โครงการ ‘HEROs สอนหลาน’ ต่อลมหายใจ บ้านตองกาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
โครงการ 'HEROs สอนหลาน' บ้านตองกาย สืบสานอาชีพกลึงไม้ ถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม
ภูมิปัญญาท้องถิ่น…สมบัติล้ำค่าที่ถือเป็น "อัตลักษณ์" สำคัญ โดยเฉพาะระยะหลังๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในแง่การ "ท่องเที่ยว" เป็นอีกช่องทางสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังเช่นเมื่อเดือน ก.ค.2559 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้คัดเลือก "10 ชุมชนเด่น" ประจำปี 2559 ที่มีศักยภาพพัฒนาต่อยอดไปเป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านเมืองลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ 2.ชุมชนบ้านต่อแพ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน 3.ชุมชนบ้านปลาค้าว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ 4.ชุมชนเขมราฐ นาแวง – เจียด อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี 5.ชุมชนปากโสมลำภูพาน อ.สังคม จ.หนองคาย
6.ชุมชนตำบลไทรน้อย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา 7.ชุมชนบ้านแหลมมะขาม อ.แหลมงอบ จ.ตราด 8.ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา 9.ชุมชนพรหมโลก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช และ 10.ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านนาตีน อ.เมือง จ.กระบี่ นอกจาก 10 ชุมชนข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ เช่น…
บ้านตองกาย!!!
ชุมชนเก่าแก่มีอัตลักษณ์ด้าน "อาชีพกลึงไม้" สืบค้นประวัติย้อนหลังไปได้มากกว่า 100 ปี โดยบ้านตองกายตั้งอยู่ใน ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ หากเราถือเชียงใหม่เป็น "ศูนย์กลางท่องเที่ยวภาคเหนือ" ชุมชนบ้านตองกายถือเป็น "ตัวจักรสำคัญ" ในฐานะแหล่งผลิตไม้กลึง โดยเฉพาะ "ขันโตก" ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัด
ทว่า…ณ วันนี้ บ้านตองกายกำลังอยู่ในภาวะ "วิกฤติ" เพราะคนเชียงใหม่จำนวนไม่น้อยยัง "ไม่รู้จัก" ชุมชนประวัติศาสตร์แห่งนี้ และคงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากปล่อยให้ "มรดกทางวัฒนธรรม" ในท้องถิ่นต้อง "สูญหาย" ไปตามกาลเวลา นักศึกษากลุ่มหนึ่งจึงเข้ามา "สานต่อ"…
"ธาราทิพย์ อะติถะ" นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ตนเคยเข้าร่วมกิจกรรม Love Your Local Love Your City ที่จัดโดย "ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ" (TCDC) ที่สร้างแรงบันดาลใจให้มองเห็น "โอกาส" ร่วมพัฒนาชุมชน ทำให้เมื่อได้ยินชื่อ "บ้านตองกาย" ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก จึงเกิดความสนใจและเข้ามาเรียนรู้ร่วมกับช่างในชุมชน และพบว่าความจริงชาวบ้านตองกายต้องการแลกเปลี่ยน ความรู้กับคนนอก เพราะผลิตสินค้าในรูปแบบเดิม "ซ้ำๆ" ลูกหลานก็ไม่สนใจจะเรียนรู้สืบทอด ด้วยกำลังของนักศึกษา และเรียนด้านการออกแบบ เมื่อได้สื่อสารออกไป อย่างน้อยนักศึกษาก็ยังได้รู้จักชุมชนแห่งนี้
"ตอนนี้ต้องการให้คนทั่วไปได้รู้จักก่อน และด้วยวิถีวัฒนธรรมของคนในชุมชน ไม่ต้องการดึงคนในพื้นที่ออกจากหมู่บ้าน แต่เพียงต่อยอดความคิด สร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เพิ่ม ช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เกิดทางเลือกที่มากขึ้น" ธาราทิพย์ กล่าว
