โคลนนิ่งครูเพื่อทศวรรษหน้า

แนะ 5 ข้อครูพันธุ์ใหม่

 

โคลนนิ่งครูเพื่อทศวรรษหน้าสัปดาห์ที่ผ่านมา ย่องไปร่วมงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง โคลนนิ่งครูเก่งได้อย่างไร ที่สาขาจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับ โครงการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสุขภาวะคนไทย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้น ด้วยความสนใจเป็นส่วนตัว และด้วยความเห็นในแบบเดียวกับใครๆอีกมากมายว่า 

 

ประเทศไทยหรือสังคมไหนๆจะพัฒนา อย่างยั่งยืน  มีคุณภาพได้นั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นที่  คนและการสร้างคุณภาพคนก็ต้องมาจากระบบการศึกษาที่ดี และการมี ผู้สร้างที่เข้าใจปัญหา และมีความสามารถเพียงพอสอดคล้องกับความต้องการด้วย   

 

            อยากรู้อยากเห็นอยากฟัง  จึงเดินเข้าไปโดยมิได้รับเชิญ แต่มีความคาดหวังจะไปหาคำตอบว่า  ครูเก่งในสายตาของครูบาอาจารย์หรือบุคคลากรในแวดวงการศึกษานั้น เหมือนหรือแตกต่างจากความต้องการของสังคมหรือไม่ เพราะเราไม่อาจมองข้ามข้อเท็จจริงในวันนี้ว่า ครูเก่งของเด็กๆนั้นไปอยู่ตามโรงเรียนกวดวิชาเป็นส่วนใหญ่ และครูเก่งที่ทำให้พวกเขาสอบผ่านเข้าไปในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่เขาปรารถนานั้น ล้วนแต่ใจดีมีปัญญาเฉลียวฉลาดทั้งนั้น

 

แม้จะไม่ได้แจ้งให้ผู้จัดได้ทราบหรือสำรองที่ล่วงหน้า แต่ก็พอมีที่ว่างเหลือให้เข้าไปสังเกตการณ์  มิได้แปลกแยกออกไป จึงมีอาจารย์บางคนทักถามว่า…อาจารย์มาจากโรงเรียนไหนคะ ?…เมื่อชี้แจงว่า เป็นคนนอกที่ต้องการรู้ว่า ครูในโรงเรียนทำอะไรกันอยู่ ทำไมเด็กสมัยนี้ต้องพึ่งติวเตอร์แทบทุกคน  อาจารย์คนที่บังเอิญทักทายเราด้วยมารยาทตอบโดยไม่ต้องคิดเลยว่า  

 

            ระบบการศึกษาไทยทำให้เด็กต้องแข่งขันกัน เด็กๆ จึงมีความคิดว่า ถ้าตัวเองไม่ติวก็จะแพ้เพื่อน !

 

ต้องบอกว่า โป๊ะเชะ!ถามจริงได้คำตอบที่ตรง มิใช่งึกๆ งักๆ กึ๊กๆ กั๊กๆ เหมือนเหมือนผู้ใหญ่ใส่แว่นบางคนที่กระทรวงศึกษาธิการ จึงทำให้สามารถสบายใจ ได้ระดับหนึ่งว่า ปัญหาที่เราสงสัยและกังวลเกี่ยวกับความล้มเหลวของระบบการศึกษาภาคปกติในโรงเรียนนั้น ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะมองไม่เห็น และไม่ใช่เรื่องที่คนได้ชื่อว่า ครูทั้งหลายท่านจะนิ่งนอนใจ ปล่อยเลยตามเลย ธุระไม่ใช่ หรือมีพฤติกรรมอย่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองมากมายมองในด้านลบนั่นคือ เดี๋ยวนี้ครูนิยมกั๊กความรู้ในห้องเรียน เพื่อรับสอนพิเศษทำการบ้าน ติวข้อสอบให้กับเด็กๆในตอนเย็น เป็นการหา รายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

 

การจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ขณะนี้มีคนไทยในประเทศไทยที่มีความสนใจขับเคลื่อนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสอดคล้องกับระบบการศึกษาที่ทุกคนปรารถนาและต้องการเห็นไม่น้อยเลย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จในวันนี้พรุ่งนี้ วัตถุประสงค์การผลิตครูเก่งเพื่อทศวรรษหน้าจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ

 

ตรงกับที่อาจารย์พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา หนึ่งในผู้อุทิศตนเองและทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษาแนวใหม่ เพื่อสร้างคนคุณภาพ มิใช่เพื่อกระดาษแผ่นเดียวแต่ปราศจากองค์ความรู้และขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวม เคยบอกไว้กับเราว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยต้องค่อยเป็นค่อยไป  เราจะลุกขึ้นให้ปิดโรงเรียนกวดวิชา หรือห้ามเด็กไปกวดวิชาคงเป็นไปไม่ได้ ตราบเท่าที่เรายังไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาภาคปกติให้มีคุณภาพน่าเชื่อถือและมั่นใจได้อย่างเท่าเทียมกัน 

 

ความพยายามของอาจารย์ในการทำโรงเรียนดรุณสิกขาลัย เป็นโรงเรียนต้นแบบก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้เห็นว่า การสร้างคนคุณภาพนั้นต้องฝึกเด็กให้คิด ไม่ใช่ให้ท่องจำ หรือยัดเยียดแข่งขันไปสอบตามโรงเรียนดังๆ หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น

