โจทย์ท้าทาย ผู้นำท้องถิ่น
ที่มา : สยามรัฐ
ภาพประกอบจาก สสส.
คำว่า "ผู้นำ" นั้น คือคนที่สามารถชักนำชักชวนกลุ่มคนให้ลงมือทำงานตามเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ผู้นำที่ดีนั้น ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความตั้งใจจริงรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสตรวจสอบได้ รักษาไว้ซึ่งคุณธรรม ขณะเดียวกันต้องไม่เลือกปฏิบัติ มีคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ร่วมหาทางออกให้ชุมชนท้องถิ่นตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้นำท้องถิ่นควรทำงานร่วมกับทุกฝ่ายทุกภาคส่วนได้ เรียนรู้และพัฒนาด้วยข้อมูลที่เป็นจริงและใช้ข้อมูลในการพัฒนางาน รวมถึงผู้นำต้องประพฤติตนให้เป็นที่ยอมรับนับถือจากสังคม
ในงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เมื่อเร็วๆ นี้ จัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.)คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พูดถึง "โมเดลสุดยอดผู้นำท้องถิ่น" เพื่อกระตุ้นให้ผู้นำท้องถิ่นเห็นคุณค่าในตัวเองและเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำเหล่านั้นกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง
ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สสส.ได้ร่วมสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง มีการกระตุ้นให้ชุมชนค้นหาผู้นำที่มีอยู่ในชุมชน มีการพัฒนาศักยภาพผู้นำโดยการจัดเวที จัดหลักสูตร และจัดให้มีกิจกรรมของผู้นำเพื่อชุมชนมาโดยตลอด
น.ส.ดวงพร เฮงบุญยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน (สน.3) สสส. กล่าวว่า การทำงานของ สสส. สำนัก3 และภาคีเครือข่าย มุ่งกระตุ้นชุมชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่นเพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาท้องถิ่น และสามารถยกระดับเป็นสุดยอดผู้นำท้องถิ่นที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนได้ ซึ่งสุดยอดผู้นำท้องถิ่นต้องเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐ เพราะรัฐยังมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น
"สสส.มีเครือข่ายสุดยอดผู้นำกว่า10,000 คน จาก 2,000 ตำบล ที่ผ่านมาผู้นำชุมชนท้องถิ่นร้อยละ 90 ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ข้ามพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปิดเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่น เข้าใจในระดับนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ต่อเวทีสาธารณะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น สสส.รณรงค์งดเหล้า บุหรี่ บุคคลที่เป็นสุดยอดผู้นำจะต้องหยิบเรื่องพักตับเข้ามาอยู่ในกลยุทธ์ เป็นนักรณรงค์ มีจิตอาสา และสร้างคนต้นแบบในการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่เป็นต้น" นางสาวดวงพร กล่าว
เวทีและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกระยะ ก็เพื่อให้ผู้นำชุมชนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที เพราะทุกๆปัญหานับวันจะมีความซับซ้อน หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ จากการรวบรวมข้อมูลชุมชนท้องถิ่นในปี 2561 ครอบคลุมประชากร 8.8 ล้านคน 2.4 ล้านครัวเรือน 2,148 อปท.โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) พบว่า เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ ได้ทำงานกับ 13 กลุ่มประชากรได้แก่ 1.เด็ก 0-2 ปี 2.เด็ก 3-5 ปี 3.เด็ก6-12 ปี 4.เด็กและเยาวชน 5.หญิงตั้งครรภ์6.กลุ่มวัยทำงาน 7.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป8.ผู้ป่วยเอดส์ 9.ผู้ป่วยจิตเวช 10.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 11.ผู้ด้อยโอกาส 12.คนพิการ และ13.ผู้ป่วยระยะสุดท้าย บางกลุ่มจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และบางกลุ่มจำเป็นต้องเตรียมการเพื่ออนาคต
การสร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากรครอบคลุมใน 10 ประเด็น ประกอบด้วยประเด็นที่ 1 การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 21%ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ท้องถิ่นต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 10 ปี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่พิการและดูแลตัวเองไม่ได้ จะต้องเข้าไปดูเป็นลำดับแรก เช่นเดียวกับการหนุนเสริมกลุ่มที่มีศักยภาพ "สูงวัยสร้างเมือง" ให้มีบทบาทในสังคม ประเด็นที่ 2 การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน มีประชากรในกลุ่มนี้เกือบ3% ซึ่งขณะนี้ได้มี พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย โดยให้ อปท. เป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตามการจะผลักภาระให้ท้องถิ่นจึงอาจจะทำได้ไม่ทั่วถึง ทุกภาคส่วนจึงต้องเข้าไปร่วม
ประเด็นที่ 3 การเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว สาเหตุหลักเกือบ 60% คือหนี้สินและการว่างงานที่ทำให้เกิดความรุนแรง ประเด็นที่ 4 การจัดการขยะ แม้เรามีการจัดการขยะในครัวเรือน 86% แต่เมื่อลงพื้นที่ไปแล้วยังพบปัญหาบ่อขยะไม่เพียงพอ และขยะอินทรีย์ที่ยังจัดการได้ไม่ค่อยดีนัก ประเด็นที่ 5 การจัดการภัยพิบัติ ที่พบมากสุดคือ น้ำท่วม 39% และภัยแล้ง 31%ประเด็นที่ 6 การดูแลสุขภาพชุมชน มุ่งให้ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาป่วยเรื้อรังที่มีถึง 7% ได้แก่ เบาหวานความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ปวดข้อ และโรคหัวใจ ประเด็นที่ 7 การจัดการอาหารในชุมชน มีคนทำเกษตรกรรม 28%ซึ่งจะเป็นฐานผลิตอาหารให้กับคนในชุมชนประเด็นที่ 8 เศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้ให้ชุมชนและครัวเรือน ประเด็นที่ 9 การควบคุมการบริโภคยาสูบและสารเสพติดรณรงค์แคมเปญ "เลิกสูบ เจอสุข" และประเด็นที่ 10 การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุจราจร สนับสนุนให้ท้องถิ่นใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพเข้าไปช่วยบริหารจัดการ
รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สุขภาวะของประชากร 13 กลุ่ม ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องตลอดช่วงอายุของทุกคน เป็นตัวบ่งชี้ว่าประชาชนอยู่อย่างไรในท้องถิ่น ปัจจัยที่ 2 คือ โรคและการเจ็บป่วย ร้อยละ 5-10 ของช่วงชีวิตทุกคน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บป่วย และปัจจัยที่ 3 คือด้านพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่นการดื่มสุรา สูบบุหรี่ เป็นต้น