โครงการ“ปิ๊งส์”โชว์ศักยภาพเด็กไทย
ผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
นอกจากความรู้จากหนังสืออย่างเดียวคงไม่พอ สำหรับความเจริญเติบโตทางด้านความคิดของเยาวชน เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตที่จะช่วยในการพัฒนาสังคมและประเทศ ที่ล้วนต้องรับการบ่มเพาะที่ดีจากความรู้นอกตำรา
“ ปิ๊งส์” เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้เยาวชนค้นหาศักยภาพของตนเองผ่านการจุดประกายความคิดและจินตนาการ ที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ ทั้งยังเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการทำกิจกรรมร่วมกันรูปแบบใหม่ ที่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ในการพัฒนา และการร่วมกันแสดงออก ทางความคิดร่วมกัน ผ่านการใช้สื่อสมัยใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคม อาทิ สื่อหนังสั้น แอนิเมชั่นและโฆษณา ถือว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ในการเรียนรู้ที่กว้างมากขึ้น ควบคู่ไปกับการมีสุขภาวะที่ดี ความคิดดี จิตใจดี สังคมและปัญญาดี ล่าสุด ได้ผู้ชนะผลงานการประกวดการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะรางวัลชนะเลิศ 6 ผลงาน และรางวัลมวลชน 1 ผลงาน โดยแบ่งรางวัลออกเป็นประเภทฉายแววเจิดจรัส แนวปิ๊งส์ รางวัลปิ๊งส์ ฉายแววเจิดจรัส แนวปิ๊งส์ โฆษณา ผลงานชื่อ “เกินคาด” มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม แนวปิ๊งส์ หนังสั้น ผลงานชื่อ “rat can do” โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
แนวปิ๊งส์ การ์ตูนแอนิเมชั่น ผลงานชื่อ“change” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาฟาร์อีสเทิร์น จังหวัดเชียงใหม่ ประเภทฉายแววเจิดจรัส แนวคุณ รางวัลปิ๊งส์ ฉายแววเจิดจรัส แนวคุณ โฆษณา ผลงานชื่อ “ไม่ว่างหรือจะต้องให้บังคับ” มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพมหานคร แนวคุณ หนังสั้น ผลงานชื่อ “ความสุขที่มองไม่เห็น” มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพมหานคร แนวคุณ การ์ตูนแอนิเมชั่น ออกแบบผลงานชื่อ “tale story” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรุงเทพมหานคร และประเภทฉายแววมวลชน (popular vote) รางวัลปิ๊งส์ ฉายแววมวลชน ผลงานชื่อ “เราเตือนคุณแล้ว” มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี
อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ (สสส.) กล่าวว่า “ โครงการ ปิ๊งส์ คือ โครงการที่ช่วยสนับสนุนพื้นที่และเปิดโอกาสให้เยาวชนของไทยได้มีโอกาสในการแสดงออกทางด้านความคิดที่ดีได้อย่างเต็มที่และถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ให้เยาวชนได้แสดงออกถึงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ และยังเป็นการส่งเสริมทักษะด้านการผลิตและการลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอนเหมือนมืออาชีพโดยผ่านกระบวนการอบรม เวิร์คช็อปจากภาคีพี่สื่อที่เข้าร่วมโครงการ ช่วยจุดประกายความคิด ฝึกฝนและพัฒนาทักษะ ซึ่งผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดล้วนถือเป็นผลงานที่เยี่ยมยอดและแสดงถึงศักยภาพทางด้านความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นแรงผลักดันให้น้องๆ เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ความพยายาม ความอดทน และความตั้งใจจริง ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับน้องเยาวชนเหล่านี้ถึงการพัฒนาการและการฝึกฝนตนเองขึ้นไปเพื่อเป็นต้นแบบ และเป็นผู้ผลิตสื่อที่ดีเพื่อสังคมต่อไปในอนาคต นำความสามารถที่มีอยู่นี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมประเทศชาติในอนาคต”
ถิง–ชัญญาภัค งามบุษบงเด่น จากมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น จังหวัดเชียงใหม่ และ บอมม์–ลักษดนัย สุวรรณไพโรจน์ จากมหาวิทยาเชียงใหม่ ทีม dx ผู้ชนะเลิศ รางวัลปิ๊งส์ ฉายแววเจิดจรัส แนวปิ๊งส์ สื่อแอนิเมชั่น ด้วยผลงาน “change” น้องๆ เล่าว่า ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ระดับอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ มีความสนใจทางด้านนี้อยู่แล้ว จนมาเจอโครงการนี้ก็รู้สึกสนใจ ได้แรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการนี้คือ อยากรู้ว่าการทำงานด้านแอนิเมชั่นเค้าทำงานกันอย่างไร และเพื่อที่จะได้ฝึกทักษะเพิ่มความสามารถให้กับตัวอง ซึ่งจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์การทำงานร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กับเพื่อนๆ แม้ตอนแรกจะรู้สึกท้อบ้าง แต่ผลที่ได้รับกลับมานั้นได้มากกว่าที่คิดเอาไว้ สำหรับหัวข้อที่ได้รับในการผลิตผลงาน คือ “เปลี่ยนประเทศไทยให้น่าอยู่” โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสังคมของเรา คือเรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดแต่เราอาจจะไม่ใส่ใจแต่พอย้อนกลับมาก็จะเห็นได้ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน จนเป็นที่มาของผลงาน “change” และความสำเร็จในวันนี้จะเป็นแรงผลักดันในการก้าวต่อไปที่เรียนรู้และเพิ่มทักษะและอยากสร้างสรรค์ผลงานใหม่ออกมาให้ดีกว่าเดิม
ด้าน โบ-ทนงศักดิ์ ตันนพรัตน์ และ บูม–ภควัฒน์ แตงหอม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ ทีม เกินคาด ผู้ชนะเลิศ รางวัลปิ๊งส์ ฉายแววเจิดจรัส แนวปิ๊งส์ สื่อโฆษณา ด้วยผลงาน “เกินคาด” เล่าถึงแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า มีความสนใจทางด้านนี้อยู่แล้วและอยากสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมขึ้นมาเพื่อให้คนอื่นได้เห็นถึงความคิด จึงได้เข้ามาร่วมอบรม พอได้เรียนรู้พื้นฐานของแนวคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น กล้าแสดงออกทางความคิดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ สามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้มากกว่าที่คิดไว้ โดยเฉพาะแรงบันดาลใจของผลงานมาจาก เห็นโฆษณาลดสูบบุหรี่ ซึ่งพวกเราวัยรุ่นจะมีข้อคิดเห็นแตกต่างกันไป โดยเฉพาะการเข้าถึงวัยเดียวกัน มุมมองและความเข้าใจ ซึ่งทำให้สามารถประสบความสำเร็จในครั้งนี้ รู้สึกว่าได้ประสบการณ์และความรู้ดีๆ อีกทั้งยังทำให้พวกเรารู้สึกสนุกและท้าทายในการกระตุ้นความคิดดีๆ ที่มีคืนกลับให้สังคมของเรา
ไซอิ๋ว–เศรฐสิริ ชาญจรัสพงษ์ จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตัวแทนจากทีม rat can do ผู้ชนะเลิศ รางวัลปิ๊งส์ ฉายแววเจิดจรัส แนวปิ๊งส์ สื่อหนังสั้น ด้วยผลงาน “rat can do” เล่าถึงความประทับใจในการร่วมโครงการในครั้งนี้ว่า พวกเราชอบหนังสั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และได้ทราบถึงโครงการนี้จึงได้ร่วมกับเพื่อนสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเพราะคิดว่า เป็นโอกาสที่ดีในการเปิดโลกให้กว้างขึ้นและสร้างมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็น ได้เจอผู้คนในสายการทำหนังสั้นมากมาย เรียกได้ว่า วัยรุ่นอย่างเราปกติคงไม่มีโอกาสได้คุยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นช่วยในการจุดประกายความคิด ได้เสริมสร้างทักษะการลงมือปฏิบัติจริง ได้ลงกองถ่ายแบบจริงๆ ได้เตรียมงานแบบมืออาชีพ สำหรับแรงบันดาลใจผลงานชิ้นนี้มาจากที่เรามองเห็นคนหลายๆกลุ่มพยายามช่วยกันแก้ปัญหาใหญ่ๆโดยลืมดูปัญหาเล็กๆไป เราเลยเล่าเรื่องนั้นผ่าน การถ่ายแบบ home video เพื่อบอกว่า เด็กคนหนึ่งเขาพยายามแก้ปัญหาใหญ่ๆแล้วไม่สำเร็จ ยากเกินไป สำหรับวัยรุ่น ผลงานชิ้นนี้ต้องการให้ผู้ใหญ่และสังคมควรหาทางแก้ทุกปัญหาโดยอย่าละเลยแค่เพียงคิดว่าเป็นเพียงปัญหาเล็กเท่านั้น เพราะปัญหานี้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาของสังคมต่อไปก็ได้ และรางวัลนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับพวกเรามาก มันทำให้เราได้รู้ว่าถ้าเรามีฝัน มีทุน มีแรงที่จะทำ เราก็สามารถได้จริง แล้วออกมาให้ดีมากกว่าเดิม
แม้ว่าโครงการประกวดการผลิตผลงานสื่อสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะในครั้งนี้จะจบไปแล้ว แต่พวกเขายืนยันว่าจะมุ่งมั่นฝึกฝนตนเองเพื่อก้าวสู่เป้าหมายที่สำคัญเพื่อใช้ทดสอบความสามารถและสร้างสรรค์สื่อที่ดีต่อไปเพื่อสังคมที่ยั่งยืนของพวกเราทุกคน
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
update: 17-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน