โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย
สสส.หนุนเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย จัด "โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ" นำร่องใน 13 จังหวัด ผลการดำเนินงาน สามารถช่วยผู้ต้องขังเลิกบุหรี่ได้ 750 คน ร้อยละ 34.4 หรือ 258 คน เลิกได้ต่อเนื่อง ตั้งเป้าขยายไปยังเรือนจำอื่นๆ อย่างน้อย 10 แห่งภายในปี 2561 นี้
รศ.สุปาณี เสนาดิสัย ประธานเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าจากการสำรวจ พฤิตกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศพบผู้ต้องขังมากกว่าร้อยละ 75 มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะผู้ต้องขังในกลุ่มที่มีความเป็นอยู่ที่แออัด มักนิยมสูบบุหรี่เพื่อคลายความเครียด การสูบบุหรี่ นอกจากจะทำลายสิ่งแวดล้อมในเรือจำแล้ว ยังทำลายสุขภาพของผู้ต้องขังและเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังด้วยโดยเฉพาะมะเร็งปอดเครือข่ายพยาบาลฯ จึงได้จัดทำ "โครงการเรือนจำปลอดบุหรี่โดยพยาบาล" ขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การลดพฤติกรรมสูบบุหรี่ และเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ในสังคม โดยได้เริ่มตั้งแต่ ในปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา ผลจากการดำเนินงานพบว่า พยาบาลมีศักยภาพที่จะปฏิบัติงานควบคุมยาสูบในทุกมิติ ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ สามารถช่วยให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เลิกบุหรี่และช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมในเรือนจำให้ปลอดบุหรี่ได้
"ทั้งนี้เพื่อขยายผลไปสู่การพัฒนาเป็นต้นแบบเรือนจำปลอดบุหรี่ โดยเฉพาะด้านการสร้างสิ่งแวดล้อม ในเรือนจำให้ปลอดบุหรี่ ทางเครือข่ายพยาบาลฯ จึงได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์จัดทำ "โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ" ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพพยาบาลที่ปฏิบัติงานในเรือนจำให้มีความรู้ ด้านการควบคุมยาสูบอย่างเข้มข้น สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการฯ ไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการควบคุมยาสูบ ในเรือนจำและขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในประเทศไทยตามบทบาทของวิชาชีพพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ประธานเครือขายพยาบาลฯ กล่าว
ด้าน ดร.สุรินธร กลัมพากร เลขาธิการเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ กล่าวว่า "โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ" ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ค. 2557- 15 พ.ค.2559 รวมระยะเวลา 2 ปี มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เรือนจำเป็นเขตปลอดบุหรี่ ด้วยการสนับสนุนให้มีการควบคุมยาสูบ และให้พยาบาลสามารถสร้างระบบบริการเลิกบุหรี่ในเรือนจำ โดยบูรณาการกับงานประจำเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการเลิกยาสูบ เริ่มจากการคัดเลือกเรือนจำนำร่องเข้าร่วมโครงการฯ ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่จัดอบรมให้กับพยาบาลที่ปฏิบัติงานในเรือนจำ ในการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ ผลักดันให้เกิดคณะทำงานสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ จัดให้บริการเลิกบุหรี่ให้กับผู้ต้องขังที่สมัครใจ พัฒนา พื้นที่ปลอดบุหรี่และควบคุมกำกับให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการควบคุมยาสูบของเรือนจำอย่างเคร่งครัด ติดตามการดำเนินงานและให้คำปรึกษาแก่ พยาบาลที่ร่วมโครงการฯ จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปผลการดำเนินงาน
ซึ่งการดำเนินโครงการฯครั้งนี้มีเรือนจำสมัร เข้าร่วมทั้งสิ้น 13 แห่ง ได้แก่ 1. เรือนจำบางขวาง 2. เรือนจำนนทบุรี 3. เรือนจำสกลนคร 4. เรือนจำมหาสารคาม 5.เรือนจำกำแพงเพชร 6.เรือนจำหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ 7.เรือนจำพิจิตร 8.เรือนจำกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 9.เรือนจำตาก 10. เรือนจำนครพนม 11. เรือนจำขอนแก่น 12.เรือนจำสวรรคโลก จ.สุโขทัย และ 13.เรือนจำฉะเชิงเทรา
ผลจากการดำเนินงานพบว่ามีผู้ต้องขังได้รับการช่วยเหลือให้เลิกบุหรี่ จำนวน 750 คน ในจำนวนนี้มี 258 คน หรือร้อยละ 34.4 ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน เรือนจำที่เข้าร่วมโครงการมี นโยบายการควบคุมยาสูบและการพัฒนาสถานที่ปลอดบุหรี่เพิ่มขึ้นสามารถพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบเรือนจำ ปลอดบุหรี่ได้ 3 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกำแพงเพชร เรือนจำหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และเรือนจำมหาสารคาม
"จากความสำเร็จในครั้งนี้ทางเครือข่าย พยาบาลฯ จึงร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ในการพัฒนาแนวปฏิบัติในการควบคุมยาสูบในเรือนจำโดย ตั้งเป้า จะขยายผลไปยังเรือนจำอื่นๆ ทั่วประเทศอีกไม่น้อยกว่า 10 แห่งภายในปี 2561 นี้ "ดร.สุรินธรกล่าว ในตอนท้าย