โครงการอาชาบำบัด กระตุ้นพัฒนาการเด็กพิเศษ
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
กิ่งกาชาดอำเภอเบตง ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 2 จังหวัดยะลา จัดโครงการ "อาชาบำบัด" กระตุ้นพัฒนาการเด็กพิเศษ เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ พร้อมดึงสัมผัสธรรมชาติกระตุ้นความสนใจ
นางสาวกูนูรอัยนี ราชมุกดา ครูผู้สอนศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 2 จังหวัดยะลา หน่วยบริการเบตง ได้นำนักเรียนเด็กพิเศษเข้าร่วมโครงการ "อาชาบำบัด" ซึ่งทางกิ่งกาชาดอำเภอเบตง ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 2 จังหวัดยะลา จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็กพิเศษ และเพื่อให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานและน้อง ๆ ศูนย์การศึกษาพิเศษ (หน่วยบริการเบตง) โดยใช้อาชาบำบัดเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มออทิสติก เผยงานวิจัยชี้ช่วยลดอาการวอกแวก เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ พร้อมดึงสัมผัสธรรมชาติกระตุ้นความสนใจ
นางสาวกูนูรอัยนี ราชมุกดา ครูผู้สอนศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 2 จังหวัดยะลา เปิดเผยถึงโครงการ "อาชาบำบัด" สำหรับเด็กกลุ่มอาการออทิสติก ว่า วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นพัฒนาการในด้านความรู้สึก และการรับรู้เข้าใจด้านการเข้าสังคม และด้านสุขภาพร่างกาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ปกครอง และเด็กกลุ่มอาการออทิสติก อายุระหว่าง 3-5 ปี ที่เข้ารับบริการ ณ หน่วยบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว
ซึ่งทางศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 2 จังหวัดยะลา และกิ่งกาชาดอำเภอเบตง ได้เล็งเห็นว่าการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ นอกเหนือจากการฝึกด้านพัฒนาการและรักษาด้วยยาแล้ว การบำบัดด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็สามารถช่วยให้เด็กได้รับการกระตุ้นพัฒนาการให้ดีขึ้นได้ โดยการบำบัดอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นที่น่าสนใจ คือ การบำบัดด้วยสัตว์ ซึ่งช่วยในการรับรู้สัมผัส เสริมสร้างสมาธิ ให้สัมผัสที่อบอุ่น ปลอดภัย และเป็นมิตร เพิ่มแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งยังช่วยสร้างสัมพันธภาพและการตอบสนองทางอารมณ์อีกด้วย
นอกจากนี้ การขี่ม้าตามธรรมชาติทำให้ผู้ขี่ได้รับการบำบัดจากการรับลมที่พัดโบก ได้กลิ่นอายจากดอกไม้ ซึ่งอำเภอเบตงเป็นอำเภอที่ไม่มีศูนย์ทหารม้าที่รับบำบัดเด็กกลุ่มนี้ หากต้องการบำบัดรักษา หรือกระตุ้นพัฒนาการโดยใช้อาชาบำบัดแบบเต็มรูปแบบ ผู้ปกครองจะต้องเดินทางไปถึงจังหวัดปัตตานี ทำให้การเดินทางไม่สะดวก และอาจไม่สามารถพาไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่อำเภอเบตงมีลักษณะภูมิประเทศที่มีพื้นที่ภูเขาล้อมรอบ มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เด็กได้ชี้ชวนกันดูแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้รับรู้ และสัมผัสสายลมที่พัดผ่านกาย ช่วยให้ผ่อนคลาย จึงเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการให้ผู้ปกครองเข้าถึงการกระตุ้นพัฒนาการ และการช่วยเหลือเด็กกลุ่มอาการออทิสติกได้สะดวกและง่ายขึ้น
ด้าน นายวิระวุธ อินทรัตน์ นักอาชาบำบัด กล่าวว่า การใช้อาชาบำบัดก่อให้เกิดผลดีต่อกลุ่มเด็กพิเศษ และกลุ่มที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการ นอกจากนี้ ยังมีการนำมาใช้ในการบำบัดกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาทางด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมทั้งเด็กพิการทั้ง 9 ประเภท ก็ได้จัดให้เข้าร่วมโครงการอาชาบำบัด เช่นกัน ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะการอยู่บนหลังม้าได้ดี จะต้องมีการทรงตัวที่ดี มีสัมผัสที่แนบแน่นกับตัวม้า คือ ขาต้องหนีบไว้ข้างลำตัวม้าตลอด และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการขี่ม้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะที่ได้เพิ่มขึ้นจากการขี่ม้าโดยอัตโนมัติ อีกทั้ง จังหวะการก้าวย่างของม้าใกล้เคียงกับจังหวะการก้าวเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กพิเศษได้มีโอกาสนั่งบนหลังม้า ก็เปรียบเสมือนกับการได้ฝึกเดินด้วยตัวเอง
อีกทั้ง การนั่งบนหลังม้ายังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เพราะต้องขยับอิริยาบถตลอดเวลา ซึ่งสามารถช่วยลดอาการเกร็งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เสมือนการทำกายภาพบำบัดรูปแบบหนึ่ง ที่ผ่านมาการพัฒนาของเด็กพิเศษที่เข้าร่วมโครงการ ก็ได้ผลดีมีสมาธิ และการควบคุมร่างกายดีขึ้น