โครงงานวิทย์สุขภาพ จุดประกาย..’นักทดลองจิ๋ว’
ความรู้จากห้องเรียนและประสบการณ์ตรงผ่านสองมือทำ อย่างไรคงแยกจากกันไม่ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ “โครงงาน (เชิง)วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” จึงจุดไฟเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาในภาคเหนือ หยิบตำราพร้อมลงมือลุยจริง ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
โดยกว่า 50 โครงงาน จาก 14 โรงเรียนที่ต่างนำผลงานมาแสดงนั้น ใช่จะเป็นรูปแบบผลงานที่เน้นองค์ความรู้ซับซ้อน เข้าใจยากจนต้องส่ายหน้าด้วยความเบื่อ แต่กลับกันโครงงานเหล่านั้นได้ให้น้ำหนักกับประโยชน์ด้านพัฒนาสุขภาวะแก่ตัวเยาวชนเอง พร้อมส่งต่อความสุขให้กับชุมชนตามรูปแบบที่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ(ไบโอเทค)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วม ผนึกองค์ความรู้ ถ่ายทอดกระบวนการผู้ร่วมกิจกรรม จนการันตีได้เลยว่า ความรู้วิทยาศาสตร์ต่อจากนี้ จะไม่ใช่เรื่องขึ้นหิ้ง หรือท่องจำให้เก๋ๆ เป็นแน่
ยกตัวอย่างเรียกน้ำย่อยอย่างโครงงานเรื่อง “สารเคลือบผิวจากธรรมชาติช่วยยืดอายุของผลมะเขือเทศหลังการเก็บเกี่ยว” ของนักเรียนโรงเรียนจอมทอง จ.เชียงใหม่
ซึ่ง “เก่ง” พงศธร ต๋าคำดี นักเรียนชั้น ม.5 บอกจุดริเริ่มว่า มาจากชาวบ้านรอบชุมชนมีอาชีพปลูกมะเขือเทศกันเยอะ แต่เป็นเพราะมะเขือเทศมีอายุหลังเก็บเกี่ยวเพียง 4-5 วันเมื่อเวลาผ่านไปประโยชน์ที่จะนำมาใช้ได้ก็น้อยลง อีกทั้งเมื่อมะเขือเทศคลายน้ำ ก็จะเหี่ยวไม่สวยดังใจ ดังนั้น จึงคิดใช้สารเคลือบผิวจากธรรมชาติ โดยใช้สิ่งที่หาได้ง่ายๆ ในชุมชน เช่น เห็ดลาบ เปลือกกล้วยน้ำว้าดิบ ซึ่งถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ราคาถูก มาทำให้มีมูลค่ามากกว่าเดิม
“เห็ดลาบ เป็นผักที่คนในชุมชนรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว คือเราเอามาลวกจิ้มน้ำพริก ส่วนกล้วยน้ำว้า เราก็ปลูกกันหาได้ง่าย และ 2 สิ่งนี้ เมื่อค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จะรู้ว่ามันมีสารเพกทิน ที่มีคุณสมบัติเคลือบผิว ชะลอความเหี่ยวของผลไม้นั้น เราจึงเอาวัตถุดิบเหล่านี้มาทดลอง โดยเอามาสกัดเป็นของเหลวประมาณ 200 ลูกบาศก์เซนติเมตร จะนำผลมะเขือเทศจุ่มลงไป และพักไว้ประมาณ 20 นาที ก่อนนำมาล้าง และบริโภคตามปกติ และนั่นทำให้มะเขือเทศคงความสดใสได้นาน”
โครงงานนี้เกิดประโยชน์คือ ช่วยรักษาความสดของมะเขือเทศได้นานถึง 14 วัน ซึ่งแม้ผลลัพธ์ทั้งหมดจะเทียบประสิทธิภาพกับสารเคมีที่ใช้ในโรงงานเพื่อเคลือบผิวผักและผลไม้ไม่ได้ แต่ข้อดีคือสิ่งที่ค้นพบไม่เป็นผลเสียต่อร่างกาย คนในชุมชนใช้เป็นอาหารได้อย่างสบายใจ เกิดการขยายผลคือเรากำลังทดลองเพื่อหาสารสกัดชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถเคลือบผิวผลไม้ชนิดอื่นๆ ได้อีก
มากกว่านั้น องค์ความรู้ดังกล่าวที่ “เก่ง” และเพื่อนร่วมทดลองตลอดหลายเดือนมานี้ยังได้ถูกเผยแพร่ในชุมชน และสร้างความพอใจให้แก่ชาวบ้านคนอื่นๆ จนต้องลองเอาแนวคิดไปใช้
