แลไปข้างหน้า “ทิศทางสุขภาวะชายแดนใต้”

แลไปข้างหน้า “ทิศทางสุขภาวะชายแดนใต้” 

 

            เป็นเวลากว่า 6 ปี ที่ความสงบสุขได้ถูกคร่าไปจากพี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้ เยาวชนในพื้นที่จำนวนมากตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งในฐานะ “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ” … !!

 

แลไปข้างหน้า “ทิศทางสุขภาวะชายแดนใต้”

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ และ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์

 

            ด้วยตระหนักถึงความสำคัญต่อสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.ลงพื้นที่ฟังบรรยายสรุป “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อสร้างสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานเทศบาลนครยะลา จ.ยะลา และได้รับเกียรติจาก นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา พร้อมคณะให้การต้อนรับ

 

            วิถีการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ในส่วนของการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” โดยเทศบาลนครยะลา จ.ยะลา เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครยะลา และเทศบาล 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เพื่อจัดกิจกรรมสร้างสุขภาวะ สร้างการเรียนรู้ให้แก่และเยาวชน โดยดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นแม่ข่ายในการพัฒนาเยาวชน

 

            ทั้งนี้ เทศบาลนครยะลา ได้กำหนดให้แต่ละพื้นที่จัดกิจกรรมเรียนรู้แต่ละด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแต่ละพื้นที่ของแต่ละชุมชน โดยให้การสนับสนุนอบรมวิทยากรให้กับตัวแทนพื้นที่ในปีแรก และในปีที่ 2 เทศบาลทั้ง 4 แห่ง คือ เทศบาลตำบลสะบ้าย้อย เทศบาลตำบลยะหา เทศบาลรือเสาะ และเทศบาลตะลุบัน ซึ่งทั้ง 4 เทศบาลจะต้องสร้างลูกข่าย อีก 4 แห่ง ดังนั้นเมื่อครบ 3 ปี จะมีองค์กรปกครองท้องถิ่นถึง 12 แห่ง ช่วยเหลือพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตนเอง โดยโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงจะเป็นการสร้างโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง เพื่อนำไปสู่การขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ต่อไป

           

โมเดลศูนย์การเรียนรู้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

            นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เทศบาลนครยะลาได้พยายามสร้างสุขภาวะของเด็กและเยาวชน ผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบที่สร้างหลักสูตรเฉพาะของตัวเอง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและวัฒนธรรม ในทางเดียวกันการศึกษานอกระบบ ได้ส่งเสริมโดยผ่านtk park yalaพยายามหล่อหลอมคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้ โดยผ่านกิจกรรมที่ดำเนินการในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าได้รับความนิยมเฉลี่ยแล้ว 230,000 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าประชากรของเทศบาลนครยะลา นอกจากนี้ ยังมี “สวนสร้างสรรค์หรรษา” ที่พัฒนาทักษะทางการคิด โดยเทศบาลนครยะลามุ่งให้บริการแก่ประชาชนไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดยะลา แต่ทั้งสามจังหวัด โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ทั้งสิ้น

 

นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ได้จัดตั้ง “วงออเคสตร้า-ยะลา” ที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่เทศบาลฯ ตั้งใจให้เยาวชนมาหล่อหลอมรวมกัน โดยใช้ดนตรีเป็นตัวกล่อมเกลา ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ในขณะนี้วงออเคสตร้า-ยะลา มีทั้งหมด 140 ชีวิต และทั้งหมดเป็นเด็กนราธิวาส

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าตราบใดก็ตามที่เยาวชนรักบ้านเกิดเมืองนอน ไม่มีทางที่จะทำร้ายบ้านตัวเอง นอกจากนี้ เทศบาลนครยะลายังได้ทำ “โครงการค่ายฟุตบอล” สำหรับเยาวชน อายุ 8-15 ปี ซึ่งได้รับความนิยมมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้นอกเหนือจากสุขภาพความเป็นเลิศทางฟุตบอลและฟุตบอลอาชีพแล้ว เยาวชนมุสลิมยังได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันโดยใช้กีฬาเป็นแนวทาง รวมทั้งเรื่องของวินัยและความเสียสละร่วมด้วย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำตั้งแต่ ปี 2547  ขณะเดียวกัน กระบวนการหล่อหลอมทางสังคมที่เราพยายามสร้าง คือ การทำ “หนังสือนอกเวลา” โดยผ่านtk park yala จากหนังสือนิทานพื้นบ้านที่สร้างขึ้นมาเอง และยังเพิ่มเติมสิ่งสำคัญในพื้นที่คือ “สันติศึกษา” ที่ส่งเสริมให้เยาวชนที่จะเติบโตในสามจังหวัดนั้น สามารถที่จะพูดคุยกันได้อย่างสันติ

