โทรไม่ถือ??? โทรแล้วขับอันตราย
เลี่ยงไม่ได้ให้ใช้อุปกรณ์เสริม
8 พฤษภาคม 2551 กฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับห้ามโทรศัพท์ขณะขับรถ
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2551
มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถ
(9) ในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
มาตรา 157 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 43 (9) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท
โทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มมีการนำเข้าใช้และเปิดตลาดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2529 และถือว่าเป็นสินค้าที่มีอัตราการเติบโตทางการตลาดเร็วมาก เป็นที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัยเนื่องจากเป็นอุปกรณ์การสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว สามารถสื่อสารได้หลายแบบ เช่น สามารถส่งข้อความนั้น (SMS) ข้อความมัลติมีเดีย (MMS) และใช้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้
นอกจากนี้ยังสามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกที่ ราคาก็พอที่จะซื้อหาได้ด้วยความสะดวกสบายและคุณสมบัติพิเศษของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถใช้ไดทุกสถานที่ทุกเวลานี่เอง หน่วยงานที่เผ้าระวังป้องกันเกี่ยวกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่เล็งเห็นปัญหาว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับขี่ยานพาหนะไปด้วยนั้นเป็นการเสื่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากในการขับขี่ยานพาหนะผู้ขับขี่จำเป็นต้องใช้ประสาทสัมผัสในการมองเห็น การได้ยิน การทรงตัวรวมถึงควรมีสมาธิใช้สมองในการประมวลผล การรับรู้เหตุการณ์และการตัดสินใจ การใช้โทรศัพท์ในขณะขับขี่จะทำให้เสียสมาธิ มีการสั่งการและการตอบสนองช้าลง ดังนั้น จึงได้มีการศึกษาทบทวนข้อมูลในต่างประเทศที่มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มาก่อนประเทศไทยว่า การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่อย่างไรซึ่งก็พบว่ามีรายงานการวิจัยที่บ่งชี้ถึงอันตรายของใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถให้ได้รับรู้หลายประเด็นด้วยกันได้แก่ การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ
– มีการเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า
– ทำให้เสียสมาธิและทำให้เบรคช้าลง 0.5 วินาที
– ทำให้เกิด Inattention Blindness คือ มักจะพลาดการมองเห็นป้ายสัญลักษณ์และไม่สามารถจดจำรายละเอียด ได้แม้ว่าจะจ้องป้ายนั้นซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดในผู้ขับรถที่ฟังเพลงหรือพูดคุยกับผู้โดยสารที่ร่วมทางด้วย
– มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ขับขี่ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ยังพบว่า มีกว่า 40 ประเทศแล้วที่มีการออกกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ โดยแต่ละประเทศมีเงื่อนไขที่ต่างกันออกไป มีทั้งการห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถโดยเด็ดขาด และการห้ามใช้โดยที่ยกเว้นอนุญาติให้ใช้อุปกรณ์เสริมได้ ซึ่งประเทศที่มีกฎหมายควบคุมส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เสริมได้ตัวอย่างเช่น
ประเทศที่ห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเด็ดขาด (ทั้ง hand free และ hand held) ได้แก่ อิสราเอล ญี่ปุ่น และโปรตุเกส
ประเทศที่มห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถแต่อนุญาติให้ใช้อุปกรณ์เสริมได้ ได้แก่ บรูไน จีน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร โปแลนด์ เยอรมันนี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยี่ยม บราซิล บอสวานา ชิลี สาธารณรัฐเชค เดนมาร์ก อียิปต์ ฟินแลนด์ กรีซ ฮังการี อินเดีย ไอร์แลนด์ อิตาลี จอร์แดน เคนย่า มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฟิลิปินส์ โรมาเนีย แอฟริกาใต้ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ตรุกี เตอร์กเมนิสถาน และซิมบับเว
ในต่างประเทศมีการบัญญัติกฎหมายควบคุมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถมาแล้วกว่า 10 ปี สำหรับประเทศไทยเมื่อปี 2544 ได้เริ่มมีการนำข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอันตรายของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถมาเผยแพร่สู่สาธารณะให้รับรู้ และได้มีความพยายามที่จะผลักดันเสนอเพื่อขอปรับแก้กฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบกแต่ขณะนั้น ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายเนื่องจากเห็นว่าข้อมูลเหตุผลยังไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจีงได้ใช้ความพยายามรวบรวมข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมและเสนอปรับแก้ใหม่อีกครั้ง การดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2551 ที่บทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถยกเว้นกรณีที่ใช้อุปกรณ์เสริม จึงได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 ในสมัยรัฐบาล ฯพณฑ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และให้มีผลบังคับใช้หลังจาก 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั่นก็คือ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไป
ร่วมสร้างวัฒนธรรมเพื่อความปลอดภัย เมื่อท่านจะโทรศัพท์หาใคร ประโยคแรกก่อนการสนทนาให้ถามว่า “ขับรถอยู่หรือเปล่า
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:30-07-51