โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ จ.ลำพูน

ที่มา : เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก


โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ จ.ลำพูน thaihealth


ชุมชนภาคเหนือ จ.ลำพูน จัดโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ เพิ่มความปลอดภัยทางถนน


การลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน ในโครงการ ”ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ” การจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนภาคเหนือ ณ ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน นำโดย นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และภาคีเครือข่าย ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนงานป้องกันอุบัติเหตุให้เป็นรูปธรรมเพื่อขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่น


ครูนิภาพ  ปาระมี ครูประจำศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัดแม่แรง ต.แม่แรง จ.ลำพูน กล่าวว่า ปัจจุบันที่ศูนย์ฯ จะมีนักเรียน 49 คน แบ่งเป็นช่วงอายุ 2-3 ปี จำนวน 20 คน 3ปี ขึ้นไป จำนวน 29 คน ความรู้ด้านวินัยและความปลอดภัยทางถนน ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้ต้องสอดแทรกในวิชาเรียนต่างๆ ซึ่งปกติเด็กเล็กจะเรียนรู้ได้ไม่มาก ต้องใช้การสอนซ้ำๆ เพื่อให้เกิดการจดจำ โดยเริ่มแรกเกิดจากการจัดเวทีอบรมเชิญผู้ปกครองเข้ารับการอบรมจากวิทยากรด้านจราจร ซึ่งช่วงแรกๆ นั้นจะยังไม่ค่อยทำตาม ทำให้เกิดการทำข้อตกลงร่วมกัน โดยให้ผู้ปกครองเป็นคนกำหนดเกณฑ์ ที่มีมาตรการปรับผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยมารับ-ส่งบุตรหลาน คนละ 10 บาท และนำเงินที่ได้ไปพัฒนาสื่อให้เด็กได้เรียนรู้


ขณะนี้ ผู้ปกครองให้ความร่วมมือดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการสอดแทรกความรู้ด้านวินัยจราจร เริ่มจากการให้ความรู้พื้นฐานตั้งแต่สัญญาณไฟจราจร สัญลักษณ์ต่างๆ ผ่านกิจกรรมวาดรูป ระบายสี ถาม-ตอบ การต่อจิกซอว์ หุ่นคนจำลองใส่หมวกนิรภัย ก่อนจะให้ลงมือปฎิบัติจริงบนสนามจำลอง ที่นำป้ายจราจรที่มีสัญลักษณ์ต่างๆ มาให้นักเรียนฝึกปฎิบัติตาม ทั้งป้ายหยุด ป้ายเขตโรงเรียน ป้ายห้ามแซง และสัญญาณไฟที่มีครูเป็นผู้กำหนด ด้วยการให้นักเรียนปั่นรถจักรยานและสวมหมวกนิรภัย ทำตามป้ายจราจร ตั้งแต่ต้นทางจนถึงจุดสิ้นสุด


คุณสมศักดิ์ แก้วกันตี ผู้ปกครองที่มาส่งบุตรหลาน เปิดเผยว่า ปกติในชุมชนจะเกิดอุบัติเหตุบ่อย เช่น รถลื่นไถล ทางโค้งเยอะ แต่ก่อนเคยเกิดเหตุรุนแรงจนมีคนเสียชีวิต เด็กบาดเจ็บบ่อยครั้ง เมื่อทางศูนย์ฯทำโครงการเช่นนี้ ตนเองก็เห็นด้วย เพราะรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย


คุณกชกร ชิณะวงศ์ นักวิชาการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น (ภาคเหนือ) ระบุว่า เด็กเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ปกครองและชุมชน การรณรงค์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตรของเด็กเล็กด้วย โดยเฉพาะการสื่อสารให้เหมาะสมกับช่วงอายุ เช่น เด็กเล็กที่เน้นสื่อสารผ่านสีสัญญาณไฟจราจร สีเขียว เหลือง แดง เมื่อโตขึ้นก็ใช้การเรียนรู้จากการปั่นจักรยาน ได้ทั้งออกกำลังกาย และเรียนรู้ป้ายสัญลักษณ์จราจรไปพร้อมๆ กัน สำหรับผลของการดำเนินโครงการมาตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา เริ่มเห็นเด็กและผู้ปกครองสวมหมวกนิรภัยมากถึงร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 ที่เหลือนั้นจะต้องพยายามขยายผลต่อไป เพื่อลดสถิติของผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งในหมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียง

Shares:
QR Code :
QR Code