ซึ่ง “เก่ง” เองก็เล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า “ตอนนี้ญาติพี่น้องของผมก็เอาไปใช้ เวลามีนิทรรศการเราก็เอาสิ่งที่ทดลองไปเผยแพร่หลายคนก็มาให้กำลังใจ เพราะอยากให้การทดลองครั้งนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นเพราะหากประสบความสำเร็จก็ถือว่าได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดที่อยากจะคงความสดของสินค้าอยู่เสมอ”
ขณะที่โครงงานของ โรงเรียนนวมินทราชูทิศพายัพ จ.เชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ “โครงงานการลดความฝาดของลูกพลับ” ก็น่าสนใจ และสะท้อนความต้องการแบบคิดเองทำเอง-ใช้เองได้จริงได้ไม่แพ้กัน โดย “แพร”ศศิวรรณ อันละคร นักเรียนชั้น ม.5 เล่าที่มาว่า เกิดจากความต้องการแบบไม่ซับซ้อนที่ว่า”ทำอย่างไรให้ลูกพลับ ซึ่งเป็นผลไม้ที่ชอบรับประทาน และมีจำนวนมากในชุมชนนั้นมีรสอร่อยขึ้น”
“ลูกพลับมันมีเยอะ แต่ถ้าโชคไม่ดีก็ไปเจอลูกที่มีรสฝาด เมื่อเก็บหรือซื้อมา บางทีต้องทิ้งไปไม่น้อย เราจึงไปศึกษาว่ามีอะไรบ้างที่สามารถลดความฝาดได้ จึงค้นพบว่าสิ่งที่ทำให้เกิดรสฝาดนั้นคือสารเพนนินที่อยู่ในลูกพลับ เราจึงไปหาต่ออีกว่าสิ่งที่ทำให้ลดสารเพนนินได้นั้นคืออะไร จนมาสู่คำตอบที่ต้องใช้สารแคลเซียมไอออน ซึ่งมีอยู่ในเปลือกหอยแครง หรือเปลือกไข่เผาเข้าช่วย“
ดังนั้น เราจึงทดลองทีละชนิด “โดยเอาเปลือกหอยแครง และเปลือกไข่มาโขลกให้ละเอียด หลังจากนั้นนำไปผสมกับน้ำในอัตราส่วน น้ำ 500 มิลลิลิตร ต่อผงเปลือกหอยแครง 100 มิลลิกรัม แล้วนำลูกพลับแช่น้ำที่ผสมเสร็จแล้ว ทิ้งไว้นาน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ความฝาดของลูกพลับลดลง เนื่องจากปฏิกิริยาทางวิทยาศาสตร์” แพรอธิบายถึงผลงาน
ซึ่งเป็นผลงานที่มีคำตอบ และมีต้นตอจากการตั้งคำถามง่ายๆ ทว่ามีกระบวนการคิดค้น ทดลองด้วยความสนใจ ใคร่รู้ และเกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ทางความรู้สึก การตอบสนองความอยากรู้ และนำไปขยายผลอย่างสร้างสรรค์เช่นนี้
นายชายกร สินธุชัย นักวิชาการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในฐานะผู้จัดการโครงการ พยายามสรุปและจุดประกายแก่นักวิทยาศาสตร์ฝึกหัดว่า ถือเป็นเป้าหมายสำหรับการทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง เหมือนกับนำสิ่งที่เขาชอบ ที่เขาเห็น เอามาทำให้เป็นรูปเป็นร่าง นั่นจะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์คือ เรื่องใกล้ตัว และสัมผัสได้
นอกจากนี้ เมื่อเอาโครงงานวิทย์มาตอบสนองความต้องการของแต่ละพื้นที่แล้ว ทำให้ทุกอย่างแตกต่างออกไป เกิดการสะท้อนชุมชนผ่านผลงาน เช่น บางชุมชนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โครงการก็อาจจะเน้นไปที่คุณภาพชีวิตทางกายภาพความสะอาดในชุมชน หรือบางพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกิน โครงการที่เยาวชนสนใจก็มักหนีไม่พ้นเรื่องของอาหารผลผลิตทางการเกษตร ผลผลิตการแปรรูปนั่นเท่ากับผลงานทางวิทยาศาสตร์จะสะท้อนลักษณะของชุมชนนั้นๆ ไปโดยปริยาย
โครงการนี้เหมือนกับประกายไฟที่น้องๆ ภาคเหนือช่วยกันสร้างจะช่วยเติมฝัน และร่วมกันบ่มเพาะความสำเร็จในวิถีทางวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ ที่มีทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์จริงแบบไม่เคยขาดออกจากกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน