แรงบันดาลใจ ‘องค์กรสร้างสุข’
แรงบันดาลใจ ‘องค์กรสร้างสุข’
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร ได้เปิดกลุ่ม happy workplace บน application line พร้อมเชิญชวนเหล่าภาคีเครือข่ายสร้างสุข ทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และเอกชน ให้มาเข้าร่วม ทำให้ผู้เขียนซึ่งได้รับเชิญให้เข้ากลุ่มในครั้งนี้ด้วย จึงพลอยได้อัพเดทข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมสร้างสุขขององค์กรต่างๆ มานำเสนอผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ คือ “แรงบันดาลใจ” ในการสร้างสุขของแต่ละองค์กร เกิดขึ้นได้อย่างไร? ซึ่งพบว่าแต่ละแห่งมีความน่าสนใจอย่างมาก อย่างเช่น บริษัท สยามอุตสาหกรรม และการผลิต จำกัด ที่มีการออกแบบกลไก เพื่อเพิ่มศักยภาพความสุข ให้แก่พนักงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากได้รับทราบ ปัญหาของพนักงานท่านหนึ่ง
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2551 บริษัทฯ พบว่าพนักงานฝ่ายวิศวกรรมคนหนึ่ง ติดสุราอย่างหนัก เมื่อไปสืบค้นก็พบว่า เขามีปัญหารุมเร้าอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น คุณแม่ ที่อายุมาก เป็นโรคความจำเสื่อม มีอาการหลงๆ ลืมๆ จนต้องออกตามหาเป็นประจำ ส่วนพี่ชายก็พิการ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขณะที่ภรรยา และบุตรสาว ทนไม่ไหวก็ทอดทิ้งไป บริษัทฯ จึงเข้าไปให้การช่วยเหลือ โดยเริ่มจากรักษาพยาบาลคุณแม่ ช่วยให้พี่ชายได้รับสิทธิ คนพิการ ทั้งการรักษาฟรีและค่าดูแลประจำเดือน ทั้งส่ง พนักงานท่านนี้ไปบำบัดสุราที่โรงพยาบาล
ทว่าในที่สุดพนักงานท่านนี้ก็เสียชีวิต และจากเหตุการณ์ครั้งนี้ องค์กรแห่งนี้ จึงคิดสร้างกลไก เพื่อเพิ่มศักยภาพความสุขให้พนักงาน และแบ่งบันความทุกข์ จากวงจรชีวิตของพนักงานทุกคน โดยฝ่ายบุคคล และฝ่ายสวัสดิการ คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำเรื่องนี้ เริ่มจากระดมสมอง กำหนดแนวทางและขั้นตอนในการช่วยเหลือพนักงาน จนออกมาเป็นแนวทางที่ชัดเจน
เริ่มจากรับทราบปัญหา อาจมาจากเพื่อนพนักงาน หรือ หัวหน้างาน จากนั้นฝ่ายบุคคลก็จะทำการประเมินความเหมาะสมเบื้องต้นว่า สมควรให้การช่วยเหลือ หรือไม่ ก่อนทำการตรวจสอบข้อมูล และสาเหตุ ของปัญหา โดยสอบถามจากพนักงาน และเพื่อนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับวิธีแก้ไขปัญหา ก็จะมีการพูดคุยเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด หัวใจสำคัญ คือ พนักงานนั้นๆ ต้องยินยอมให้มีการช่วยเหลือ โดยการลงชื่อเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งการช่วยเหลือนั้นจะทำแผนเป็น รูปธรรม ทั้งกิจกรรม ระยะเวลา ผู้รับผิดชอบ งบประมาณ รวมถึงมีการติดตามผลจนเห็นความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนหาวิถีทางทำให้ยั่งยืนด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เกิดขึ้นที่ บริษัท วิค แอนด์ ฮุค ลันด์ จำกัด (มหาชน) กับกิจกรรมสร้างสุขที่ชื่อ นุ่งผ้าซิ่น กินส้มตำ รำลึกถิ่นเกิด ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจของ คุณ ศศิวิมล วิโรจน์ชีวัน ฝ่ายบริหาร และฝ่ายบุคคล ของบริษัท ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง มีพนักงานรวมกันกว่า 150 คน
“พนักงานของเรามาจากหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน ตอนเที่ยง ๆ เราจะเห็นเขานั่งกินข้าวร่วมกันเป็นกลุ่มๆ บางคน เอาครกมาตำส้มตำ แต่ละคนพูดคุยกันอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง ตอนแรกก็มีเสียงบ่น ว่า ดูเลอะเทอะ ไม่เหมาะสม แต่พอเราไปดู กลับไม่คิด อย่างนั้น แต่รู้สึกว่า ก็น่ารักดีนะ เป็นความสุขของเขา และรู้สึกอินไปกับเขาด้วย แต่ละคนพูดคุยกัน สนุกสนานด้วยภาษาถิ่น มันดูอบอุ่นมากกว่าจะเป็นปัญหา จึงนำไปเสนอผู้บริหาร และเพื่อนพนักงานว่า เราน่าจะมีมุมส้มตำในโรงงาน ที่ใครอยากกินเมื่อไหร่ก็มาตำกินได้ ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย โดยบริษัทออก ค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด”
พอมีซุ้มส้มตำ พวกเขาก็มีแนวคิดต่อมา คือ สนับสนุนให้พนักงาน นุ่งซิ่น มาทำงาน
“เราไม่ได้บังคับ แต่เป็นความสมัครใจ โดยจะมีการใส่เดือนละ 1 ครั้ง ในวันที่มีการประชุม sale and operation meeting ทำให้บรรยากาศในโรงงาน ผ่อนคลายลง หลายคนชอบ บางคนก็เขินๆ ไม่อยากใส่ ก็ไม่ว่ากัน ขณะที่ฝ่าย hr จะทำประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วม พร้อมชี้ให้เห็นคุณค่าของกิจกรรมที่ทำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสานสุขภายในองค์กรแล้ว ยังถือว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทย สร้างความ ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น ที่แต่ละคนจากมา อีกด้วย”
นี่คือตัวอย่างของแรงบันดาลใจในการสร้างสุของค์กร ‘ฝ่ายบุคคล และฝ่ายสวัสดิการ คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการเพิ่มศักยภาพความสุข ให้พนักงาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยพิมพร ศิริวรรณ