคน แต่มีประชากรแฝงเยอะ เพราะมีมหาวิทยาลัยในจังหวัดทำให้มีประชากรจากที่อื่นเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องไม่เกิน 10 ต่อแสนประชากร เท่ากับอุตรดิตถ์จะมีผู้เสียชีวิตได้ไม่เกิน 45 ศพ แต่จากสถิติที่เกิดขึ้นถือว่า มีผู้เสียชีวิตเกินหลายเท่า ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการดื่มกินแล้วออกมาขับขี่ ยิ่งตามชนบทยิ่งมีปัญหา เพราะมีการต้มเหล้าดื่มกินกันเอง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป


การขับเคลื่อนเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน จ.อุตรดิตถ์นั้น ธนสมบัติ กล่าวว่า มีหลายมาตรการและอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยทางถนนถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะมีการบูรณาการข้อมูล ทำให้คนในพื้นที่เห็นปัญหาและเข้ามาร่วมแก้ไข ซึ่งเกิดจากผลักดันโดยแผนงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเด่นๆ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ มี 3 เรื่อง คือ การปิดจุดตัดของถนนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ที่สี่แยกเกษตรศิลป์ อ.เมือง สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุเจ็บตายลงได้ การสร้างจิตสำนึกการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังนิสัยความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมถึงการตั้งด่านชุมชนเพื่อสกัดการเกิดอุบัติเหตุ


สำหรับการปิดจุดตัดลดอุบัติเหตุนั้น พ.ต.ท. เจริญ แดงเรือง รองผู้กำกับการด้านจราจร สภ.เมืองอุตรดิตถ์ กล่าวว่า บริเวณสี่แยกเกษตรศิลป์หรือสี่แยกหนองบัว เป็นจุดตัดระหว่างถนนเจษฎาบดินทร์ และถนนสมานมิตรและซอยหนองบัว ซึ่งที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 25 ครั้ง ตายปีละ 1 คน เนื่องจาก ถ.เจษฎาบดินทร์ มีลักษณะเป็นเนินขึ้นลง ทำให้มีการใช้ความเร็ว โดยขาขึ้นใช้ความเร็วกันถึง 70-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทางลงใช้ความเร็วกันถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่คนในชุมชนจากฝั่งถนนสมานมิตรและซอยหนองบัวก็จะใช้สี่แยกดังกล่าวในการเดินทาง จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและรุนแรง บางครั้งรุนแรงถึงกับกระทบร้านค้าที่อยู่ข้างสี่แยกเลยก็มี โดยอันตรายที่ถึงกับเสียชีวิตมักเกิดขึ้นที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งการแก้ปัญหาได้มีการทำงานผ่าน สอจร. และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอำเภอเมือง (ศปถ.) โดยเลือกแก้ปัญหาโดยการปิดจุดตัดนี้เสีย


โมเดล 'ลดอุบัติเหตุ' เมืองลับแล thaihealth


"การแก้ปัญหาได้ใช้การตั้งแนวป้องกันหรือแบริเออร์ที่กลางสี่แยก เพื่อไม่ให้รถจากถนนสมานมิตรและซอยหนองบัววิ่งตัดกับรถที่มาจากถนนเจษฎาบดินทร์ และห้ามกลับรถบริเวณหัวท้ายของแบริเออร์ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรเลย เพราะมีแบริเออร์อยู่แล้ว เพียงแต่ลงทุนในการทำป้ายสัญญาณไฟเตือนให้ระมัดระวังเพิ่มเท่านั้น ส่วนที่ไม่เลือกใช้วิธีการตั้งสัญญาณไฟจราจร เนื่องจากติดกับแยกไฟจราจรทั้งสองฝั่งเกินไป ประมาณ 1 กิโลเมตรกว่าๆ เท่านั้น และต้องลงทุนสูง 2-3 ล้านบาท ซึ่งสัญญาณไฟจราจรควรห่างกันอย่างน้อย 3 กิโลเมตร อีกทั้งต้องคำนึงถึงลักษณะการจราจรด้วย ซึ่งในช่วงเช้าและเย็นนั้นการจราจรของถนนเจษฎาบดินทร์นั้นมีมาก รถติดเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะเป็นทางไปโรงพยาบาล หน่วยงานราชการและโรงเรียน หากมีการติดสัญญาณไฟจราจรอีกก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาจราจรมากขึ้น" พ.ต.ท.เจริญ กล่าว


พ.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า การตั้งแบริเออร์จึงเป็นตัวเลือกที่ลงตัวที่สุด และได้มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับทราบ และขอให้คนจากทางถนนสมานมิตรเลี่ยงใช้เส้นทางอื่น ซึ่งอ้อมไปอีกไม่มาก โดยพบว่า สามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้โดยปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุเพียง 3 ครั้งเท่านั้น โดยเป็นการเกิดจากคนที่ตั้งใจจะฝ่าฝืนจริงๆ เช่น ไปกลับรถแบริเออร์ เป็นต้น แต่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจนเจ็บตาย อย่างไรก็ตาม เพื่อความเข้มข้นขึ้นได้มีการกำหนดให้จุดดังกล่าวใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังดำเนินการของบประมาณปี 62 ในการติดกล้องตรวจจับความเร็ว ส่วนจุดตัดอื่นในเขตเทศบาลนั้นบริเวณแยกยุติธรรม ใช้การตั้งแบริเออร์เป็นวงเวียน ส่วนอีก 7 จุดไม่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ


โมเดล 'ลดอุบัติเหตุ' เมืองลับแล thaihealth


เช่นเดียวกับการตั้งด่านชุมชนในหมู่บ้านหนองคำฮ้อย นายดำรง คงคณะ ผู้ใหญ่บ้านหนองคำฮ้อย ระบุว่า จะมีการสลับสับเปลี่ยนสถานที่ตั้งด่านชุมชนไปเรื่อยๆ เพื่อตรวจเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจราจร เช่น ไม่สวมหมวก ดูมึนเมาขณะขับขี่ เป็นต้น โดยจะเชิญมาเข้าด่านและขอดูใบขับขี่ ซึ่งด่านชุมชนจะพยายามทำให้เขาอยู่กับเรานานที่สุด อย่างคนเมาเพื่อให้ระดับแอลกอฮอล์เขาลดลง แม้เราจะไม่มีเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ก็ตาม ซึ่งด่านชุมชนจะไม่มีการลงโทษ แต่จะใช้การตักเตือนและให้ความรู้ว่าอย่าทำพฤติกรรมเสี่ยง แต่สุดท้ายแล้วเขาจะไปต่อหรือไม่ก็อยู่ที่การตัดสินใจของเขา ซึ่งก็จะเตือนว่าหากพ้นจากด่านชุมชนไป หากไปเจอด่านตรวจจริงๆ ก็จะผิดกฎหมายถูกจับปรับ ซึ่งหลายคนเมื่อไม่ฟังแล้วพอไปเจอกับบทลงโทษตามกฎหมายก็ค่อยมานึกได้ว่าควรทำตามที่แนะนำ แต่ส่วนใหญ่จากการที่ตั้งด่านชุมชนมา ก็พบว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือดี จะเป็นคนนอกพื้นที่ที่ขับผ่านเข้ามามากกว่า


ส่วนการสร้างวินัยตั้งแต่เล็กนั้น วารุณี จันทร์กลัด ครูผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอรุณรุ่ง ระบุว่า การสร้างวินัยต้องเริ่มตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะการสวมหมวกนิรภัย จึงบรรจุเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอนด้วย โดยออกระเบียบให้มีการซื้อหมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์ในการเรียนการสอน ซึ่งทางผู้ปกครองจะต้องเสียเงินค่าซื้อหมวกนิรภัยเมื่อส่งลูกเข้ามาเรียนพร้อมอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ซึ่งศูนย์เราติดต่อหาซื้อหมวกมาให้ โดยจะเน้นย้ำให้เด็กพกหมวกมาตลอด แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้ใช้มอเตอร์ไซค์มาส่งลูกก็ตาม ทั้งนี้ การเรียนการสอนจะทำให้เด็กคุ้นเคยกับการสวมหมวกนิรภัย เขาก็จะตระหนักทุกครั้งในการที่จะขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ว่าจะต้องสวมหมวก เรียกว่าอาศัยการทำให้ชิน แม้เขาจะไม่รู้ว่าหมวกมีไว้เพื่ออะไร และมีการประเมินว่าผู้ปกครองที่พาเด็กมาส่งมีการสวมหมวกนิรภัยให้ลูกหรือไม่ ซึ่งบางครั้งผู้ปกครองที่ดื้อมากก็มี แต่ก็อาศัยพูดบ่อยจนรำคาญหรือยอมทำตาม


โมเดล 'ลดอุบัติเหตุ' เมืองลับแล thaihealth


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การลดอุบัติเหตุนอกจากการขับเคลื่อนในระดับชาติแล้ว ยังต้องสร้างความร่วมมือและการดำเนินงานในพื้นที่ด้วย ซึ่ง สสส.จะลงมาทำงานในการสร้างการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ภายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในการลดอุบัติเหตุเจ็บตาย อย่าง จ.อุตรดิตถ์ ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่หน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญ และมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน จนสามารถลดอุบัติเหตุทางถนนลงได้ ถือเป็นตัวอย่างการทำงานในแนวราบระดับจังหวัด จึงเกิดความยั่งยืน เชื่อว่าหากขยายโมเดลการทำงานนี้ไปพื้นที่อื่นจะลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลงได้มาก

Shares:
QR Code :
QR Code