โซเชียลเทเลเมดิซีนร่วมดูแลสังคม แก้ปัญหาเชิงรุกรับมือโควิด-19
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังน่าเป็นห่วง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ทาง "พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์" ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงข่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทยไว้ตอนหนึ่งว่า มีการประเมินคร่าวๆ ว่าประเทศไทยพบสายพันธุ์เดลตาเมื่อเดือน มิ.ย. ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้เร็ว
"จึงคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มผู้ติดเชื้อ 2 เท่าใน 2 สัปดาห์ หากคาดการณ์ไปสัปดาห์หน้าอาจจะยังขึ้นได้ถึง 10,000 ราย จึงขอเรียนให้ทุกคนเน้นย้ำมาตรการส่วนตัว ลดการเคลื่อนย้าย เฝ้าระวังผู้สูงอายุ และเน้นย้ำการฉีดวัคซีน" พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ กล่าวไว้
ขณะที่ในบริบทของภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันรับมือกับวิกฤติโควิดระลอกนี้ พบว่าก็มีความร่วมมือกันของภาคเครือข่ายต่างๆ ที่จับมือกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการป้องกันระยะยาว
โดย พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนโครงการพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และรูปแบบการดูแลทางสังคม เสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแลจัดการทางสังคมสำหรับผู้ป่วยรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก โดยร่วมกับทีมนักสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมทั้งหมด 11 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนทำงานในระดับชุมชน
ซึ่งในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ภาคีเครือข่ายยังพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้พัฒนาโซเชียลเทเลเมดิซีน (Social Telemedicine) เพื่อเป็นแฟลตฟอร์มในการดูแลทางสังคมที่เชื่อมโยงกับระบบของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ช่วยให้การรับ-ส่งต่อ การบำบัดฟื้นฟูทางสังคม และการติดตามผลด้านการดูแลทางสังคมในชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"สสส.และภาคีเครือข่ายทำงานเชิงรุกพัฒนาศักยภาพนักสังคมสงเคราะห์ และชุมชนให้สามารถวางแผนป้องกันรับมือการระบาด หรือสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีการขยายเครือข่ายในการดูแลทางสังคมไปยังวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เภสัชกรชุมชน รวมถึงบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำงาน คือใจที่จะช่วยเหลือกัน ทำให้เกิดเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นได้อนาคต โดย สสส.พร้อมที่จะเชื่อมประสานกลไกของทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ" พญ.ขจีรัตน์กล่าว
ขณะที่ นางระพีพรรณ คำหอม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ บอกว่าจากการดำเนินโครงการพบปัญหาผู้ป่วยถูกบูลลีตีตรา การเลือกปฏิบัติ ถูกสังคมรังเกียจ ถูกตำหนิจากคนรอบข้าง จนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จึงได้เตรียมบุคลากร พัฒนานักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา โดยระดมจากทุกภาคส่วนทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เปิดการอบรม 4 หลักสูตร
โดย 4 หลักสูตรดังกล่าว ประกอบด้วย 1.หลักสูตรให้คำ ปรึกษาเบื้องต้น 2.หลักสูตรทักษะเสริมพลังอำนาจ 3.หลักสูตร เทคนิคการใช้คำปรึกษาการปรับความคิดเปลี่ยนพฤติกรรม และ 4.หลักสูตรการดูแลเด็ก เพื่อพัฒนานักสังคมสงเคราะห์ให้มีทักษะ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลเทเลเมดิซีน เพื่อติดตามผู้ป่วย เป็นเครื่องมือแบบประเมินที่จะลดขั้นตอนการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ และง่ายต่อการวางแผนดูแลมากขึ้น
แพลตฟอร์มโซเชียลเทเลเมดิซีน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการอยู่ร่วมกันกับทุกคนในสังคม ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของรัฐได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสุขภาพกับประชาชนไม่ให้ผู้ป่วยถูกทิ้งหากเกิดวิกฤติขึ้นอีกในอนาคต
ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์ต้องพัฒนาศักยภาพปรับตัวกับการใช้ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะพัฒนาและนำมาใช้ในการทำงานสังคมสงเคราะห์มากขึ้น