แอพฯ yekya ขันอาสา ช่วยคนเก็บขยะติดเชื้อ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


แอพฯ yekya ขันอาสา ช่วยคนเก็บขยะติดเชื้อ thaihealth


แฟ้มภาพ


อีกเรื่องดีๆ ของเยาวชนรุ่นใหม่ สร้างแอพพลิเคชั่น yekya มาใช้ตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของขยะติดเชื้อ  ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เป็นตัวช่วยจัดการขยะติดเชื้อ หลังพบผู้เก็บขยะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากไม่ผ่านการคัดแยกอย่างถูกวิธี


แม้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ปัญหาขยะติดเชื้อ ยังเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เพราะมีปริมาณมากขึ้นจากการใช้หน้ากากอนามัย ถุงมือ ชุดป้องกันเชื้อ รวมไปถึงเข็มฉีดยา ถุงใส่น้ำเกลือ หากไม่ผ่านการคัดแยกและทิ้งอย่างถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อ เจ้าหน้าที่เก็บขยะของหน่วยงานรัฐ หรือ เอกชน ที่เข้ามาเก็บขยะตามบ้านเรือนของประชาชน


ณัธธรณ์ อุลิศ นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี จึงเกิดไอเดียเพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ภายใต้ "โครงการการจัดการขยะติดเชื้อ ในบ้านเรือน"สร้างแอพพลิเคชั่น yekya ขึ้นมา และสร้าง คิวอาร์โคดแปะไว้บนถุงจัดเก็บขยะติดเชื้อที่ผลิตขึ้นมา เพื่อแจกจ่าย ให้ชุมชนตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของขยะติดเชื้อ


ที่หมู่บ้านสมิทธิโชติ เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนแรก และเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ชักชวนให้ผู้นำชุมชน และคน ในชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะติดเชื้อลงถุงที่เขานำไปแจก พร้อมกับประสานไปทางกรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือไปยังสำนักงานเขตต่างๆ แจ้งให้พนักงานเก็บขยะทราบถึงโครงการนี้ และประสานยังบริษัทฯที่ทำลายขยะ เพื่อให้ผู้ทิ้ง ผู้เก็บ และผู้ทำลายขยะ  สแกนคิวอาร์โค้ดบนถุงขยะ เพื่อให้ผู้ดำเนินการโครงการ และ ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินทางขยะติดเชื้อได้ว่า ถึงจุดไหนแล้ว และถูกส่งไปยังจุดสุดท้ายเพื่อทำลายหรือยัง


การทำงานของแอพพลิเคชั่นนี้ เริ่มจากชาวบ้านที่ต้องการ ทิ้งขยะ ต้องคัดแยกขยะติดเชื้อใส่ถุงที่เตรียมไว้ แล้วเอาถุงใส่ขยะไปทิ้งที่ถังขยะในชุมชน ซึ่งเป็นถังใส่ขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ โดยทั้งบนถุงและหน้าถังขยะจะมีคิวอาร์โค้ดติดอยู่ หลังสแกนแล้วจะเข้าสู่แอพพลิเคชั่น yeka ทำการลงทะเบียนเข้าใช้ และเลือกว่าจะเป็น ผู้ทิ้งขยะ ผู้จัดเก็บขยะ ผู้ทำลาย หรือ ผู้ดำเนินโครงการ


หลังจากนั้นก็เลือกประเภทและจำนวนของขยะที่ทิ้ง และบันทึกข้อมูล ซึ่งระบบจะประมวลผลไว้ เมื่อผู้เก็บขยะมาเก็บ ก็ทำแบบเดียวกัน จนถึงผู้จัดการขยะ ท้ายสุดแล้วระบบจะประมวลผลทั้งหมดให้ผู้ดำเนินโครงการได้ทราบข้อมูลว่า ในแต่ละวันมีการทิ้ง จัดเก็บและทำลายขยะติดเชื้อประเภทไหนบ้าง ซึ่งสามารถเก็บเป็นสถิติข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคตได้


