โครงการ ‘เด็ก don’t drive’

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


โครงการ 'เด็ก don't drive' thaihealth


เรื่องเล่าจากชีวิตจริง 12 เรื่องในหนังสือบทเรียนที่แลกมาด้วยน้ำตา จากปลายปากกา อรสม-ปองธรรม สุทธิสาคร แจกให้ครู-นักเรียนกว่า 50 โรงเรียน เป็นคู่มือโครงการเด็ก don't drive : ก่อน 15 ปี เลิกขี่ เลิกเจ็บ เลิกตาย


เพียงเสี้ยววินาทีเช่นนั้นใครจะไปคาดคิดว่าลูกออกไปแล้วจะไม่ได้กลับบ้านอีก เพราะไม่อยากให้พ่อแม่คนไหนต้องเสียใจเสียน้ำตาอีกแล้ว ทุกวันนี้ยังทำใจไม่ค่อยได้ ยังคิดอยู่เสมอว่าตอนนี้ลูกไปโรงเรียนยังไม่กลับบ้าน พอตกค่ำก็คิดว่าลูกยังนอนอยู่บนบ้าน หลอกตัวเองเพื่อให้อยู่ได้


ปัจจุบัน แม้จะมีความตื่นตัวจากทุกภาคส่วน แต่เมืองไทยยังมีอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนสูงมาก ถือเป็นอันดับ 2 ของโลก จากการคาดการณ์ประมาณตัวเลขของ WHO (Global Status Report 2015) ยิ่งเจาะลึกลงไปจะพบความจริงว่าประเทศไทยคืออันดับ 1 ของโลกที่มีอัตราการตายด้วยรถจักรยานยนต์สูงที่สุด ความรุนแรงของปัญหาอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์กับเด็กและเยาวชนปรากฏเป็นข่าวพาดหัวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทุกๆ ปีเด็กและเยาวชนกว่า 2,500 รายต้องจากไปเพราะอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนกลุ่มอายุ 15-19 ปีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงถึงปีละ 1,688 ราย และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เด็กกลุ่มนี้อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะขับรถได้ตามกฎหมาย


คนไทยตายจากจักรยานยนต์ร้อยละ 72 โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เสียชีวิต เด็กกับรถมอเตอร์ไซค์ดูจะแยกออกจากกันได้ยาก บ่อยครั้งเราได้ยินเสมอว่าเด็กจะต่อรองขอมอเตอร์ไซค์จากพ่อแม่เพื่อแลกกับการไปเรียนหนังสือ เมื่อพ่อแม่ตอบตกลงซื้อให้เท่ากับเป็นการหยิบยื่นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ความเสียใจ เสียโอกาส เสียอนาคต ที่เยาวชนเหล่านี้จะเติบโตเป็นกำลังของประเทศชาติ แต่กลับต้องทิ้งอนาคตไว้บนท้องถนน เพราะขาดประสบการณ์ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความประมาทของคู่กรณี


โครงการ 'เด็ก don't drive' thaihealth


ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก จัดกิจกรรมร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัว โครงการเด็ก don't drive : ก่อน 15 ปี เลิกขี่ เลิกเจ็บ เลิกตาย ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ กำลังผลักดันนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะใช้เวลาที่ว่างขึ้นจากการเรียนในหลักสูตรมาใช้ในการเรียนรู้เพื่อสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจร สาเหตุการตายลำดับหนึ่งของเด็กวัยรุ่น รวมทั้งการสร้างทักษะให้เป็นนักรณรงค์ นักจัดการความปลอดภัยที่สามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่นได้


รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของกลุ่มเด็กวัย 10-14 ปี ด้วยสาเหตุหลักจากรถมอเตอร์ไซค์ทั้งการขับขี่ก่อนวัย เมาแล้วขับ ขับรถเร็วโดยไม่สวมหมวกนิรภัย ถ้าเด็กกลุ่มนี้ปฏิบัติตามกฎหมายคือไม่ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ก็จะลดการตายของเด็กในวัยนี้ได้ถึงร้อยละ 65 และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ร้อยละ 40


