แอปฯ อสม.ช่วยดูแลหญิงตั้งครรภ์

ที่มา :  ผู้จัดการรายวัน 360 องศา


แอปฯ อสม.ช่วยดูแลหญิงตั้งครรภ์  thaihealth


แฟ้มภาพ


จากเวทีรับฟังปัญหาจากกลุ่มพยาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีเสียงสะท้อนจากพยาบาลห้องคลอดว่า พบเด็กคลอดก่อนกำหนด คลอดแล้วน้ำหนักตัวน้อย เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากคณะอนุกรรมการสูติกรรมของ สปสช.


เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย จำเป็นต้องเข้าตู้อบหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งส่งผลกระทบกับหน่วยบริการเป็นลูกโซ่เพราะปัญหาที่พบในขณะนี้คือหลายโรงพยาบาลมีตู้อบไม่เพียงพอกับความต้องการ จำเป็นต้องส่งต่อให้โรงพยาบาลอื่นดูแลแทน แต่การส่งต่อก็มีความยุ่งยาก บางโรงพยาบาลแม้จะประสานทั้งภายในเขต พื้นที่โดยรอบ หรือโทร.ไปที่ส่วนกลางก็ยังหาที่ส่งต่อไม่ได้ รวมถึงกรณีของมารดาที่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคแทรกซ้อน จำเป็นต้องส่งต่อให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า บางครั้งก็หาที่ส่งต่อไม่ได้จนโรงพยาบาลต้นทางต้องทำคลอดเอง เกิดความเสี่ยงกับทั้งมารดาและเด็ก เป็นต้น


ด้วยเหตุนี้ การฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ การดูแลก่อนคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอดมีความสำคัญให้ทารกแรกคลอดมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด และลดจำนวนเด็กที่ต้องเข้าตู้อบ หรือเข้าหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต (NICU) ซึ่งโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่มีความโดดเด่นและเมื่อไม่นานมานี้ได้นำเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน "อสม.ออนไลน์" เข้ามาช่วย ทำให้การดูแลมารดาและทารกมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


นพ.จิรพจน์ วงศ์สัจจาธิติ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 กล่าวถึงกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างโรงพยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ว่า การดูแลหญิงตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนคลอด ระหว่างคลอดและหลังคลอด คือทันทีที่พบหญิงตั้งครรภ์แล้วรีบให้มาฝากครรภ์ตั้งแต่แรกในคลินิกฝากครรภ์ที่มีมาตรฐานเพื่อเตรียมตัวให้กับคุณแม่ให้ได้รับความรู้และเห็นความสำคัญของนมแม่


"โรงพยาบาลจะทำงานเชื่อมกับ อสม.มีการตรวจพบหญิงตั้งครรภ์แล้วแนะนำให้รีบมาฝากครรภ์ เมื่อฝากครรภ์เสร็จโรงพยาบาลก็เชื่อมโยงข้อมูลกลับไปยัง อสม.ให้ไปเยี่ยมบ้าน ไปชักจูงว่าอย่ากินนมผง ให้กินนมแม่ เราชูประโยชน์ของนมแม่ เรื่องภูมิคุ้มกัน สื่อสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก พัฒนาการของลูก แม่จะได้รับข้อมูลตลอด นอกจากนี้ เรายังมีตัวอย่างแม่ที่เลี้ยงนมแม่ได้ดี เพื่อจูงใจให้เห็นว่านมแม่ดีที่สุด ลูกจะได้สมบูรณ์ ได้รับโภชนาการครบถ้วน ได้รับภูมิคุ้มกันโรค และที่สำคัญคือไม่ต้องควักเงินซื้อนม" นพ.จิรพจน์ กล่าว


เมื่อถึงเวลาคลอด ใน 24 ชั่วโมงแรกโรงพยาบาลจะให้แม่อยู่กับลูกให้ลูกซบอกแม่ เรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้แม่รู้สึกอยากให้นม และหลังคลอดจะมีทีม "มิสนมแม่" เข้าไปดูแลเช่น แม่มีปัญหานมไม่ไหล จะกระตุ้นอย่างไร ทีมพยาบาลจะดูแลและให้ความมั่นใจว่านมแม่ต้องมีแน่ๆ จนกระทั่งแน่ใจว่าลูกได้นมแม่แน่ๆแล้วจึงกลับบ้าน