หลังตัดสินใจเลือกบ้านตองกาย "ธาราทิพย์"และเพื่อนๆ จึงทำโครงการชื่อว่า "HEROs สอนหลาน" เพื่อเป้าหมาย 2 เรื่อง คือ 1.ให้คนรู้จักชุมชนและให้คนที่สนใจงานไม้กลึงได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ มีการประชาสัมพันธ์ต่อภายนอกผ่านหลายช่องทาง อาทิ เฟซบุ๊ค มีแฟนเพจ "Baantongkai woodturning – บ้านตองกาย" หรือจัดทำโปสเตอร์ติดตามร้านกาแฟ ร้านหนังสือ รวมถึงที่ miniTCDC เชียงใหม่ พบว่า มีช่างไม้ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจ เดินทางไปเรียนรู้มากพอสมควร ช่วยเพิ่มรายได้และ ชื่อเสียงของชุมชนได้ไม่น้อย นำไปสู่ 2.การสร้าง ผู้สืบทอด ซึ่งเป็น "ความหวัง" ของช่างไม้บ้านตองกาย ปัจจุบันคนที่ทำงานไม้กลึงมีอายุ 60-70 ปี เป็นรุ่นที่ 3 จึงอยากให้มี "รุ่นที่ 4" สืบทอดสานต่อ
"มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบ หลากหลาย ทันสมัย เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดได้ มากขึ้น ซึ่งเกิดผลดี อาทิ ทำให้เด็กรุ่นหลานอายุ 11-12 ปี เมื่อเห็นไม้กลึงทำเป็นตุ๊กตาญี่ปุ่นก็สนใจอยากทำบ้าง จากเดิมที่ไม่เคยสนใจทำเลย" ธาราทิพย์ กล่าว
ด้าน "ศรีลา คุ้มภัย" หัวหน้าช่างกลึงไม้บ้านตองกาย วัย 64 ปี เล่าว่า เริ่มทำงานไม้กลึงมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ทักษะการกลึงไม้ที่นี่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดจาก "รุ่นสู่รุ่น" ตนถือเป็นรุ่นที่ 3 ของบ้าน ที่ผ่านมารับงานผลิตสินค้าแบบ "เน้นปริมาณ" เป็นจำนวนมาก อาทิ โตก โกศ และชุดชากาแฟ แม้จะมีงานมาเรื่อยๆ แต่ปัญหา คือ "ขาดผู้สืบทอด" เพราะคนรุ่นใหม่ๆ มองว่ายากจะสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากขาด "ทักษะการออกแบบ" ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่
"ศรีลา" กล่าวอีกว่า โครงการของกลุ่มนักศึกษาจาก มช. ทำให้ชุมชนบ้านตองกายเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากคนภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะ "คนรุ่นใหม่" ที่ สนใจด้านงานไม้และการออกแบบ ส่วนช่างในชุมชนเองนอกจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้"จากคนเหล่านี้ เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตชิ้นงาน ต่อยอดพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นด้วย
"โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีในการนำเสนอคุณค่า และต่อยอดทักษะหัตถกรรมไม้กลึงของชุมชนโดยผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์และใช้สื่อต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ หวังว่าจะทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก และได้รับการสืบต่อจากคนรุ่นใหม่เพื่อให้ไม้กลึงอยู่คู่กับคนไทย ตลอดไป" หัวหน้าช่างกลึงไม้บ้านตองกาย กล่าว
ขณะที่ "อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล" ผู้อำนวยการ TCDC ระบุว่า โครงการ HEROs สอนหลาน เป็น 1 ใน 3 โครงการที่ได้รับคัดเลือกจากทั้งหมด 15 ทีม ที่เข้าร่วมประกวด ในกลุ่มสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม เครือข่ายกระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบสู่ภูมิภาค (miniTCDC) จนได้รับทุนสนับสนุนให้ดำเนินการ "ทดลอง" บนพื้นที่จริง ซึ่ง "โดดเด่น" ในแง่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน "เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมกับ TCDC สนับสนุนกิจกรรม Love Your Local Love Your City จนต่อยอด มาเป็นโครงการนี้ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการทำงานร่วมกันและเห็นตรงกัน คือ เรื่องของ "ความยั่งยืน" ที่จะทำอย่างไรให้แต่ละโครงการสามารถทำให้กิจกรรมเหล่านี้อยู่ในระบบของการจัดการเรียนการสอน ซึ่งผลงานที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของนักศึกษา ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ความรู้ที่ได้จาก TCDC และกระบวนการมีส่วนร่วมของนักศึกษากับชุมชนท้องถิ่น…
ความสำเร็จของโครงการ "HEROs สอนหลาน" ณ บ้านตองกาย จึงถือเป็น "ต้นแบบ" ให้กับอีกหลายชุมชน ในเรื่องการจัดการท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน