โพลล์ชี้คนไทย 86% ต้องการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศ

สสส. เร่ง ดัชนีชี้วัดความสุข คาด 3 เดือนเห็นรูปธรรม

 

                 โพลล์ชี้คนไทย 86% ต้องการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศ สสส. เร่ง ดัชนีชี้วัดความสุขไทยจับมือ ก.พ.ร. สศช. สช. สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ เครือข่ายภาคประชาสังคม เร่งประสานเพื่อให้เกิดคณะทำงานเชิงยุทธศาสตร์คาด 3 เดือนเห็นรูปธรรม สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม ใช้จีดีพี วัดความก้าวหน้าของไทยไม่พอ ต้องครอบคลุม 3มิติ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เลขาธิการ ก.พ.ร.จุดประกายข้าราชการพันธุ์ใหม่ร่วมทีมขับเคลื่อนทางสังคม

 

โพลล์ชี้คนไทย 86% ต้องการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศ

                 เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) มาร่วมประชุม

 

                 โดยนายอภิรักษ์ กล่าวว่า สสส. กำลังทำโครงการความริเริ่มในการขับเคลื่อนประเทศผ่านดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง (National Progress Index Initiative : NPI) โดยจะมีความครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เร่งจัดตั้งคณะทำงานเชิงยุทธศาสตร์รูปแบบใหม่ที่มีความเป็นอิสระและต่อเนื่อง ประกอบด้วย 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ประชาสังคม และวิชาการ เพื่อสนับสนุนกลไกการกำหนดนโยบายสาธารณะบนฐานความรู้และความต้องการของประชาชนอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่แท้จริงโดยจะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อร่วมกันสร้างภาพฝันและกำหนดเป้าหมายว่าคนไทยต้องการให้สังคมไทยพัฒนาไปในทิศทางใด คาดว่าภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ จะเห็นกระบวนการทำงานที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

                 นายอภิรักษ์ กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นของสวนดุสิตโพล เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา พบ คนไทย 86% ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางใหม่ในการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน ขณะที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์อยู่ในระดับปานกลางอยู่ในอันดับที่ 87 ของโลก จากทั้งหมด 182 ประเทศ โดยในปี 2550 ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยอยู่ที่ 0.783 เพิ่มขึ้นจาก 27 ปีที่แล้ว 0.64 % สูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทยมีรายได้เฉลี่ยอันดับที่ 82 ของโลกอยู่ที่ 8,135 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี หรือราว 272,986 บาท

 

                  การพัฒนาดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศรูปแบบใหม่ หรือ NPI จะไม่ยึดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) มาเป็นวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักเหมือนในปัจจุบัน เพราะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางสังคมไทย แม้ตัวเลขจีดีพีจะสูงขึ้น แต่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยรวยขึ้น คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นหรือมีความสุขเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนายอภิรักษ์ กล่าว

 

                 ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ก.พ.ร. ร่วมสนับสนุนโครงการขับเคลื่อนประเทศด้วยดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริงอย่างเต็มที่ โดยหวังจะจุดประกายการพัฒนาแนวคิดการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ ก.พ.ร. มีบุคลากรที่มีคุณภาพหลายหลายสาขา โดยเฉพาะโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่า ข้าราชการพันธุ์ใหม่ได้จัดอบรมมาแล้วเป็นรุ่นที่ 3 มีบุคลากรเข้าร่วมโครงการราว 130 คน ที่จะพัฒนาเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ มีแนวคิด หลักการทำงานที่มีประโยชน์ พัฒนาระบบราชการให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งก.พ.ร.จะผลักดันให้คนเหล่านี้ข้าร่วมเป็นคณะทำงานเชิงยุทธศาสตร์ด้วย

 

 

 

 

 

ที่มา: สำนักข่าว สสส.

 

 

 

Update: 05-02-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code