นอกจากนี้ เมื่อแม่กลับบ้านแล้วจะมีทีม อสม.ในพื้นที่ลงไปเยี่ยมดูว่าการให้นมแม่มีปัญหาอะไรหรือไม่ มีนวัตกรรมต่างๆ เช่น แม่ไปทำงานต้องปั๊มนมเก็บนมอย่างไร จะสามารถเอานมที่ฟรีสไว้มาป้อนลูกอย่างไร นอกจากให้ความรู้กับแม่แล้ว ครอบครัวก็ต้องมีความรู้ในการเลี้ยงเด็ก เช่น ปู่ย่าตายายหรือญาติ ระหว่างที่แม่ไม่อยู่หรือออกไปทำงาน จะทำอย่างไรถึงจะเอานมที่เก็บไว้ให้หลานกินได้ เป็นต้น


ในส่วนของการนำเอาเทคโนโลยีมือถือ แอปฯ อสม.ออนไลน์มาประยุกต์ใช้งานนั้น นพ.จิรพจน์ กล่าวว่า แอปฯนี้มีประโยชน์ตรงที่เวลา อสม. Detect เจอหญิงตั้งครรภ์ก็จะส่งข้อมูลไปที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะทราบพิกัดแผนที่ได้ทันที และถ้าหญิงคนนั้นยังไม่มาฝากครรภ์ก็ต้องให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ อสม.ในพื้นที่ไปตาม และเมื่อมาฝากครรภ์แล้ว โรงพยาบาลก็ส่งข้อมูลกลับไปพื้นที่ให้ติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลเรื่องภาวะเสี่ยงและกระตุ้นเรื่องนมแม่ หรือระหว่างใกล้คลอด หากมีปัญหา อสม.ก็สามารถส่งข้อมูลมาปรึกษาที่โรงพยาบาลได้ว่าจะทำอย่างไรในการป้องกันภาวะเสี่ยงต่างๆ


"การส่งข้อมูลต่างๆ นี้เป็นเรื่องสำคัญ การใช้กลุ่มไลน์ไม่ค่อยเวิร์ก มันคุมยาก เราไม่สามารถคุมเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น รูปสวัสดีวันต่างๆได้ หรือความรู้ที่จะส่งไปทางออนไลน์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไลน์กลุ่มไม่สามารถคุมความรู้ผิดๆ ที่ก๊อบปี้ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ ได้ บางครั้งอาจทำให้ อสม.เชื่อแล้วไปให้ข้อมูลกับผู้ป่วยผิดๆ" นพ.จิรพจน์ กล่าว


นอกจากการดูแลหญิงตั้งครรภ์ปกติแล้ว โรงพยาบาลยังพยายามลดตัวเลขเด็กคลอดก่อนกำหนด โดยแยกคลินิก ANC High Risk ออกมาต่างหากสำหรับกลุ่มเสี่ยงของแม่ เช่น แม่มีการคลอดกำหนดมาก่อน แม่ที่อายุน้อย แม่ที่มีโรคประจำตัวซึ่งเป็นภาวะเสี่ยงในการคลอด มีทีมก็ต้องดูแลแยกส่วนกับ ANC ปกติ และการดูแล ก็ต้องเข้มข้นขึ้น


"ตัวเลขเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือคลอดแล้วมีน้ำหนักตัวน้อยสัมพันธ์กับการ Detect เจอเร็ว การให้ความรู้เรื่องโภชนาการของแม่และการดูแลโรคประจำตัวของแม่ เช่น แม่ที่เป็นโรคเบาหวาน แม่ที่เป็นโรคซีด อสม. ก็ต้อง Detect โรคของแม่ด้วย แล้วต้องดูแลให้เข้มข้น นัดมาตรวจถี่ขึ้น ถ้าคนไข้ขาดนัดเราก็จะส่งข้อมูลให้ อสม.ในพื้นที่ช่วยไปดูหน่อยว่าติดขัดอะไรทำไมไม่มาตามนัด หรือถ้าบางเคสดูแล้วแม่ไม่ต้องมาโรงพยาบาล เราก็ให้คำปรึกษาทางออนไลน์ไปหรือถ้าจำเป็นก็ปรึกษาสูติแพทย์ ซึ่งถ้าไม่มีแอปฯ อสม.ออนไลน์ การทำงานจะยุ่งยากมากขึ้นเพราะต้องใช้โทรศัพท์แล้วไม่เห็นภาพคนไข้ บางทีนมคัด นมตึง นมไม่มี บางทีก็ต้องถ่ายรูปเต้านมเพื่อพิจารณาสาเหตุ หรือถ้าปรึกษามาในเรื่องโรคของแม่ เราอาจต้องแนะนำเรื่องภาวะโภชนาการว่าควรกินอะไร บางครั้ง อสม.อาจขอคำปรึกษาเข้ามาในช่วงที่เจ้าหน้าที่ประชุมอยู่ เราก็ต้องมีการจัดคิวหรือกำหนดว่าใครจะเป็นคนตอบ การทำงานก็จะมีความสะดวกมากขึ้น" นพ.จิรพจน์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code