"ช่วงที่มีปัญหาโควิด-19 ผมจะเห็นข่าวบ่อยๆ ว่า ผู้เก็บขยะ ติดเชื้อมีปัญหา เพราะเขาไม่ทราบว่าขยะที่เก็บมานั้นติดเชื้อหรือไม่  ผมจึงเกิดไอเดียนี้ขึ้นมา ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ สสส.ให้โอกาสคนทั่วไปเสนอโครงการ ผมจึงเสนอโครงการนี้เข้าไป เพราะคิดว่าสามารถช่วยคนเก็บขยะลดความเสี่ยงลงได้ ขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบได้ว่า ขยะติดเชื้อถูกคัดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี หรือไม่"


ณัธธรณ์ บอกว่า จากการทำโครงการนี้ นอกเหนือจากอยากช่วยคนเก็บขยะปลอดภัยจากขยะติดเชื้อแล้ว ยังคาดหวังว่า  โครงการเล็กๆ ของเขาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยจุดประกายให้คน ในชุมชนเริ่มตระหนัก หรือให้ความสำคัญกับเรื่องการแยกขยะก่อนทิ้ง หากประชาชนได้ทำจนเคยชิน ก็หวังว่าจะทำให้รู้จัก แยกขยะทุกประเภทก่อนทิ้ง ไม่ใช่แยกเฉพาะขยะติดเชื้อเท่านั้น


ทางด้าน วันวิไล พลลพ ประธานชุมชน หมู่บ้านสมิทธิโชติ และอีกบทบาทหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่อาสาสาธารณสุขชุมชน (อสส.) เปิดเผยว่า โครงการคัดแยกขยะติดเชื้อในชุมชน เป็นไอเดียที่ดี  ถ้าทุกคนในชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะติดเชื้อก่อนทิ้ง ก็จะมีประโยชน์มาก


"โดยส่วนตัวไม่รู้มาก่อนว่า ก้นบุหรี่ เข็มฉีดยา เป็นขยะติดเชื้อด้วย พอได้ทำงานร่วมกับทีมนี้ จึงเข้าใจมากขึ้น และการที่มีเด็ก รุ่นใหม่นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน  ก็น่าชื่นชม และรู้สึกยินดีที่ชุมชนของตนได้รับเลือกเป็นชุมชนแรก"


ขณะที่ นันทนา บุญละออ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า แม้จะเป็นโครงการเล็กๆ ที่ทำในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือน แต่ก็ทำให้นักศึกษาได้ลงมือทำจริง โดยพี่สาวและ พ่อของนักศึกษาร่วมออกแบบแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมาเอง ใช้งาน ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และสามารถต่อยอดนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในอนาคตได้


"คิดว่าคงมีโครงการที่ช่วยเหลือสังคมที่เกิดขึ้นจากการทำงานของคนกลุ่มเล็กๆ แบบนี้กระจายอยู่มากมาย ในขณะนี้อาจจะมี คนรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง แต่ก็เชื่อว่า หากวันหนึ่งโครงการจากคนกลุ่มเล็กๆ เชื่อมต่อกันได้ ก็จะกลายเป็นพลังยิ่งใหญ่ เป็นผลดีต่อการช่วยเหลือสังคมในวงกว้าง ใครที่มีไอเดียและอยากให้ทำและอย่าคิดว่าเป็นโครงการเล็ก หรือใหญ่ขอให้ลงมือทำต่อไป"


การจัดการขยะติดเชื้อในบ้านเรือน เป็นอีกโครงการดีๆ ภายใต้โครงการใหญ่ "โครงการพลเมืองไทยสู้ภัยโควิด" ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ที่สนับสนุนให้คนกลุ่มเล็กๆ ได้แสดงศักยภาพและทำงานเพื่อช่วยเหลือคนในสังคมในช่วงวิกฤติโควิด-19


ถ้าทุกคนในชุมชน ช่วยกันคัดแยกขยะติดเชื้อก่อนทิ้งก็จะมีประโยชน์มาก

 


 

Shares:
QR Code :
QR Code