โชว์ต้นแบบ 9 โรงเรียน ‘เด็กไทย’ ดูดี-มีพลานามัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
"โรคอ้วนในเด็ก" ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการดูแลที่ดีทางด้านโภชนาการ รวมถึงค่านิยมผิดๆ ของผู้ใหญ่ที่มักจะมองว่าเด็กอ้วนเป็นคนน่ารักและอุดมสมบูรณ์ ทั้งที่ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้จะสร้างปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมายให้พวกเขาในอนาคต นอกจากร่างกายที่ใหญ่โตผิดสัดส่วนแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงเกิดประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการให้สังคมได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วนอย่างจริงจัง ผ่านโครงการเปิดช่องทางแหล่งเรียนรู้เด็กไทยดูดี สู่ชุมชน ภายใต้เวทีสัมมนาวิชาการผู้นำสุขภาพ 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย ย่านราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัญหาโรคอ้วนของเด็กกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกในศตวรรษที่ 21 สำหรับประเทศไทย เด็กวัยเรียนและในเขตกรุงเทพฯ พบโรคอ้วนในอัตราสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคต่างๆ ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่นิยมกินอาหารพลังงานสูง รสหวาน มัน เค็ม เช่น ไก่ทอด ไส้กรอก ขนมเค้ก ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม น้ำหวาน ฯลฯ ขณะเดียวกันมีการบริโภคผัก-ผลไม้น้อย และขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
"จากการสำรวจนักเรียนในโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลายโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2558 พบว่าเด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนร้อยละ 21 ขณะที่ทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 12 อีกทั้งยังพบมีไขมันในเลือดสูงถึงร้อยละ 66 ความดันโลหิตสูงร้อยละ 30 น้ำตาลในเลือดระดับเริ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และลักษณะปื้นดำที่คอเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคเบาหวานร้อยละ 10 ซึ่งภาวะความอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สะสมตั้งแต่วัยเด็ก และทำให้เป็นโรคร้ายในอนาคตทั้งสิ้น"
หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย กล่าวว่า จากนั้นเราจึงทำนโยบายจัดการเชิงโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนในด้านอาหารและออกกำลังกายให้โรงเรียน 9 แห่งทดลอง ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลวัดนางนอง, โรงเรียนอนุบาลวัดปรินายก, โรงเรียนอนุบาลสามเสน, โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์, โรงเรียนพญาไท รวมทั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัด สพฐ. 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสามเสน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พร้อมทั้งมีการสร้างต้นแบบของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นแกนนำ โดยมีกิจกรรมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ ควบคุมอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ 4 รายการ ได้แก่ อาหารทอด ไส้กรอก เบเกอรี่ เครื่องดื่มเติมน้ำตาลปริมาณสูง และสนับสนุนให้บริโภคผัก-ผลไม้เพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ปริมาณเหมาะสม และสนับสนุนให้มีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งมั่นใจว่าเด็กและเยาวชนในโรงเรียนเหล่านี้จะมีสุขภาวะที่ดีขึ้น น้ำหนักตัวจะลดลงตามลำดับ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวเสริมว่า จากผลการสำรวจสถานการณ์อัตราชุกของผู้มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในปี 2558 โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียน อายุตั้งแต่ 5-14 ปี ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กวัยเรียน ร้อยละ 12.5 มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ซึ่งภาวะดังกล่าวล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญทั้งในด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการจัดการสภาพแวดล้อมด้านอาหารในโรงเรียน
โดยโครงการสำรวจสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โรงเรียนประถมศึกษาในปี 2557 พบว่าเด็กวัยเรียนดื่มน้ำหวาน 1 แก้วต่อวัน ถึงร้อยละ 48.8 และซื้อขนมกรุบกรอบ/ขนมขบเคี้ยวนอกโรงเรียน อย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 42.7 ขณะเดียวกันยังพบว่าร้อยละ 57.9 ของโรงเรียนที่สำรวจมีร้านค้าขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมที่จำหน่ายอยู่บริเวณรอบรั้วโรงเรียนจำนวน 1-2 ร้านค้า ซึ่งอาหารหน้าโรงเรียนที่เด็กวัยเรียนนิยมซื้อมาบริโภค ส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ ลูกชิ้นปิ้งหรือทอด ไอศกรีม ขนมหวาน เนื้อสัตว์ทอดหรือย่าง และไส้กรอก เป็นต้น
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าวต่อว่า ยังพบว่าเด็กไทยยังกินผักและผลไม้น้อยกว่าครึ่งของคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งแนะนำให้บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม รวมถึงขาดการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอต่อสุขภาพ โดยพบพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary) คือการนั่งนิ่งอยู่กับที่ถึงวันละ 13.08 ชั่วโมง มีพฤติกรรมติดจอ 3.09 ชั่วโมง ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เด็กๆ มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักวันละ 60 นาที
"สาเหตุเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของการเกิดภาวะอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สสส.จึงร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหา โดยตั้งเป้าภายในปี 2562 จะสามารถลดจำนวนผู้มีภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10" ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าว
ด้าน นายอำนวย พุทธมี ผู้อำนวยการโรงเรียนพญาไท เผยว่า ทางโรงเรียนมีมาตรการลดอ้วนในเด็กนักเรียนด้วยวิธีขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการไม่ขายอาหารทอดในโรงเรียน เช่น ไส้กรอกทอด ให้เปลี่ยนมาเป็นไส้กรอกย่างแทน รวมถึงปลูกฝังความรู้ในการเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ทำให้เด็กรู้จักควบคุมความอยาก ซึ่งจะทำให้มีพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง
ที่สำคัญทางโรงเรียนจะปลูกฝังให้เด็กออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วัน และในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และส่งเสริมให้เด็กใช้บันไดแทนการขึ้นลิฟต์ โดยครูก็ต้องใช้บันไดเป็นแบบอย่างให้เด็กดูด้วย นอกจากนี้ ทางโรงเรียนจะมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีเข้ามาตรวจเลือด เช็กสุขภาพของเด็ก เพื่อเป็นการดูแล ป้องกันแก้ไขการเกิดโรคต่างๆ แก่นักเรียน
เชื่อว่านโยบายเหล่านี้หากมีการสร้างค่านิยมและผลักดันให้เกิดขึ้นทุกโรงเรียนทั่วไทย ก็มั่นใจว่าจะลดปริมาณของเด็กอ้วน และบ่อเกิดของโรค NCDs ในอนาคตได้