แรงงานไทย กับอนาคตของชาติ
เศรษฐกิจโลกส่งผลต่อการ “ว่างงาน” ของสังคม
“แรงงาน” หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนให้ “ผลของกิจการ” ประสบความสำเร็จ แต่ทว่าตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกให้เรื่องการว่างงานเป็นที่สนใจของสังคม ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจภาวการณ์มีงานทำ พบว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1-2 ของกำลังแรงงานมาตั้งแต่ปี 2549-ถึงกลางปี 2552 ถือว่าเป็นอัตราต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ที่มีอัตราว่างงานเฉลี่ยในปี 2551 ร้อยละ 5.7
ล่าสุด!! พบว่ามีประชากรวัยแรงงานกว่า 42.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 67.4 ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเอกชนร้อยละ 38 รองลงมาคือ ทำงานส่วนตัวร้อยละ 32 ธุรกิจครอบครัวร้อยละ 18 ลูกจ้างรัฐร้อยละ 9 และนายจ้างร้อยละ 3 โดยในนี้ภาคอีสานจะมีแรงงานมากที่สุดถึงร้อยละ 32 รองลงมาคือภาคกลางร้อยละ 25 และอยู่ในกรุงเทพฯ น้อยที่สุดคือร้อยละ 11
เมื่อการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องอาศัยประชากรในวัยทำงานเป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น หลังจากมีการว่างงานเพิ่มสูงจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 50 แต่ทว่า“ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น” ทำให้คุณภาพแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวไปใน “ทางบวก” ภาพรวมของสถานการณ์แรงงานไทยจึงดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/52 และคาดว่ามีแนวโน้มจะดีขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ ซึ่งนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของแรงงานไทยเลยก็ว่าได้…
นอกจากเรื่องการศึกษาแล้ว “ด้านสุขภาพ” ของแรงงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้การพัฒนาจะเป็นไปได้ช้าหรือเร็วถึงแม้ว่าสำนักงานประกันสังคมจะบอกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปี 2541-2551สุขภาพของแรงงานจะดีขึ้นแต่ก็ยังคงมีจำนวนที่สูงอยู่ โดยแรงงานที่มีอายุ 15-29 ปี จะมีสาเหตุของการเจ็บป่วยมาจาก อุบัติเหตุ โรคทางจิตเวช และเอดส์ ส่วนอายุ 30-59 ปี พบมีความเปลี่ยนแปลง คือ ในผู้ชาย อุบัติเหตุและโรคทางจิตเวช จะลดลงเกือบครึ่ง แต่ป่วยด้วยโรคมะเร็งมากขึ้น ส่วนแรงงานหญิง กลับป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมากที่สุด…
ส่วนโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพพบว่ามีการเจ็บป่วยที่เกิดจากสารพิษกำจัดศัตรูพืชมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 รองลงมาคือ โรคพิษจากสารปิโตรเคมีร้อยละ 8 โรคปอดจากการประกอบอาชีพร้อยละ 6 โรคพิษจากแก๊สและสารระเหยร้อยละ 3 และโรคพิษจากสารหนู แมงกานีส แคดเมียม ปรอทร้อยละ 2 ส่วนโรคจากสารตะกั่วร้อยละ 1 ซึ่งหากต้องการเห็นตัวเลขในส่วนนี้ลดลงจนเป็นที่น่าพอใจทั้งภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้างต้องเกิดความตระหนักและสร้างจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมต่อการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่ต้องทำ!!
เมื่อแนวโน้มทุกอย่างดูจะดีขึ้น แต่ “แรงงานไทย” บางกลุ่มยังคงต้องการความคุ้มครองทางกฎหมายอยู่ โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาวะยากลำบาก อาทิ แรงงานเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไทย ซึ่งปัจจุบันอายุขั้นต่ำของแรงงานเด็กอยู่ที่ 15 ปี หากมีการจ้างงานเด็ก งานที่ไม่มีการอนุญาตให้เด็กทำ ได้แก่ 1.งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ 2.งานปั๊มโลหะ 3.งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง และแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติ 4.งานที่เกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตราย
5.งานเกี่ยวกับจุลชีวันที่เป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา 6.งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่งานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน 7.เป็นงานขับหรือบังคับรถยก หรือปั้นจั่นที่ใช้พลังงานเครื่องยนต์หรือไฟฟ้า ไม่ว่าการขับ หรือบังคับจะกระทำในลักษณะใด 8.งานใช้เลื่อยเดินด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ 9.งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ อุโมงค์ หรือปล่องในภูเขา 10.งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีทุกชนิด 11.งานทำความสะอาดเครื่องจักร หรือเครื่องยนต์ขณะที่เครื่องจักรหรือเครื่องยนต์กำลังทำงาน 12.งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดิน ตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป และงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งหมดนี้ถือเป็นงานสุ่มเสี่ยงที่แรงงานวัยเด็กห้ามทำ เพราะหากฝ่าฝืนแล้วนอกจากตัวเด็กจะได้รับอันตรายอนาคตอาจกลายเป็นคนพิการหรือเสียชีวิตจากการทำงานได้… หากพบเห็นแรงงานเด็กทำงานในลักษณะต้องห้ามเหล่านี้สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ที่สายด่วน 1546 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากสวัสดิการที่แรงงานเด็กจะได้รับแล้ว แรงงานทุกคนยังมีการคุ้มครองเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานอีกด้วย … นี่จึงถือเป็นการการส่งเสริมสุขภาพให้แรงงานได้มีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า เมื่อสุขภาพแรงงานดี ผลของงานก็จะดีตามไปด้วย
แต่ทว่าหากมองไปถึงอนาคต!! ถ้าการเมืองไทยยังคงปั่นป่วน ระยะยาวเศรษฐกิจของประเทศอาจจะย่ำแย่ลงอีกครั้งเหมือนกับปี 2540 ก็ได้ ซึ่งนั่นอาจจะส่งผลให้กิจกการที่ได้รับผลกระทบปิดตัวลงแรงงานไทยก็ “ตกงาน” “ปัญหา” ต่างๆ ก็จะกลับมาซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง และต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีเพื่อฟื้นฟูอีกเป็นแน่…
“คำตอบ” ว่า “แรงงานไทย” จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือต่ำลง… คงต้องเป็นเรื่องที่น่าจับตามองกันต่อไป…
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่
Update 03-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่