โภชนบำบัดต้านมะเร็งกินให้เป็น ‘ยา’

เน้นอาหารที่มีประโยชน์

 

โภชนบำบัดต้านมะเร็งกินให้เป็น ‘ยา’

          อัตราการเกิดโรคมะเร็งยังมีสูงขึ้นทุกๆ ปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ใน 3 นับเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่มีผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะตัวผู้ป่วยเอง และคนใกล้ชิด การรักษามะเร็งนอกจากต้องทุกข์ทรมานจากอาการของโรค ยังมีภาวะแทรกซ้อน จากการรักษา มีปัญหาเรื่องการดูแล ทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ต่ำลง และส่งผลถึงสภาพจิตใจในที่สุด

 

          ภาวะการเจ็บป่วยการรับประทานอาหารเป็นอีกปัจจัยเสริมรองมาจากการรักษาด้วยยา แต่ในขณะเดียวกันการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารจะเป็นยาได้ อาหารที่เสริมสร้างสุขภาพนั้นอยู่ในกลุ่มผัก ผลไม้ รับประทานเนื้อสัตว์ไขมันต่ำแต่พอดี และลดไขมัน ซึ่งหลักนี้อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างหากพิจารณาในผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยมะเร็ง เนื่องจากการรักษามะเร็งนั้นต้องใช้ทั้งการฉายแสง เคมีบำบัด และผ่าตัด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลข้างเคียงมากทั้งนั้น ดังนั้นอาหารจะต้องถูกปรับเปลี่ยนตามสภาวะร่างกายและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

 

          ดร.กมล ไชยสิทธิ์ นักกำหนดอาหารและนักเภสัชวิทยา กล่าวแนะนำว่า หลักโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งนั้น โดยทั่วไปจะกำหนด อาหารพลังงานสูง โปรตีนสูง โดยเฉพาะการเพิ่มส่วนของไข่กับผู้ป่วย และควรทำอาหารให้ปริมาณน้อยแต่มีพลังงานและคุณค่าทางอาหารสูง เช่น ซุปข้น เป็นต้น

 

          เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการวางแผนการรักษา ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน โดยอาจจะพิจารณาเป็นอย่าง ๆ หรือใช้ร่วมกันหลายวิธี ซึ่งการรักษาด้วยวิธีเหล่านั้นมุ่งหวังที่จะทำลายเซลล์มะเร็ง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เซลล์ปกติจะได้รับความเสียหายด้วย และเนื่องจากเซลล์ปกติถูกทำลายจึงอาจเกิดอาการข้างเคียงตามมา ซึ่งอาการเหล่านี้มักส่งผลต่อการรับประทานอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้น้อย ตัวอย่างได้แก่ ความอยากอาหารลดลง, น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่ม, มีแผลในช่องปาก, ปากแห้ง, การรับรสและกลิ่นเสีย, คลื่นไส้อาเจียน, ท้องเสีย, ท้องผูก, เมื่อยล้า, ซึมเศร้า

 

          การดูแลทางโภชนาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั้น มุ่งหวังเพื่อการป้องกันภาวะการขาดสารอาหารอันจะนำไปสู่โรคแทรกซ้อนได้ง่ายลดการเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาแต่ละวิธีเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย

 

          โดยการได้รับอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอาจจะได้ 3 วิธี คือ ทางปาก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยควรได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนด้วยการรับประทานอาหารพลังงานสูงและโปรตีนสูง ทางสายให้อาหาร โดยทั่วไปจะให้สายให้อาหารทางจมูกเข้าสู่กระเพาะอาหาร เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีภาวะไม่มีความอยากอาหาร หรือไม่สามารถกลืน หรือดื่มอาหารได้ วิธีนี้จะทำให้อาหารเข้าสู่กระเพาะได้โดยตรง และ สามารถกำหนดพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการได้ สำหรับการได้รับอาหารทางสายบางกรณีอาจมีการให้ทางหน้าท้องโดยตรง ทางลำไส้และ ทางหลอดเลือดดำ การได้รับอาหารทางนี้จะเป็นการให้สารเหลวและสารอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีระบบทางเดินอาหารเสียหายอย่างรุนแรง เป็นการให้อาหารเข้าสู่เส้นเลือดดำโดยตรง หรือเรียกว่า Intravenous Hyperlimentation หรือ Total Parenteral Nutrition (TPN) ซึ่งมักจะใช้กับผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้ที่ระบบลำไส้มีปัญหาอย่างมากจนไม่สามารถรับอาหารทางระบบทางเดินอาหารได้เลย

 

          อย่างไรก็ตาม การได้รับอาหารทางปากเป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย ดังนั้น หากสภาพร่างกายฟื้นฟูดีแล้ว ควรกลับไปรับประทานอาหารทางปากเช่นเดิมและหยุดสายให้อาหาร เพื่อให้เป็นไปตามธรรมชาติและให้ระบบลำไส้ทำงานได้ตามปกติ

 

          ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารได้ถูกต้องและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ สามารถลดผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งได้ ดังนั้น จึงควรมีทัศนคติที่ดีต่อการรับประทานอาหารเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนก่อนทำการรักษาแล้ว จะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันเนื้อเยื่อส่วนที่ดีจากการถูกทำลายจากการรักษา และยังช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุดคือป้องกันการติดเชื้อได้ อย่ากังวลที่จะลองอาหารใหม่ ๆ เพราะบางครั้งอาหารชนิดใหม่ ๆ อาจจะมีรสชาติที่ดีสำหรับผู้ป่วยก็ได้ แต่หากมีความสงสัยควรปรึกษานักกำหนดอาหารหรือนักโภชนบำบัดก่อนส่วน อาหารว่าง ในระหว่างการรักษาร่างกาย ผู้ป่วยมักจะมีความต้องการพลังงานและโปรตีนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะช่วยในการป้องกันน้ำหนักตัวลดลง และฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยที่เกิดจากการรักษาได้เร็วขึ้น โดยอาหารว่างที่จะจัดขึ้นควรเป็นแบบที่ รับประทานง่ายมีพลังงานสูง รับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ควรรับประทานอาหารว่างพลังงานสูงที่มีโปรตีนสูง โดยเน้นการรับประทานให้หลากหลาย เช่น โยเกิร์ต  ธัญพืชใส่นม แซนด์วิช ซุปข้น

 

          จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทางชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมระดมความคิดและประสบการณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทุกวิถีทาง จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ เพื่อผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีกำลังกาย กำลังใจในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง  ผู้สนใจปรึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง สามารถขอรับข้อมูล พร้อมรับหนังสือประสบการณ์ผู้ป่วยได้ฟรี ที่ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง 213/16 อาคารอโศกทาวเวอร์ สุขุมวิท 21 (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 0-2664-0078-9.

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update:16-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code