แลกเปลี่ยนดูงานพื้นที่โครงการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนบทบาทเยาวชนเพื่อติดตามยุทธศาสตร์ ภายใต้ พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่นฯ
ที่มา :สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส.ลงพื้นที่ติดตามงานตั้งครรภ์วัยรุ่น จ.เชียงใหม่ ชูกลไกเข้มแข็งสภาเยาวชนฯ – ผู้นำเยาวชนกลุ่มเฉพาะ ทลายข้อจำกัดด้านชาติพันธุ์ ชูหลักสูตร “I D – Sign” สร้างแกนนำเพื่อนสอนเพื่อน พิทักษ์สิทธิมนุษยชน สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และ พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่นฯ
วันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิและสื่อมวลชน แลกเปลี่ยนดูงานพื้นที่โครงการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนบทบาทเยาวชนเพื่อติดตามยุทธศาสตร์ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนบทบาทเยาวชนเพื่อติดตามยุทธศาสตร์ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง หางดง แม่ออน สะเมิง พร้าว และเชียงดาว รวม 56 ตำบล 489 หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2560-2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมศักยภาพผู้แทนเยาวชนให้เป็นผู้พิทักษ์สิทธิ ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นฯ เพื่อให้เกิดทักษะทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมเยาวชน พัฒนารูปแบบ เครื่องมือ และแนวทางเสริมศักยภาพเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน พ.ร.บ. เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ
“ปัจจุบันมีตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน และผู้นำเยาวชนกลุ่มเฉพาะหรือกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ จำนวน 2 คน อยู่ในตำแหน่งคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ 5 กระทรวงหลัก มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ความเปราะบางของเยาวชนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงโอกาส บริการ สวัสดิการทางสังคม และนำข้อมูลดังกล่าวไปนำเสนอเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้การสนับสนุนอย่างครอบคลุมในทุกมิติและตรงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงให้มากขึ้น” นายชาติวุฒิ กล่าว
นางสาวนิภา ชมภูป่า ผู้ประสานงานโครงการสุขภาพภาคเหนือ มูลนิรักษ์ไทย กล่าวว่า ผลงานที่เป็นรูปธรรมอีกข้อคือการเกิดเครื่องมือดำเนินงานพัฒนาศักยภาพแกนนำพี่เลี้ยง และแกนนำเยาวชนจังหวัด ภายใต้หลักสูตร I D – Sign โดยความร่วมมือจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ซึ่งปัจจุบันเชียงใหม่มีเครือข่ายเยาวชนพิทักษ์สิทธิ รวมกว่า 40 คน จาก 6 อำเภอนำร่อง ซึ่งคู่มือนี้จะช่วยพัฒนาแกนนำเหล่านี้สู่การเป็นผู้พิทักษ์สิทธิทางเพศวัยรุ่น เพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ด้วย 2 หลักสูตรที่เน้นเนื้อหาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
“ผู้นำเยาวชนสามารถนำแนวคิดที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรไปขยายผล ออกแบบกิจกรรมสื่อสารกับเพื่อนเยาวชนภายในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน เครือข่ายเพื่อน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และมีความกล้าที่จะเข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับตามมาตรา 5 เช่น สิทธิเข้าถึงข้อมูล ความรู้ สิทธิในการเข้าถึงเครื่องมือการป้องกันการตั้งครรภ์ เช่น ถุงยางอนามัย การฝังยาคุมกำเนิด การได้รับการสนับสนุนเรียนต่อหากตั้งครรภ์ การเข้าถึงบริการ และการส่งต่อด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ในเรื่องการตั้งครรภ์ต่อหรือการยุติการตั้งครรภ์ โดยได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ฯลฯ จากหน่วยงาน กระทรวงที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” นางนิภา กล่าว