 

“นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจคือ “ค่ายเยาวชนสำนึกรักท้องถิ่น” โดยการนำเยาวชนที่ยากจนมาร่วมกิจกรรมในช่วงปิดภาคเรียน ปลูกฝังให้เด็กมีความรักในท้องถิ่น มีความเข้าใจในภาระท้องถิ่น ทั้งนี้ เทศบาลฯ มิได้ทำแต่เพียงผู้เดียว แต่ได้เชิญวิทยากรมาจาก มหาวิทยาลัยทักษิณและสถาบันการศึกษาท้องถิ่น เพื่อมาร่วมสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละท้องถิ่น ที่มีจุดแข็งแตกต่างกัน มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน สิ่งที่เทศบาลได้ทำนั้นคงเป็นเพียงแค่วิธีการ แต่ในเรื่องเนื้อหานั้น แต่ละท้องถิ่นต้องเป็นผู้ที่คิดเองและผู้บริหารต้องเข้าใจ ทั้งนี้ เทศบาลนครยะลายังไม่ใช่ข้อสรุปของต้นแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ฯ ที่ดีนัก แต่เราค่อนข้างโชคดีที่ได้บุคลากรที่ทุ่มเทกับงานเข้าใจถึงปัญหาท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้หน่วยงานระดับสูงในภาครัฐมองแต่ในส่วนนโยบาย มองข้ามความสำคัญของท้องถิ่น ซึ่งจุดแข็งอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

           

สุขภาวะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สร้างได้

 

แลไปข้างหน้า “ทิศทางสุขภาวะชายแดนใต้”

 

            ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะยะลา แต่การลงมาครั้งนี้อยากจะมองจังหวัด 3 ชายแดนอย่างครบวงจร โดยใช้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนเป็นตัวตั้งปรับโครงการต่างๆ ให้เข้ามาเชื่อมโยงกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คงไม่ได้คาดหวังว่าต้องทำงานได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ต้องการสร้างต้นแบบหรือแนวคิด และหวังว่าแนวคิดเหล่านี้จะถูกขยายผล เข้าไปสู่ระบบของท้องถิ่น และภาครัฐที่จะนำไปพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานที่ทำอยู่ ที่ผ่านมา สสส.ได้ให้การสนับสนุนพื้นที่ชายแดนใต้ ในส่วนของเยาวชนที่อยู่ขอบนอกของเทศบาลและท้องถิ่น

 

            ผู้จัดการ สสส. กล่าวต่อว่า เด็กและเยาวชนเป็นเหมือนผ้าขาว หลายๆ ครั้งถูกมองว่า ถูกใส่ความคิด ความรุนแรงลงไป ซึ่งในความเป็นจริงเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ค่อนข้างบริสุทธิ์ คิดในสิ่งที่พูด ดังนั้น การทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องไม่คิดถึงในเรื่องความ ขัดแย้งหรือความแตกแยก แต่ควรจะเริ่มต้นว่าเด็กและเยาวชนต้องการอะไร และ ไม่ควรหวังผลในเชิงของ ผลลัพธ์ว่าต้องเกิดความคิด ความเข้าใจตรงกันซึ่งหาก เริ่มจากความต้องการของ เด็กและเยาวชน น่าจะดึง ให้คนทุกกลุ่มร่วมงานกันได้” ทพ.กฤษดา กล่าวทิ้งท้าย

 

            ที่สุดแล้ว “สันติภาพ” ให้กลับคืนสู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกครั้ง การสร้างสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยการพลิกพื้นที่อันตรายให้กลายเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม!!!

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

update : 22-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code