‘แรร์ ชูการ์’ น้ำตาลพิชิต’อ้วน
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า
เพราะชีวิตขาดหวานไม่ได้ ขึ้นชื่อว่า "ของหวาน" มนุษย์เราคุ้นเคยกับการทำให้ "อาหาร-เครื่องดื่ม-ขนม" มีรสหวานแทบทั้งสิ้น "น้ำตาล" ถือเป็นเครื่องปรุงสามัญประจำร้านอาหารทุกประเภท ไปจนถึงในเกือบทุกครัวเรือน
ทว่า…อีกมุมหนึ่ง การบริโภคอาหารที่มีรสหวานบ่อยครั้ง อาจ "นำภัย" มาสู่ตัวได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคร้ายอย่างเบาหวานข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สำรวจร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ช่วงปี 2557-2558 จากการสุ่มตรวจสุขภาพประชากรไทย 21 จังหวัด รวม 19,468 คน จากนั้นนำมาคำนวณ แล้วพบว่ามี กลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวมากถึง 7.7 ล้านคน เนื่องจากคนไทยนิยมบริโภคน้ำตาลมากกว่าที่ควรจะเป็น หรือไม่เกิน 4-8 ช้อนชาต่อวัน ตามมาตรฐานของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึง 4-7 เท่าตัว
ที่ผ่านมา เมื่อผู้ใดป่วยเป็นเบาหวาน ย่อมต้องควบคุมการกินอย่างเข้มงวด ของหวานทุกชนิดกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่สามารถบริโภคได้อีกต่อไป เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะไม่มีฮอร์โมนที่ทำหน้าที่นำน้ำตาลไปใช้อย่าง "อินซูลิน" (Insulin) หรือถึงมีก็มีน้อยกว่าคนปกติทั่วไป ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นพรวดๆ ได้ แม้ รับประทานอาหารหวานเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการค้นพบสารบางอย่างที่อาจเป็น "ความหวัง"…ไม่นานนี้ "คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" (มช.) ได้เปิดเผยงานวิจัยที่ทำร่วมกับ มหาวิทยาลัยคากาวา ประเทศญี่ปุ่น (Kagawa University,Japan) เกี่ยวกับการใช้ "แรร์ ชูการ์" (Rare Sugar) มาใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน แล้วพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดน้ำหนักตัวของผู้เข้าร่วมการทดลองได้มาก
ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ทำการศึกษามาได้ประมาณ 2 เดือน กับอาสาสมัคร 60 คน มีการติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งตรวจสุขภาพ วัดสัดส่วนร่างกาย ตรวจเลือดและเอกซเรย์ ซึ่งเมื่อครบ 6 เดือน ทาง มช. จะได้ส่งผลการวิจัยไปที่มหาวิทยาลัยคากาวา เพื่อวิเคราะห์และ สรุปผลอีกครั้ง
ด้าน ผศ.พญ.ศุภวรรณ บูรณพิร อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า น้ำตาลที่เรียกกันว่า แรร์ ชูการ์ จะพบได้ทั่วไปเหมือนน้ำตาลปกติ แต่พบได้น้อยมาก กระทั่งทางมหาวิทยาลัยคากาวาสามารถสกัดออกมาได้ และทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาทดสอบคุณสมบัติแล้วพบว่าน้ำตาลชนิดนี้มหัศจรรย์ เนื่องจากรับประทานแล้วระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มขึ้นเหมือนน้ำตาลปกติทั่วไป
"คุณสมบัติของ แรร์ ชูการ์ คือ มีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลปกติ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว นอกจากน้ำตาลในเลือดจะไม่ขึ้น ยังทำให้น้ำตาลหลังอาหารลดลง จึงเหมาะกับคนไข้เบาหวาน เพราะเมื่อรับประทาน อาหารไปแล้ว คนไข้เบาหวานจะมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป แต่ถ้ารับประทานแรร์ ชูการ์ น้ำตาลหลังอาหารจะขึ้นช้ากว่า ขึ้นแล้วอยู่นานกว่า นั่นแปลว่าเราจะอิ่มนานและรับประทานอาหารอื่นน้อยลง" พญ.ศุภวรรณ ระบุ