 

แต่อย่างไรก็ตาม  หนทางที่จะสร้างความมั่นใจให้กับเด็กและผู้ปกครองว่า เรียนในโรงเรียนก็เพียงพอแล้ว สามารถประสบความสำเร็จ มีสุขภาวะในชีวิตได้นั้น ไม่พ้นเราต้องมี ผู้สร้าง หรือครูคุณภาพ ทั้งนี้ในการสัมมนาได้มีการหยิบยกรายงานการศึกษาของอเมริกันชน ที่พยายามหาคำตอบว่า เหตุใดเด็กของโรงเรียนหนึ่งจึงทำคะแนนได้ดีกว่าอีกโรงเรียน

 

ก่อนที่จะอภิปรายประเด็นข้างต้น จำเป็นที่ต้องเข้าใจระบบการศึกษาของอเมริกันว่า เขาแบ่งประเภทโรงเรียนเป็น 2 ประเภทเหมือนบ้านเราคือโรงเรียนรัฐบาล (Public School) และโรงเรียนเอกชน (Private School) เด็กส่วนใหญ่จะเรียนโรงเรียนรัฐบาลเพราะ ฟรี12 ปี ส่วนโรงเรียนเอกชนเป็นเรื่องของผู้มีอันจะกิน 

 

ดังนั้น การหาคำตอบของเด็กต่างโรงเรียน จึงเป็นการเปรียบเทียบผลของโรงเรียนรัฐบาลเท่านั้น  เพราะที่นั่น  ใช้มาตรฐานการเรียนการสอนแบบเดียวกัน และเขาจะเข้าโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน ไม่มีใครขับรถไปส่งลูกตอนเช้าเพื่อไปโรงเรียนที่ห่างจากบ้านเป็น 30-40 กิโลเมตร หรือต้องเสียเวลาบนถนนเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงโรงเรียนแบบบ้านเรา

 

            ผลการศึกษาพบว่า ความแตกต่างของเด็กเกิดจาก คุณภาพครู เป็นประการสำคัญ การพัฒนาครูให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างระบบการศึกษาที่สามารถทำให้เกิดการสอนที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แก่เด็กทุกคน เป็นเหตุผลประการต่อมา

 

วันนี้ก็ได้ถึงบางอ้อ เข้าใจแล้วว่า แนวคิดการโคลนนิ่งครูเก่งนั้นเพื่อการวางรากฐานให้การปฏิรูปการศึกษาไทยเป็นไปตามเป้าหมายและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทยอย่างแท้จริงนั่นเอง  เพราะถ้าเรามีครูผู้สร้างคุณภาพกระจายไปทั่วทุกโรงเรียนไม่ว่าภูมิภาคไหนส่วนใดของประเทศ  ต่อไปในอนาคตเด็กๆก็ไม่ต้องดิ้นรนไปหาครูเก่งในโรงเรียนกวดวิชาต่างๆเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอยู่บ้างก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา  หาใช่ความล้มเหลวของครูในโรงเรียนหรือระบบการศึกษาภาคปกติแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป 

 

ครูเก่งในทศวรรษหน้า หน้าตาควรจะเป็นอย่างไร  เชื่อว่าทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นครู หรือในแวดวงการศึกษา รู้อยู่แก่ใจ อย่างน้อยการนำติวเตอร์มาเป็น ต้นแบบ ออกโทรทัศน์ให้เห็นกันจะๆ ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นทางหนึ่ง แต่ในการสัมมนาก็ได้สรุปอย่างน่าสนใจว่า ครูเก่งในทศวรรษหน้าควรจะก้าวพ้นบาป 5 ประการให้ได้นั่นคือ

 

            1.อย่าเน้นวิชาการ      แต่ต้องเน้นชีวิต จริง

 

2.อย่าเน้นเนื้อหา       แต่ต้องเน้นกระบวนการ

 

3.อย่าเน้นความจำ      แต่ต้องเน้นความคิด

 

4.อย่าเน้นความคงที่   แต่ต้องเน้นการเปลี่ยนแปลง

 

5.อย่าเน้นแต่อดีต      แต่ต้องเน้นอนาคต

 

            สรุปว่า ถ้าใครอยากเป็นครูธรรมดา ถึงหน้าชั้นก็พูดๆๆๆๆ ไม่ต้องสนใจว่าใครฟังเข้าใจหรือเปล่า  หมดชั่วโมงก็บ๋ายบายตามหน้าที่ แต่ถ้าอยากเป็นครูดีก็ต้องรู้จักการอธิบาย ทำความเข้าใจในบทเรียนแก่เด็กๆ สุดท้ายถ้าอยากได้ชื่อว่าเป็น สุดยอดครู หรือครูเก่งในทศวรรษหน้าล่ะก็ ต้องเป็นครูที่ส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักคิด มีวิสัยทัศน์ มีแรงบันดาลใจที่จะกระทำสิ่งใดๆก็ตามด้วยสมองและสองมือของตัวเอง

 

หากโคลนนิ่งครูเก่งดังว่าได้ คนไทยย่อมมีสุขภาวะยั่งยืนตลอดไปแน่นอน และเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาก็จะเป็นฝันที่เป็นจริงเสียที

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

Update 02-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

 

Shares:
QR Code :
QR Code