"ถึงแม้ว่า พ.ร.บ.จราจรมีผลบังคับใช้มาแล้ว 40 ปี จะห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ อนุญาตให้เด็กอายุ 15-18 ปีขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ แต่อยู่ในเงื่อนไขเครื่องยนต์ต้องไม่เกิน 110 ซีซี แต่กฎเหล่านี้ถูกละเลยจากสังคม ครอบครัว โรงเรียน ผู้นำท้องถิ่น ตำรวจ นักวิชาการ เวลานี้เด็กวัย 7 ขวบ นักขับมือใหม่ก็เริ่มหัดขับแล้ว เด็กวัย 10-11 ปีหัดขับรถมอเตอร์ไซค์มากที่สุด ร้อยละ 63.8 คนที่สอนคือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ข้อมูลสำรวจเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 จาก 9 จังหวัด จำนวน 2,822 คน อายุเฉลี่ย 12 ปี พบว่า ร้อยละ 57.6 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นแล้ว เด็กผู้ชายขับขี่เป็นมากกว่าเด็กผู้หญิง" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวดังนั้นจึงต้องมีการตั้งเป้าหมายลดพฤติกรรมขับขี่ก่อนวัย 15 ปีให้เหลือ 0 การโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องใช้หมวกนิรภัย 100% ไม่โดยสารผู้ขับขี่ที่เมามาย ผู้ขับขี่อายุน้อยกว่า 15 ปี จัดกิจกรรมให้เด็ก ครอบครัว ชุมชนรับรู้ถึงความเสี่ยง รับรู้ข้อกำหนดของกฎหมาย การมีส่วนร่วมและเป็นภารกิจร่วมกัน


โครงการ 'เด็ก don't drive' thaihealth


พรหมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า บนเวทีนี้ควรมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 2-3 คนมารับฟังปัญหา "เด็กตายคาที่ในอ้อมอกผมเยอะมาก ยิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ เวลานี้โลกทั้งใบต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน แต่ศักยภาพของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ในต่างประเทศมีกฎหมายและเจ้าหน้าที่ควบคุมการใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่อีกหลายประเทศปล่อยปละละเลย บ้านเราเด็กตายเพียบ เราคงไม่อยากจะเห็นเด็กนักกีฬาของเราเป็นแชมป์พาราลิมปิกเกมกันมากมาย เด็กกำพร้าพ่อแม่เพราะตายด้วยอุบัติเหตุ ทิ้งภาระเหล่านี้ให้กับครู เด็กวัยรุ่นตายก่อนวัยอันควร เป็นความสูญเสียที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เราไม่อยากเห็นภาพที่สะเทือนใจเหล่านี้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรรับส่งเด็กเหล่านี้ไปโรงเรียน หรือให้เลือกใช้บริการรถสาธารณะเพื่อความปลอดภัยของเด็ก"


วิสูตร อุดมพฤกษชาติ ผู้อำนวยการ รร.บ้านชำฆ้อ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องโครงการก่อน 15 ไม่ขี่ กล่าวว่า พ่อแม่มักจะตามใจเด็กวัยรุ่นซึ่งพูดยากเย็นแสนเข็ญ แรกๆ ในฐานะที่เป็นครูก็ท้อใจเหมือนกัน แต่เราต้องให้กำลังใจเด็กที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ต้องมีการประชุมผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งเด็กนักเรียนเพื่อให้ความรู้ เพราะเด็กในวัยนี้มีจิตใจโลดโผน ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น พ่อแม่ต้องสูญเสียลูกจากมอเตอร์ไซค์ ตายแล้วไม่สามารถปลุกให้พื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก ตายก่อนวัยอันควร สิ่งเหล่านี้ต้องปลุกจิตสำนึกพ่อแม่ ตำรวจช่วยวางวินัยจราจร


"มีนักเรียน ม.ต้นที่จังหวัดระยองต้องบาดเจ็บและตายเพราะการขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้สิทธิ์สอบใบขับขี่ ระยองเติบโตทางเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ ยอดที่เด็กตายเพราะมอเตอร์ไซค์ก็สูงขึ้นเท่านั้น ผมสะท้อนใจทุกครั้งที่พ่อแม่ต้องเสียน้ำตาที่ลูกตาย ต้องเครียดวิ่งวุ่นพาลูกบาดเจ็บเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่เมื่อโรงเรียนผลักดันโครงการนี้เข้ามา แม้จะเป็นโครงการเล็กๆ แต่ก็ได้ผล เพราะเด็กนักเรียน รร.บ้านชำฆ้อไม่ขี่มอเตอร์ไซค์แล้ว เพราะหลายหน่วยงานช่วยกันรณรงค์ และส่งเสริมให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นต้นแบบการรณรงค์ อีกทั้งให้กำลังใจเด็กที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี" วิสูตร กล่าว


โครงการ 'เด็ก don't drive' thaihealth


ประอรศิริ ชวีวัฒน์ ครู รร.บรรหารแจ่มใสวิทยา 7 จังหวัดสุพรรณบุรี หนึ่งในโรงเรียนนำร่องโครงการก่อน 15 ไม่ขี่ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและนักเรียน รร.บรรหารแจ่มใสวิทยา 7 ตระหนักเรื่องภัยจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ก่อนวัย 15 ปี ทำโครงการรณรงค์ในโรงเรียนด้วยการทำละครและการแต่งเพลงเพื่อเป็นสื่อรณรงค์ การให้ความรู้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการขับขี่ก่อนวัย นักเรียนทั้งภายในและนอกโรงเรียนตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ก่อนวัยิ 15 ปี รู้ถึงผลกระทบต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง ได้เรียนรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการปฏิบัติโครงการ ผ่านการปฏิบัติจริง ทำให้จำนวนเด็กขับขี่มอเตอร์ไซค์ของนักเรียนก่อนวัย 15 ปีลดลง"


สุรพล พูลสวัสดิ์, ต่อลาภ แจ่มจันทร์ เป็นตัวแทนนักเรียน รร.บรรหารแจ่มใสวิทยา 7 แสดงละครเรื่องยามเช้า Drama for Change นาฬิกาชีวิตที่หายไป ไม่ถึง 15 ปีก็ไปแล้ว เด็กแว้น ยกล้อเฟี้ยวซิ่งเสียงดังโชว์สาว มัวแต่มองท่อ ต่อรองพ่อแม่แลกรถแลกเรียน แม่คะหนูได้เกรด 4 หนูขอรถ พ่อแม่ตกลงซื้อรถเป็นใบเบิกทางชั้นเฟิร์สต์คลาสให้เรา ของขวัญชิ้นแรกอาจเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายของลูกก็ได้ รถยนต์ชนกันหน้าโรงเรียน ถนนเป็นทางโค้ง เด็กนักเรียนเซตผมแข็งไม่ใส่หมวกกันน็อก ขับขี่กันด้วยความคึกคะนอง น้องหมาวิ่งตัดหน้ารถเป็นปัญหาสำคัญของผู้ขับขี่


นฤมล สุนทรส หัวหน้าชุมชนก้นปึก จังหวัดระยอง กล่าวว่า เป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่พ่อแม่ต้องดูแลลูกของตัวเองต้องใจแข็งไม่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกขับขี่ "ดิฉันมีหลาน 7 คน เรียนจบ ปวส.กันแล้วขี่มอเตอร์ไซค์ไม่เป็นสักคนเดียว ในครอบครัววางกฎเกณฑ์ไว้ว่าจะต้องปลีกตัวเช้าเย็นพ่อแม่ไปส่งลูก อย่าคิดว่าเป็นการสร้างภาพ เราก็บอกว่าเด็กขาหักแขนหักพ่อแม่ก็ต้องเดือดร้อนไปทำงานไม่ได้ ดังนั้นต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลลูกของตัวเอง นักเรียนร้อยพ่อพันแม่ ครูไม่มีเวลาดูแลให้ทั่วถึง พ่อแม่ต้องทำหน้าที่รับส่งลูกเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้"


อารักษ์ พรประภา รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า กฎหมายบังคับไม่ให้เด็กต่ำกว่า 15 ปีขับขี่มอเตอร์ไซค์ เป็นเรื่องดีที่สุดที่ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ไม่ใช่มีกฎหมายไว้แหกกฎ หมวกกันน็อกเป็นสิ่งที่ใส่แล้วไม่ได้ปลอดภัย แต่อย่างน้อยช่วยลดความรุนแรงลงได้ เราจะรอฝนฟ้าประทานให้มีสาธารณูปโภคที่ดีรองรับเพื่อให้บริการเด็กไปโรงเรียนนั้นก็คงจะต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆ สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เราต้องให้ความรู้กับเยาวชนที่อยากจะขับขี่มอเตอร์ไซค์อย่างปลอดภัย เด็กวัยนี้เล่นซ่อนแอบ เห็นตำรวจก็จะใส่หมวกกันน็อก ทำอย่างไรให้ทุกคนในสังคมเคารพกฎระเบียบ วินัยจราจร มีการพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หารือกับ นิกร จำนง วางหลักสูตรความปลอดภัยบนท้องถนน มีการกำหนดหลักสูตรลดการเรียน เพิ่มความรู้ ต้องยอมรับกันว่าบางคนขี่มอเตอร์ไซค์เรียบร้อยปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัย แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในบางครั้งเกิดจากอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้มีวินัยทำตามกฎจราจร ทำให้กลายเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุ


อนึ่งครูและนักเรียนกว่า 50 โรงเรียนร่วมกันทำ workshop แนวทางสร้างสรรค์โครงการเด็ก don't drive : ก่อน 15 ปีไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ และทุกคนจะได้รับหนังสือบทเรียนที่แลกมาด้วยน้ำตา เรื่องเล่าจากชีวิตจริง 12 เรื่อง ในหนังสือบทเรียนที่แลกมาด้วยน้ำตา เขียนโดย อรสมปองธรรม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีอิสระ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัยสนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่

Shares:
QR Code :
QR Code