นักวิจัยรายนี้ กล่าวอีกว่า ผลการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น พบว่าผู้ที่บริโภค "แรร์ ชูการ์" เมื่อไปวัดสัดส่วนและเข้าเครื่องเอกซเรย์น้ำหนักลดลง โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง ซึ่งในทางการแพทย์จัดว่าเป็นไขมันที่ไม่ดี จึงเป็นที่สนใจไปทั่วโลก ส่วนการทดลองในไทย ขณะนี้ได้ทำกับอาสาสมัครที่เป็นคนอ้วนแต่มิได้เป็นโรคเบาหวาน โดยให้รับประทานน้ำตาลแรร์ ชูการ์ ครั้งละ 5 กรัม วันละ 3 มื้อ แล้วติดตามผลว่าจะสามารถลดน้ำตาลในเลือด ลดน้ำหนัก ลดไขมัน และโดยเฉพาะไขมันในช่องท้องได้หรือไม่? มากน้อยเพียงใด
หากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ย่อมถือเป็นข่าวดี ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน หรือแม้แต่สำหรับผู้ที่อยากลดน้ำหนัก แต่ยังไม่สามารถเลิกกินหวานได้อย่างเด็ดขาดในเสียทีเดียว "ถ้าเขาอยากกินหวาน เขาก็อาจจะต้องกินมากขึ้น แต่ว่าไม่มีพลังงาน ดังนั้นเขากินมากขึ้น มันก็อาจจะไม่มีปัญหาอ้วน แต่เรากำลังดูว่าถ้าเขากินเยอะๆ มันจะมีผลข้างเคียงอะไรหรือเปล่า แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่เห็น" พญ.ศุภวรรณ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การทดลองในไทยยังอยู่ในขั้นดำเนินการเท่านั้น ซึ่งโครงการนี้จะสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการเผยแพร่ได้ ประมาณเดือน ก.ค.- ส.ค. 2560
เว็บไซต์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เผยแพร่ข้อมูลสถิติโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน โลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2557 มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 670,664 คน คิดเป็น 1,032.50 คนต่อประชากร 1 แสนคน เช่นเดียวกับ รายงานการระบาดของโรคเบาหวานและผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย ของสมาคม ระบุว่า จากข้อมูลในปี 2552 ผู้ป่วยเบาหวาน 1 คน จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษา 28,200 บาทต่อคนต่อปี และทำให้สูญเสียงบประมาณโดยรวมถึง 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมปัญหาโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากเบาหวาน เช่น ดวงตาถูกทำลายจนบอด ไตวาย โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือเป็นแผลที่เท้าแล้วสูญเสียประสาทการรับรู้ที่เท้า จนต้องตัดขาทิ้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคม เคยให้ข้อมูลผ่านสื่อไว้เมื่อเดือน พ.ย.2558 ระบุว่า คนไทยที่อายุมากกว่า 15 ปี เป็นเบาหวานร้อยละ 6.9 ประชากรวัยกลางคน อายุระหว่าง 45-59 ปี เป็นเบาหวานถึง ร้อยละ 10.1 และประชากรวัยทำงาน อายุ 30-44 ปี เป็นเบาหวานร้อยละ 3.4
นอกจากจำนวนจะสูงขึ้นแล้ว ยังพบว่ามากว่าครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน และผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานในอนาคตอีกกว่าร้อยละ 10 ดังนั้นแต่ละคนต้องลดเสี่ยงด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างจริงจัง จะช่วยลดความเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 70
แน่นอนว่าคงไม่ง่ายที่ใครคนหนึ่งซึ่ง "ชีวิตติดหวาน" อยู่ดีๆ จะ "หักดิบ" เลิกกินหวาน ในทันที คงต้องใช้เวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป…