‘แอลกอฮอล์’ ‘นักฆ่า’ ที่คนไม่กลัว?

เทศกาลปีใหม่ที่เพิ่งผ่านไป การบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถ ยังคงไม่ลดอย่างที่มีการคาดหวัง ซึ่ง “เมาแล้วขับ”ยังเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุขณะเดียวกัน กับคนที่ไม่ได้ขับรถ แต่ “เมาเละ”หรือเข้าใจผิดๆ ว่า “เมาแก้หนาว”ได้ ก็บาดเจ็บ ป่วย หรือถึงขั้นเสียชีวิต ไปอีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ บางส่วนจากข้อมูลเผยแพร่ของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ระบุไว้ว่า…การมีแอลกอฮอล์ในเลือดจะมีผลต่อร่างกายคือ…ถ้ามี 30 มก.% (มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) จะออกฤทธิ์กดประสาททำให้ความอายลดลง พฤติกรรมเปลี่ยน เช่น จากเงียบๆ เป็นร่าเริง,ถ้ามี 50 – 150 มก.% จะเดินไม่ตรง โซเซ เนื่องจากเสียการควบคุมระบบกล้ามเนื้อการเคลื่อนไหว การตัดสินใจช้าลง สมรรถภาพการมองเห็นลดลง, ถ้ามี 150 – 300 มก.% จะสับสน ง่วง ซึม ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ พูดไม่ชัด การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายไม่ประสานกัน, ถ้ามี 300 – 500 มก.% จะเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ มองเห็นเลือนราง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ระบบหายใจถูกกด บางรายอาจหายใจไม่ออกและเสียชีวิต…ก็ลองตรองดูว่าถ้าเมาแล้วขับรถจะเป็นอย่างไร??

บางคนเชื่อว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยแก้หนาวได้แต่เอาเข้าจริงก็มีคนเมาแล้วนอนหนาวตาย เพราะโดยข้อเท็จจริงนั้นทางสาธารณสุขระบุเตือนไว้ว่า…ฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ก็จะทำให้รู้สึกร้อนวูบวาบเหมือนร่างกายอบอุ่นขึ้น แต่จริงๆ แล้วการขยายตัวของหลอดเลือดฝอยจะทำให้ความร้อนระบายออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น ซึ่งยิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ความร้อนก็จะยิ่งถูกระบายออกมากขึ้น ที่สำคัญคือ อุณหภูมิร่างกายอาจลดลงต่ำกว่าระดับปกติ และหากเมาไร้สติแล้วหลับไปโดยมิได้มีการทำให้ร่างกายอบอุ่นเพียงพอ ร่างกายสัมผัสอากาศหนาวเย็นเป็นเวลานานอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

เมาแล้วขับจะเกิดอุบัติเหตุ – เมาแล้วหนาวตาย…เรื่องจริงเป็นเรื่องจริงเช่นเดียวกับพิษแอลกอฮอล์ที่มีต่อร่างกาย…

พิษแอลกอฮอล์ที่มีต่ออวัยวะหลายอย่างในร่างกายนั้น พิษที่มีต่อสมองก็น่ากลัว และแอลกอฮอล์ยังมีพิษภัยเกี่ยวพันกับ “โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน” ด้วย ซึ่งกับโรคหลอดเลือดสมองนี้ นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูล – ให้ความรู้ความเข้าใจไว้ว่า…เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง และต้องรีบรักษาอย่างทันท่วงที เพราะ เป็นสาเหตุของความพิการและการเสียชีวิตอย่างฉับพลันทั้งนี้ 70% ของผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติขณะเดียวกัน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงก็มีโอกาสเป็นโรคระบบหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ เพราะหลอดเลือดแข็งตัวได้ง่าย ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวาน และไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง ส่งผลให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน จนมีอัตราเสี่ยงเป็นอัมพาตสูงกว่าคนปกติ 2 – 3 เท่า นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจชนิดขาดเลือดไปเลี้ยง จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดได้ 2 – 5 เท่าของคนปกติ และถ้าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะมีโอกาสเสี่ยงสูงถึง 6 เท่า

และปัจจัยเสี่ยงนอกเหนือจากการเป็นโรคที่เกี่ยวกับความดัน หรือการหมุนเวียนของเลือดไม่ปกติแล้ว การ “ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” จะเป็นปัจจัยเสริมให้ “เกิดอัมพาตได้ง่าย!!”

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้อีกว่า…รูปแบบการรักษาโรคหลอดเลือดในปัจจุบัน มีทั้งการผ่าตัด และแบบไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ รวมถึงความรุนแรงของโรค โดยปัจจุบันการรักษารูปแบบไม่ผ่าตัดได้พัฒนาขึ้นมาก และทำได้หลายวิธี เช่น ให้ยา ฉีดยาบล็อกเส้นประสาท ฉีดสี สวนหลอดเลือด เป็นต้น และยังมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้การตรวจรักษาแม่นยำ โดยเฉพาะเครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด ไบ – เพลน ดีเอสเอ (Biplane DSA) ที่เป็นเครื่องที่ใช้ตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ตับ หลอดเลือดแขน ขา และหลอดเลือดทั่วร่างกายซึ่งการตรวจที่แม่นยำจะช่วยให้การรักษาทำได้ทันท่วงที

อาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบตันคือ ชาแขน ขา ใบหน้า หรือข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย สับสน พูดไม่เข้าใจ เห็นภาพซ้อน ตามัวข้างเดียว เวียนหัว ปวดหัวรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุวิงเวียน ทรงตัวไม่อยู่ บางรายอาจเป็นลมหมดสติ ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มิเช่นนั้นอาจจะพิการหรือเสียชีวิตได้ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ที่มีในไทยถือว่าก้าวหน้ามาก อย่างไรก็ตาม ภัยต่าง ๆ โรคต่าง ๆ ทั้งภัยใหม่-โรคใหม่ภัยเก่า-โรคเก่า ก็ยังคงคร่าชีวิตคนไทยได้ปีละเป็นจำนวนมาก เพราะขาดการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีพอและการเอาตัวเข้าไปเสี่ยงกับ”นักฆ่า”รูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่ม “แอลกอฮอล์” “เสียชีวิต” เพราะเครื่องดื่ม “แอลกอฮอล์” ปีละไม่น้อยเพราะคนไทยจำนวนมาก “ไม่กลัวนักฆ่า” รูปแบบนี้??

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

Shares:
QR Code :
QR Code