โมเดลเลิกบุหรี่ ‘กลุ่มชาติพันธุ์ ‘จ.แม่ฮ่องสอน

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


โมเดลเลิกบุหรี่ 'กลุ่มชาติพันธุ์ 'จ.แม่ฮ่องสอน thaihealth


ธรรมนูญสุขภาวะ สู่โมเดลเลิกบุหรี่ 'กลุ่มชาติพันธุ์ ' จ.แม่ฮ่องสอน ใช้สื่อเป็นรูปภาพให้ความรู้โทษของบุหรี่


"เริ่มสูบบุหรี่มาตั้งแต่ปี 2514 เวลาไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ยุง แมลงจะไม่มารบกวนเรา ปวดฟันก็เคี้ยวยาเส้น เวลามีงานเจ้าภาพต้องมีบุหรี่มาเลี้ยงแขก" เย็น ศรีมูล ชาวบ้าน ต.ห้วยโป่ง วัย 58 ปี อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน บอกเล่าวิถีชุมชนของที่นี่ซึ่งสาเหตุการติดบุหรี่เพราะวิถีพื้นบ้าน ซึ่งบุหรี่ที่คนในพื้นที่ห้วยโป่งสูบเป็นบุหรี่ คิโย ใบตอง บุหรี่มวนเอง


นายอดิศร ปันเซ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ห้วยโป่ง กล่าวว่า พื้นที่ตำบลห้วยโป่ง มี 15 หมู่บ้าน จากการสำรวจมีผู้สูบบุหรี่จำนวน 702 คน และในรอบ 3 ปีย้อนหลังมีผู้ป่วยจากมะเร็งปอดมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากโรคความดันโลหิตสูง และมีผู้เสียชีวิต 6-7 รายต่อปี ซึ่งสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ เพราะอาการเริ่มป่วยก่อนเป็นมะเร็ง จะเป็นโรคหอบต่อด้วยถุงลมโป่งพอง เมื่อรักษาต่อเนื่องจะมีอาการแทรกซ้อนตามมาคือปอดติดเชื้อและมีก้อนมะเร็ง


โมเดลเลิกบุหรี่ 'กลุ่มชาติพันธุ์ 'จ.แม่ฮ่องสอน thaihealth


รพ.สต.ห้วยโป่ง จึงได้ริเริ่มโครงการ "ชุมชนเข้มแข็ง ร่วมใจห่างไกลบุหรี่ ด้วยธรรมนูญสุขภาวะ" ภายใต้โครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้ชาวบ้านตระหนักถึงภัยของบุหรี่ นำไปสู่ตำบลปลอดบุหรี่โดยเริ่มจากคณะกรรมการขับเคลื่อนตำบลปลอดบุหรี่  จัดเวทีรับฟังความเห็นของชุมชนเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม จากนั้นคัดเลือกแกนนำหมู่บ้านละ 3 คน เพื่อเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนในพื้นที่ ประชุมร้านค้า หาบเร่ แผงลอย เข้มงวดจำหน่ายบุหรี่ตามกฎหมาย จัดคลินิกเลิกบุหรี่ใน รพ.สต.ห้วยโป่ง เพื่อให้ชาวบ้านที่สนใจเลิกบุหรี่เข้ามาขอคำแนะนำในการเลิกบุหรี่


คลินิกเลิกบุหรี่มีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ เครื่องวัดค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอด ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชาวบ้านทราบผลทันทีว่ามีคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอดมากน้อยเพียงใด จะนำไปสู่การเลิกบุหรี่ที่ง่ายขึ้น เพราะเครื่องมือทางการแพทย์มาช่วยยืนยันอีกทาง ในคลินิกเลิกบุหรี่เน้นการใช้สมุนไพร และการนวดกดจุดเลิกบุหรี่ซึ่งผู้นวดเป็น อสม.ในชุมชนที่ทำงานด้วยใจอาสาผนึกพลังกำลังกับหมอและพยาบาล


นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรม เดินรณรงค์ในวันสำคัญต่าง ๆ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเลิกบุหรี่ การออกเสียงตามสายให้ความรู้เรื่องบุหรี่ทุกวันเสาร์ ขอความร่วมมือเจ้าภาพงดเลี้ยงแขกด้วยบุหรี่และยาเส้นใน งานต่าง ๆ  จัดประกวดเรียงความ และคัดเลือกบุคคลต้นแบบ มอบใบประกาศร้านค้าที่เลิกขายบุหรี่จำนวน 3 ร้าน เป็นต้น


โมเดลเลิกบุหรี่ 'กลุ่มชาติพันธุ์ 'จ.แม่ฮ่องสอน thaihealth


ผอ.รพ.สต.ห้วยโป่ง กล่าวถึงอุปสรรคการทำงาน ว่า ด้วยสภาพพื้นที่ของ ต.ห้วยโป่ง หลาย ๆ หมู่บ้าน อยู่บนเขาบนดอย การเดินทางจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน  จึงทำได้ให้แกนนำที่จัดตั้งขึ้นไปประชาสัมพันธ์ก่อน หลังจากหมดหน้าฝนจึงขึ้นไปทำงานต่อ  และยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ กะเหรี่ยง และม้ง จึงต้องมีการแปลสารจากภาษาไทยไปเป็นภาษาของชุมชนนั้น ๆ


รศ.ดร.มณฑา เก่งการพินิช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนชนบทบางพื้นที่ติดบุหรี่เพราะเรื่องวัฒนธรรมประเพณี ดังนั้นวิธีการทำงานจึงปรับมาเป็นเชิงรุก โดยเฉพาะพื้นที่มีผู้สูงอายุและชาติพันธุ์โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอนมีเรื่องชาติพันธุ์และชนเผ่าจำนวนมาก และสิ่งสำคัญคือการใช้สื่อเป็นรูปภาพ การเป่าปอด ก็ดี ทำให้เขารู้ว่าปอดเขาเป็นเช่นไรสื่อดังกล่าวจะทำให้ชาวบ้านเข้าใจโทษของบุหรี่ได้ง่ายขึ้น


"มาตรการเลิกสุบบุหรี่โดยให้ชุมชนเป็นฐานจะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึง และประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง โดยเราไม่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ระดับประเทศ เพียงแต่ให้กฎระเบียบของชุมชนดำเนินควบคู่กันไป ซึ่งตัวอย่างของ พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น จ.นครราชสีมา ภายใน 1 ปีสามารถทำให้ผู้เลิกสูบบุหรี่ถาวรไปแล้ว 2,000 กว่าคน และมีผู้ลดปริมาณการสูบลงอีกว่า 7,000 คน  ครอบคลุมพื้นที่ 40 ตำบลทั่วทั้งจังหวัด" รศ.ดร.มณฑา กล่าว


พลังของชุมชนที่มีศักยภาพจัดการตนเองได้ทำให้ชุมชนได้ตระหนักในปัญหาของเขา ผลลัพธ์คือจะช่วยสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง และสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