แอพ ‘สบายใจ’ ลดเสี่ยงฆ่าตัวตาย
ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิต แนะประชาชนติดตั้งแอพพลิเคชั่น “สบายใจ” ในมือถือคู่ใจ ป้องกันคิดสั้น หลังใช้ 7 เดือน มีผู้ใช้งานจำนวนมากกว่า 1,000 คน ลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายได้
กรมสุขภาพจิต เร่งพัฒนาระบบป้องกันฆ่าตัวตาย ทำระบบฐานข้อมูลผู้ที่เคยคิดสั้นทั่วประเทศ ตรวจคัดกรอง 6 กลุ่มเสี่ยง สู่ระบบเฝ้าระวัง พัฒนาแอพพลิเคชั่น สบายใจ ประชาชนอายุ 15-65 ปีใช้ประเมินความเสี่ยงฆ่าตัวตายด้วยคำถามง่ายเพียง 9 ข้อ แนะทุกคนติดตั้งไว้หน้าจอมือถือ ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้สามารถเข้าถึงได้ง่ายทางคิวอาร์โค้ด หากมีปัญหามีช่องทางทั้งสายด่วน 1323 และเบอร์โทรของคนที่อยากคุยด้วย จะช่วยยับยั้งความคิดได้ทันท่วงที เผยหลังใช้ในรอบ 7 เดือน มีผู้เข้าใช้งานกว่า 1,000 คน ช่วยลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายได้ เตรียมพัฒนาให้มีระบบสื่อสารโต้ตอบได้ทันที
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน ทุกครอบครัว ข้อมูล ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ประเทศไทยมีคนฆ่าตัวตายปีละ 3,900 – 4,200 คน จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการป้องกันและเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายของประเทศ พบว่าในผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ เกิดมาจากเหตุทะเลาะกับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทุกคนตระหนักและร่วมมือกันลดปัญหา องค์การอนามัยโลกรายงานในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายทั่วโลก ปีละกว่า 800,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ในช่วง 45 ปี คาดว่าในปี 2563 จะมีคนฆ่าตัวตายสูงขึ้น 1.5 ล้านคน
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้เร่งลดปัญหา โดยได้วางระบบป้องกันการฆ่าตัวตาย เน้นการคัดกรองจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 6 กลุ่มหลักได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวช โรคซึมเศร้า โรคเรื้อรัง ผู้ใช้สุราและสารเสพติด ผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล และกลุ่มคนที่มีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน ดำเนินการในโรงพยาบาลทุกแห่งขยายผลลงถึงหมู่บ้านโดยอสม. เพื่อให้การดูแลต่อเนื่อง และในปีนี้ได้เพิ่มการจัดทำฐานข้อมูลผู้ที่มีประวัติพยายามทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายทั่วประเทศ กลุ่มนี้จะมีมากกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4 เท่าตัว คาดว่ามีประมาณ 15,000 คน เพื่อการเฝ้าระวังในพื้นที่ทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 10 เท่าตัว ขณะนี้มีผู้อยู่ในระบบแล้ว 5,000 กว่าคน และพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า สบายใจ (sabai jai) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นประเทศต้นๆของโลก เพื่อให้ประชาชนใช้ตรวจสอบสภาพจิตใจ ความเสี่ยงต่อการคิดสั้นฆ่าตัวตายของตัวเองและคนใกล้ชิด
“ขณะนี้ใช้มาแล้ว 7 เดือน พบว่ามีประชาชนเข้ามาใช้งานจำนวนกว่า 1,000 คน ช่วยลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายลงได้อย่างดี และชื่นชอบแอพฯ นี้ จึงขอแนะนำให้ผู้ที่ใช้มือถือในระบบแอนดรอยด์ ดาวน์โหลดหรือถ่ายภาพจากคิวอาร์โค๊ด ติดตั้งไว้ที่หน้าจอมือถือที่ใช้เป็นประจำ เพราะหากตนเองหรือผู้ใกล้ชิดมีปัญหาสามารถใช้การได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเร่งให้สามารถใช้กับมือถือทุกระบบภายใน 3 เดือนนี้ และจะพัฒนาให้มีคุณภาพการสื่อสาร 2 ทางมากขึ้น โดยให้มีระบบการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ให้บริการขณะใช้งานได้ทันที” นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าว
ทางด้าน นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นฯ ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น สบายใจร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกแบบใช้งานง่าย ใช้ได้ทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุคือ 15-24 ปี , 25-59 ปี ,และ60-65 ปี โดยใช้คำถาม 9 ข้อ ซึ่งได้มาจากการศึกษาวิจัยด้านพฤติกรรมความคิดของคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย รวมทั้งปัญหาชีวิตที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย เช่นเศรษฐกิจ ผิดหวังความรัก สูญเสียคนรัก ทรัพย์สิน ทุกข์ทรมานจากการป่วย เป็นต้น ตอบเพียงใช่ ไม่ใช่ และทราบความเสี่ยงของตนเองได้ภายในไม่ถึง 3 นาที และมีเมนูคำแนะนำเติมกำลังใจการใช้ชีวิตทั้งเรื่องการเรียน ความรัก การงาน การเงิน ครอบครัวและสุขภาพ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะมีเบอร์โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 กดโทรออกได้ทันที ขณะเดียวกันจะให้ผู้ใช้งาน บันทึกหมายเลขโทรศัพท์คนที่อยากคุยด้วยเมื่อมีปัญหาไว้ประจำที่แอพพลิเคชั่นนี้ด้วย จากการประเมินผลพบว่าประชาชนพึงพอใจแอพฯ นี้สูงถึง 4.8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ประชาชนสามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นนี้ โดยเข้าไปที่เมนูเพลย์ สโตร์ (Play Store) ที่หน้าจอ แล้วพิมพ์คำว่าสบายใจทั้งภาษาไทยหรืออังกฤษ หรือใช้วิธีการเชื่อมต่อทางคิวอาร์โค้ด จะสามารถเข้าสู่กูเกิล เพลย์ สโตร์ (google play store) และสามารถดาวน์โหลดติดตั้งที่หน้าจอมือถือได้เลย