โมเดลแบ่งปัน ‘พื้นที่ว่างในเมือง’ สู่ ‘เกษตรกรรมปลอดสารพิษ’
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจาก สสส.
"พื้นที่ว่างในเมือง" ถูกถาง และพรวนดิน ด้วยแนวคิดการ "แบ่งปัน"ของเจ้าของที่ โดยได้นำพื้นที่ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์แบ่งปันให้กับคนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ "ปลูกผักปลอดสารพิษ"
ซึ่งจริง ๆ แล้วแนวคิดแบ่งปันแบบนี้มีในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต แต่ด้วยภาวะปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ในเมืองล้วนถูกจับจอง ทำให้แนวคิดแบ่งปันแบบนี้เลือนหายไป แต่ก็หวนกลับมาอีกครั้งจากการทำ โครงการ "สวนผักคนเมือง" ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สนับสนุนให้คนเมืองปลูกผัก และมีที่พึ่งสำหรับตนเองทางด้านอาหาร…
สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นที่เกษตรกรรมลดลง คาดการณ์ว่า ในอนาคตอาหารที่คนเมืองบริโภคต้องนำเข้าจากพื้นที่ชนบทถึงร้อยละ 80 และผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ครัวเรือนเพื่อการซื้ออาหาร
แต่หากพื้นที่ว่างในเมืองสามารถผลิตอาหารได้ คนเมืองที่ไม่ได้มีฐานะดีก็จะสามารถเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะเดียวกันก็จะช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง ฟื้นฟูระบบนิเวศของเมือง รวมถึงเกิดการช่วยเหลือกันของคนในสังคมเมือง สร้างสังคมแบ่งปัน ทั้งระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ ด้วยการประสานประโยชน์ทางที่ดิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ และแนวคิดการแบ่งปันที่ดินเพื่อการทำเกษตรในเมืองใหญ่มีมานานแล้ว จุดประสงค์ดั้งเดิมก็เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และความไม่มั่นคงทางอาหารในเมือง โดยเฉพาะเมืองซึ่งเติบโตทางอุตสาหกรรม มีการย้ายถิ่นเข้าเมืองของผู้คนจำนวนมาก
ในประเทศไทย จากการสำรวจพบว่า มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่มีศักยภาพ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นพื้นที่ของส่วนราชการ หรือเอกชน และนำมาสู่การขับเคลื่อนของกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่เมืองให้ดีกว่าเก่า
ดร.อมรา ปฐภิญโญบูรณ์ ผู้จัดการโรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ เล่าว่า ได้นำพื้นที่แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งไม่สามารถที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างใด ๆ ในโรงเรียน มาทำเป็นพื้นที่สีเขียว แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้ให้เปล่าประโยชน์ โดยได้ร่วมกันออกแบบพื้นที่ ให้มีทั้งข้าว ผัก และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็ก ๆ คุณครู รวมถึงผู้ปกครอง ผ่านการลงมือทำเกษตร
ตอนแรกก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสนใจ ครูบางคนก็รู้สึกว่ามาทำงานเป็นครู ไม่ใช่อยากมาทำการเกษตรแบบนี้ แต่เมื่อได้ลองลงมือทำจริง ๆ ได้เห็นพืชผักออกดอกออกผล เด็ก ๆ ในห้องเรียนได้ลงมาเรียนรู้จากสวนผักแห่งนี้ เช่นเรื่องสีธรรมชาติ เลยทำให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น
สวนผักในโรงเรียนยังเชื่อมต่อผู้ปกครองที่สนใจให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเปิดโอกาสให้ครอบครัวที่สนใจมาเช่าแปลง เพื่อทำเกษตรในพื้นที่แห่งนี้ด้วยกันได้ ราคาแปลงละ 350 บาทต่อเดือน ซึ่งมีครอบครัวที่สนใจมาเช่า เพราะส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่ลูกไม่ค่อยกินผัก และพบว่า พอได้ปลูกผักเอง โดยลูกมีส่วนช่วย ก็ทำให้ลูกหันมากินผักมากขึ้นกว่าเดิม
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า เริ่มทำการเกษตรจากพื้นที่เล็ก ๆ ที่หน้าตึกโดม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เคยเป็นแค่ลานหิน มีพุ่มไม้ดอก เช่น ดอกเข็ม ต้นหนวดปลาหมึก และสนามหญ้าที่เห็น เปลี่ยนมาเป็นแลนด์มาร์คใหม่ด้วยการปรับพื้นที่ให้เป็น สวนผักออร์แกนิก แทนเพราะผักปลอดสารมักหาซื้อไม่ค่อยได้ หรือมีราคาแพง เราเลยมาปลูกเอง แปลงผักของธรรมศาสตร์ ไม่ใช่แปลงผักที่มีไว้ปลูกผักโชว์ แต่เป็นแปลงไว้บริโภคจริง ลงมือทำจริง เพื่อสร้างกระแสของผู้คนที่ต้องการจะเปลี่ยนพฤติกรรม เนื่องจากทุกวันนี้เรากำลังสุ่มเสี่ยงต่อการบริโภคอาหารปนเปื้อน และนอกจากการปลูกแล้ว ยังขยายผลไปถึงการร่วมมือกับร้านอาหาร ซึ่งจะมีเมนูอาหารจากผลิตผลที่ถูกปลูกในแปลงที่ว่านี้ เช่นเดียวกับการเปิดตลาดผัก และอาหารปลอดสารพิษ ที่วิทยาเขตรังสิต
ส่วน จุมพล มุริสิทธิ นายก อบต.แคนน้อย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร สรุปบทเรียนในพื้นที่ว่า ได้จัดสรรพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่ทำการเกษตร และมีไว้ทำกินเป็นหลัก โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแนวคิดที่ว่านี้คือ การแบ่งปันประโยชน์จากพื้นที่
"กติกาคือ ต้องทำการเกษตร โดยไม่ใช้สารเคมีเท่านั้น และต้องทำเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก หรือถ้าจะขายต้องเป็นการขายราคาถูกให้กับกลุ่มสมาชิก โดยการคัดเลือกผู้เข้ามาใช้พื้นที่ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 30 ครอบครัว จะคัดเลือกจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งชุมชนด้วยกันเองจะรู้ดีว่าครอบครัวไหนมีความต้อง การใช้ที่ดิน และมีไว้เพื่อทำการเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง" จุมพล ทิ้งท้าย
การ "แบ่งปัน" และจัดสรร "พื้นที่ว่างซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์" เพื่อให้ "เป็นพื้นที่เพาะปลูก" สร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม และทำให้สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้นได้ ด้วย "ผักปลอดสารพิษ" "สร้างสังคมแบ่งปันทั้งระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ"