โชว์ผลงาน 15 ปี สานพลังเครือข่าย เสริมพลังรัฐ สร้างคุณค่าคน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
โชว์ผลงาน 15 ปี ด้าน “เด็ก เยาวชน ครอบครัว” สานพลังเครือข่าย เสริมพลังรัฐ สร้างคุณค่าคน ด้าน ศ.นพ.ประเวศ ชี้ “สร้างคนไทยคุณภาพ” ได้ ต้องปรับชีวิตขั้นพื้นฐาน 8 ประการ
วันนี้ (27ก.พ.) ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานีแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี สํานักสนับสนุนสุขภาวะ เด็ก เยาวชนและครอบครัว (สํานัก 4) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคี เครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เกี่ยวข้องในการดําเนินงาน เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้กับคนทุกช่วงวัย จัดมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว “กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน คือผลงานของเรา” โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสีให้เกียรติ เป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สร้างคนไทยคุณภาพ : จากการเรียนรู้ ร่วมกันในการปฏิบัติ” ว่า กุญแจสําคัญในการสร้างคนไทยคุณภาพมีองค์ประกอบคือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ศีลธรรม และคุณภาพคน โดยที่ผ่านมาจะใช้กระบวนทัศน์เก่าในการพัฒนา ได้แก่ 1) การใช้อํานาจ 2) การขาดความต่อเนื่องทางปัญญา 3) การขาดความเชื่อมโยงทั้งนโยบาย วิชาการและผู้ปฏิบัติ 4) การใช้ความรู้ โดยไม่เรียนรู้ ซึ่งแยกส่วนทั้งสิ้น และอะไรที่ทําแบบแยกส่วนนั้นจะนําไปสู่วิกฤติ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจก็ทําแต่เศรษฐกิจ การเมืองก็การเมือง สังคมก็สังคม จิตใจก็จิตใจ สิ่งแวดล้อมก็สิ่งแวดล้อมแยกเป็นเรื่องๆ ไป ทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกัน ผลที่ออกมาก็ไม่สําเร็จ ดังนั้น การจะสร้างคนไทยคุณภาพ ได้อย่างยั่งยืนคือการพัฒนาอย่างบูรณาการและเชื่อมโยงกัน
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริง พบว่าการสร้างคุณภาพคนหนีไม่พ้นเรื่องของการใช้อํานาจเงิน การแสดงถึงข้อคิดเห็นในทางตําหนิกล่าวโทษ เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่แตกต่างแต่มีข้อสรุปและการใช้ความรู้สําเร็จรูป ฉะนั้นการจะสร้างคนไทยให้มีคุณภาพจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงกรอบคิดพื้นฐาน 8 ประการ คือ 1. เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของทุกคน 2. เคารพความรู้ในตัวคน 3. เอื้ออาทรและจริงใจต่อกัน 4. เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน 5. สามัคคีธรรม สร้างพลังทางสังคม 6. เกิดปัญญาร่วมสู่การสร้างนวัตกรรม 7. ฝ่าความยากไปสู่ความสําเร็จ และ 8. เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน นี่คือคําตอบและทิศทาการพัฒนาคนไทยคุณภาพ
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์สําคัญในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อรวบรวมนําเสนอและต่อยอดขยายผลนวัตกรรม องค์ความรู้ เครื่องมือ สําหรับการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว อีกทั้งเพื่อสร้างความตระหนักในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการให้ความสําคัญการพัฒนาคุณภาพคนตลอดช่วงชีวิต ในช่วงระยะเวลา 15 ปี ของ สสส.ในการทํางานด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้สนับสนุนนโยบาย “การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต” ของรัฐบาล เพราะเด็ก เยาวชนและครอบครัวคือรากฐานสําคัญของการพัฒนา ประเทศ และจะยิ่งทวีความสําคัญมากขึ ้นเมื่อประเทศไทยกลายเป็ นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
นางเพ็ญพรรณ กล่าวต่อว่า ความสําเร็จของการทํางานร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งผลกระทบที่สําคัญต่อการขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย ซึ่งสามารถเห็นผลเชิงประจักษ์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ดังนี้ กลุ่มปฐมวัย (แรกเกิด-5 ปี) 1) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
จัดทําคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย หรือ DSPM ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขใช้เป็นเครื่องมือตรวจวัดพัฒนาการเด็กปฐมวัยทุกคน 2) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สปสช. สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กําเนิด และเครือข่าย พัฒนาระบบการดูแลรักษา และป้องกันเด็กพิการแต่กําเนิดใน 5 โรคสําคัญ ซึ่งปัจจุบันมีการจดทะเบียนและสร้างระบบการดูแลรักษาและป้องกันความพิการตั้งแต่แรกเกิด ในระบบสุขภาพแล้ว 3) พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยการยกระดับคุณภาพด้วยกระบวนการก้าวกระโดด (Benchmarking) ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้ 55 แห่ง และเครือข่ายทั่วประทศไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง 4) สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายทุกระดับในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ระดับตําบล อําเภอ จังหวัด และระดับประเทศ
กลุ่มเด็กและเยาวชน (6-24 ปี ) 1) พัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสุขภาวะ กว่า 2,500 โรงเรียน โดยให้ความสําคัญกับการทําให้ผู้เรียนเป็นสุขทั้งด้าน กาย จิต สังคม และปัญญา 2) สร้างสุขภาวะเด็ก เยาวชน กลุ่มเฉพาะ อาทิ เด็ก เยาวชน ในกระบวนการยุติธรรม เด็กในสถานสงเคราะห์ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เด็กชายขอบ ไร้สัญชาติ 3) สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายระดับต่างๆ เช่น สร้างแกนนําเยาวชนในสถานศึกษา สนับสนุนคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ สนับสนุนเยาวชนจัดทําฐานข้อมูลด้านเยาวชนในจังหวัด และในกลุ่มครอบครัว 1) ร่วมพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว (พ.ศ.2560-2564) และขับเคลื่อนการนําไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 2) พัฒนาหน่วยวิชาการครอบครัว เพื่อพัฒนาสุขภาวะในครอบครัวกลุ่มเปราะบาง
“15 ปี เราได้สร้างกลไกการทํางาน นวัตกรรม รูปแบบ เครื่องมือ และวิธีการทํางานที่สามารถนําไปใช้ได้จริงทั้งในระดับองค์กรและระดับพื้นที่ ดังนั้น การจัดงานมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัวในวันนี้ ผลงานที่นํามาแสดงทั้งรูปแบบวิชาการและนิทรรศการ จะทําให้ทุกคนมีความเข้าใจและให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วมเพื่อเป็นพลังสำคัญในการสานพลังร่วมสร้างสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ให้ขับเคลื่อน อย่างมุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป” นางเพ็ญพรรณ กล่าว