แอปฯ เช็คพัฒนาการเด็ก-ประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน

ที่มา :  แนวหน้า


แอปฯ เช็คพัฒนาการเด็ก-ประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน thaihealth


แฟ้มภาพ


สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัย แอปพลิเคชั่นติดตามพัฒนาการเด็ก แบบประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวานต้นทุนต่ำ ฯลฯ ในงาน ประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เมืองทองธานี


พญ.รสวันต์ อารีมิตร นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่น บนอุปกรณ์พกพา เพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการเด็กไทย (ปีที่ 2) กล่าวว่า แอปพลิเคชั่นคุณลูก พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ ผู้ปกครองและบุคลากรทางการแพทย์มีความสะดวก และช่วยในการบันทึก ประเมิน และคัดกรองภาวะผิดปกติของการเจริญ เติบโตและพัฒนาการ ตลอดจนการสร้างเสริมสุขภาพเด็ก ให้มี พัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งการเลี้ยงดูและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม จะมีส่วนสนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยในทุกด้าน พร้อมที่จะเรียนรู้ และเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต


"งานวิจัยเริ่มจากการพัฒนาชุดข้อมูลที่นำไปออกแบบแอปพลิเคชั่นให้มีความสมบูรณ์ โดยเก็บข้อมูลความต้องการจากทีมสหวิชาชีพ และพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ รวมทั้งการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ จนได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์แอปพลิเคชั่นคุณลูก "KhunLook" ใช้ได้กับเด็กอายุ 0-18 ปี ที่สามารถดาวน์โหลด บนสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งเมื่อดาวน์โหลดมาแล้วสามารถใช้ แอปพลิเคชั่นได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าถึงระบบอินเตอร์เนต ช่วยในการติดตามประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก อีกทั้งสามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพ เช่น ช่องปากและฟัน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การป้องกันอุบัติเหตุ และเปิดอ่านคำแนะนำล่วงหน้าในการเลี้ยงดูและดูแลสุขภาพของแต่ละวัยที่เหมาะสม ปัจจุบันแอปพลิเคชั่นคุณลูกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อประชาสัมพันธ์ขยายผลภายใต้โครงการสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูกอีกด้วย"


นอกจากนี้ ผศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ เครือข่าย นักวิจัย สวรส. สังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเครื่องมือคัดกรองไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รับบริการในหน่วยบริการ ปฐมภูมิของรัฐและเอกชน ใน จ.ปทุมธานี กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางปฏิบัติสำหรับการประเมินภาวะแทรกซ้อนที่ไตของผู้ป่วย เบาหวาน คือ การติดตามค่าไมโครแอลบูมินนูเรีย ที่ปัจจุบันต้องมีการตรวจปัสสาวะทั้งหมด 3 ครั้ง ด้วยวิธีมาตรฐาน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,450 บาทต่อผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งถือว่า มีราคาค่อนข้างสูง และวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ (Rapid Test) ซึ่งใช้เป็นทางเลือกในการตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรีย มีค่าใช้จ่าย ราว 280 บาท แต่ในทางปฏิบัติการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะในสถานบริการปฐมภูมิหลายแห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ จะได้รับการตรวจไมโครแอลบูมินนูเรียเพียงปีละ 1 ครั้ง ตามที่ กำหนดไว้ในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนอีก 2 ครั้ง ถ้าคนไข้จะตรวจต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วย ไม่ได้รับการตรวจครบตามเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งการตรวจ จากแถบจุ่มปัสสาวะมีความยุ่งยากสำหรับผู้ป่วยในการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ


ผศ.ดร.สิริมา กล่าวต่อไปว่า ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือ คัดกรองที่เรียกว่า "การตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนความเสี่ยง" เป็นวิธีทางสถิติ โดยการสร้างสมการประเมินค่าจากปัจจัยเสี่ยงในประวัติคนไข้จาก 9 ตัวแปร ประกอบด้วย เพศ ไขมันไม่ดี น้ำตาลสะสมในเลือด ความดันโลหิตตัวบน ค่าคีอะตินิน ปริมาณไนโตรเจนในกระแสเลือด ระยะเวลาป่วยเบาหวาน ประวัติเบาหวานของบิดาและมารดา โดยเครื่องมือดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 จำนวน 1,211 ราย ผลการศึกษา พบว่า วิธีการตรวจด้วยระบบคะแนนความเสี่ยง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 40 บาทต่อราย ซึ่งมีราคาถูกกว่าการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ ประมาณ 7 เท่า และผลด้านความสามารถในการคัดกรองสูงกว่าการตรวจด้วยวิธีใช้แถบจุ่มปัสสาวะ


นับเป็นผลงานวิจัยที่น่าสนใจ เพื่อสุขภาพคนไทย ในอนาคต

Shares:
QR Code :
QR Code