โชว์”พลังเยาวชน” สร้างไทย…ด้วยการให้

โชว์”พลังเยาวชน” สร้างไทย…ด้วยการให้

 

 

“หากอยากมีผลผลิตที่ดี ก็ต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีด้วยเช่นกัน”

 

เป็นคำที่นำมาเปรียบกับเด็กและเยาวชนได้ดีที่สุด หากผู้ใหญ่ให้ความสำคัญในการดูแลเด็กๆ ให้ได้รับโอกาสที่ดีในทุกๆ ด้าน ก็เชื่อได้ว่าในอนาคตจะเต็มไปด้วยประชากรที่มีต้นทุนทางสังคมที่ดี

 

งานด้านเด็กและเยาวชน เป็นเรื่องที่สังคมทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแล และต้องได้รับการสนับสนุนลงทุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง งานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม “ร่วมสร้างประเทศไทย…ด้วยการให้” ครั้งที่ 1 ถือเป็นการงานเพื่อเด็กและเยาวชน งานใหญ่ที่สุด โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 -11 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนหลายส่วน

 

งานจัดในสถานที่หลายแห่ง ตั้งแต่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ พาร์คพารากอน อุทยานการเรียนรู้ (tk park) และสกายวอล์กบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

 

เจ้าภาพของงานประกอบด้วย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รวมกับ มูลนิธิทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ อุทยานการเรียนรู้ (tk park) และองค์กรเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน รวมแล้วกว่า 102 องค์กร

 

ถือเป็นงานใหญ่แห่งปีที่จัดขึ้นเพื่อเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถในด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ดนตรี กีฬา ไอที วิชาการ โดยเป็นประสบการณ์ของเยาวชน ที่ผ่านการทำงานจริงๆ มาและพร้อมจะถ่ายทอดเผยแพร่ให้เป็นตัวอย่างต่อไปแก่เยาวชนอื่น

 

โดยงานมหกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานขนาดใหญ่ในสถานที่เปิดกลางใจเมือง ต่างจากงานด้านเด็กและเยาวชนที่ผ่านมาซึ่งจัดอย่างเงียบๆ และได้รับความสนใจในคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ทำให้เด็กอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการทำกิจกรรมอย่างเปิดกว้างได้ การเลือกสถานที่ตั้งแต่หอศิลป์ ไปจนถึงลานพาร์คพารากอน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ปกครองและเด็กอีกจำนวนมาก ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมในครั้งนี้

 

ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชน์ จำกัด (มหาชน) และเลขานุการคณะกรรมการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม เล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดงานในครั้งนี้ว่า ประชากรของประเทศเกือบครึ่งหนึ่งคือเยาวชน และในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีพลังต้องการแสดงออกถึงพลังที่มี เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ใหญ่ควรยื่นมือเข้ามาช่วยกันส่งเสริมอย่างถูกทาง เพราะหากไม่ได้รับการดูแลหรือส่งเสริม แน่นอนว่าพลังที่เหลือเฟือในวัยนี้อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำในด้านลบ แทนที่จะใช้อย่างสร้างสรรค์

ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร

 

 

 

 

“คงไม่สามารถหวังว่าวันหน้าเด็กที่เติบโตขึ้นมาจะเป็นคนดีเป็นพลังที่ทำเพื่อสังคมได้ หากวันนี้ไม่มีใครสร้างอะไรให้เด็กเพื่อเป็นต้นทุน และอย่าคิดว่าการลงทุนพัฒนาเด็กไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเด็กพร้อมที่จะรับการพัฒนาตั้งแต่วันนี้ ซึ่งเด็กจะไม่มีการแบ่งแยกฝั่งฝ่าย ชนชั้น ทุกคนพร้อมที่จะแบ่งปันสิ่งที่ดีให้แก่กันและพร้อมจะรับสิ่งที่ดีด้วย”

 

เรื่องสำคัญ คือ สังคมไทยต้องไม่มองเยาวชนว่าเป็นเพียงผู้เสพ หรือผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว เพราะเยาวชนมีพลังมาก สามารถเป็นผู้ให้ ผู้ผลิต ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ ให้แก่สังคมได้ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในการเป็นผู้ให้และเป็นผู้สร้างสรรค์สังคม

 

ในการจัดงานครั้งนี้มีเยาวชนจำนวน 171 คน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวอย่างและได้แสดงความสามารถในด้านต่างๆ รวมทั้งถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหนังสือ “ร้อยพลังเยาวชน พลังสังคม” ที่จะแจกให้กับทุกคนที่เข้าร่วมงาน ถือเป็นการจุดประกายให้เด็กและเยาวชนเห็นเป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจในการคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีๆ เช่นกัน ซึ่งตัวแทนที่คัดเลือกมาในครั้งนี้ มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้มีความสามารถพิเศษเท่านั้น แต่เป็นเยาวชนที่มุ่งมั่น นำพลังมาใช้ในทางที่สร้างสรรค์ทำประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น

 

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความสามารถปรับเปลี่ยนชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ใช้งานอดิเรกให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น เล่นดนตรี กีฬา เพื่อรณรงค์ในด้านต่างๆ เช่น ต้านยาเสพติด ลดเหล้า งดอบายมุขทั้งหลาย หรือการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในเยาวชนภาคใต้ โดยการใช้โนรา เป็นเครื่องรณรงค์ให้คนในชุมชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่ดี หรือตัวอย่างของเยาวชน ที่นำหลักคิดในเรื่องความพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับชีวิตตนเองและสังคมของตนเอง

 

“เด็กที่เข้าร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างการนำความรู้ ความสามารถมาปฏิบัติจริง เป็นการพัฒนาความรู้และนำมาใช้ แสดงให้ผู้ใหญ่และเด็กด้วยกันได้เห็นถึงพลังบริสุทธิ์ที่ถูกขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมดีๆ ที่มีประโยชน์ และเป็นการใช้ความรู้คู่ความดี เห็นได้ชัดเจนว่าการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกอย่างสร้างสรรค์นั้น เป็นประตูที่จะนำไปสู่โลกใบใหม่ของเด็ก และจะกลายเป็นตัวอย่างต่อสังคมในการขยายต่อเรื่องดีๆ ต่อไป”

 

เชื่อว่าหากผู้ใหญ่เพาะบ่มด้วยความจริงใจ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้คงเติบโตขึ้นเป็นไม้ใหญ่ให้ดอกผลที่น่าชื่นชมอย่างแน่นอน

 

 

 

 

 

ที่มา:หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

update: 12-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code